คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5007/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยคดีมีประเด็นว่าจำเลยได้ปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขายและมีหน้าที่จะต้องชำระค่าซื้อเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์การผลิตซอสน้ำจิ้มไก่และชำระค่าซอสน้ำจิ้มไก่ที่สั่งซื้อจากโจทก์ให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด การที่จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์และ ต. ได้ร่วมทุนกับ ค.ในบริษัทจำเลยแล้วโจทก์ลักลอบน้ำเอาซอสน้ำจิ้มไก่ไปขายให้แก่บริษัท ข. ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและโจทก์กับคนของโจทก์ที่เป็นกรรมการของจำเลยได้สั่งให้พนักงานของจำเลยจ่ายเงินให้โจทก์โดยไม่ชอบ รวมทั้งโจทก์และคนของโจทก์ได้เบิกเงินทดรองจ่ายโดยไม่เป็นความจริงทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหายให้จำเลย เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่าโจทก์ผิดสัญญาร่วมลงทุนและละเมิดและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์อันเกิดจากมูลละเมิด ซึ่งเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2532 บริษัทวาโก ฟู้ดส์จำกัด บริษัทโตเกียว คิวโฮ จำกัด และโจทก์ได้ตกลงร่วมลงทุนในบริษัทจำเลย ในการผลิตไก่ย่างเพื่อจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นในการนี้โจทก์จะต้องรับผิดชอบในด้านการผลิตและขายน้ำจิ้มไก่ให้แก่จำเลย และบริษัทวาโก ฟู้ดส์ จำกัด กับโจทก์ได้ซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตน้ำจิ้มไก่ เป็นเงิน 8,000,000เยน และได้ส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าวมายังโรงงานจำเลยแล้ว ตั้งแต่ปี 2532 โจทก์ได้จัดส่งน้ำจิ้มไก่ให้แก่จำเลยตามที่ได้ตกลงกัน โดยในเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน 2535จำเลยได้สั่งซื้อน้ำจิ้มไก่จากโจทก์และโจทก์ได้ส่งมอบน้ำจิ้มไก่ให้แก่จำเลยเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,334,843 บาท และ 2,508,744 บาทตามลำดับรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,843,587 บาท จำเลยไม่ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกัน ต่อมาในเดือนมกราคม 2537 โจทก์และจำเลยได้ประชุมกันหารือเพื่อหาข้อยุติในประเด็นพิพาทที่ยังตกลงกันไม่ได้โดยโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ เป็นเงิน 4,843,587 บาท เป็นค่าน้ำจิ้มไก่นอกจากนี้จำเลยตกลงที่จะรับซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์จากโจทก์เป็นเงิน 5,000,000 เยน โจทก์ได้ทวงถามจำเลยหลายครั้งแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าน้ำจิ้มไก่จำนวน 4,843,587 บาท และชำระค่าเสียเครื่องจักรและอุปกรณ์จำนวน 5,000,000 เยน หรือเท่ากับเงินไทยจำนวน 1,250,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,093,587 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า บริษัทโจทก์ และโตเกียว คิว โฮ คาบูชิคิ ไคฉะ ได้ตกลงร่วมลงทุนกับคาบูชิคิ ไคฉะ วาโก ฟูซี ในบริษัทจำเลยโดยลงทุนบริษัทละหนึ่งล้านบาท ทั้งนี้โดยบริษัททั้งสามจะเป็นผู้จัดการจำหน่ายสินค้าไก่ย่าง และสินค้าอื่น ๆ ที่จำเลยจะผลิตขึ้น และส่งไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นโดยจะไม่ทำการต่อสู้กันในทางการค้าในระหว่างกัน สำหรับด้านการบริหารนั้น คาบูชิคิ ไคฉะ วาโ ฟูซีจะส่งคนมาดูแลรับผิดชอบในการบริหารทั่วไปและการผลิตไก่ย่างด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง ส่วนโจทก์ก็ต้องให้คนของโจทก์(ซึ่งจะได้เป็นกรรมการของบริษัท) คนหนึ่งเข้ามาดูแลและรับผิดชอบในการผลิตซอสปรุงรสไก่ย่างให้แก่จำเลยด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์เองนอกจากนี้ยังมีข้อตกลงที่จะไม่นำความรู้ที่ได้มาจากการผลิตไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น และข้อตกลงที่กำหนดมิให้โจทก์นำซอสปรุงรสที่ใช้ส่วนประกอบและผลิตโดยวิธีการเดียวกันไปขายให้แก่บุคคลอื่นจำเลยได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาโรงงานตั้งแต่ปลายปี 2532เป็นต้นมา จนถึงเดือนพฤษภาคม 2533 จำเลยจึงได้ทำการผลิตซอสปรุงรสไก่ย่างและไก่ย่างราดซอสอย่างเต็มรูปแบบครบวงจรในเดือนพฤษภาคม 2533 นี้เอง ทั้งนี้โดยได้รับความช่วยเหลือจากคาบู ชิคิ ไคฉะ วาโก ฟูซี และโจทก์ตามที่ได้ตกลงกันต่อมาในเดือนมีนาคม 2535 จำเลยได้ตรวจสอบพบว่าโจทก์และคนของโจทก์ได้ทำการลักลอบเอาซอสปรุงรสที่ผลิตได้ในโรงงานของจำเลยไปขายแก่บุคคลอื่น จนในที่สุดโจทก์และคนของโจทก์ก็ได้หยุดการผลิตและเป็นเหตุให้จำเลยต้องปิดโรงงานของจำเลยเองต่อมาโจทก์กับจำเลยได้ทำความตกลงเพื่อเปิดโรงงานของจำเลยใหม่โดยโจทก์ตกลงที่จะชำระค่าเสียหายจำนวน 40 ล้านเยนให้แก่จำเลยโจทก์และคนของโจทก์จึงกลับเข้ามาทำงานการผลิตให้จำเลยต่อไปแต่ก็ทำการผลิตซอสปรุงรสไก่ย่างจนถึงปลายเดือนกันยายน 2535โจทก์และคนของโจทก์ก็ได้หยุดการผลิตและขนย้ายออกจากโรงงานไปทำการผลิตซอสปรุงรสให้แก่บริษัทที่ได้ซื้อซอสจากโจทก์และคนของโจทก์ จากการที่โจทก์และคนของโจทก์ได้ลักลอบเอาซอสปรุงรสไก่ย่างของจำเลยไปขายให้แก่บริษัทอื่นตั้งแต่เดือนมกราคม 2535 เป็นต้นมาจนถึงเดือนมิถุนายน 2535 ถือว่าเป็นการผิดสัญญาข้อตกลงพื้นฐานการร่วมลงทุนและบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับบริษัทจำเลยได้ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่คาบูชิคิ ไคฉะ โคจิมายา บริษัทลูกค้าของจำเลยเพราะต้องสูญเสียลูกค้าไปรายหนึ่ง ทำให้ต้องรับผิดความเสียหาย จำนวน 24,332,625เยน โจทก์ได้ยอมรับที่จะจัดการเรื่องการปรับค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว แต่เนื่องจากโจทก์เพิกเฉยไม่ยอมชำระเงินค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว โจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 24,332,625 เยน หรือเท่ากับเงินไทย จำนวน 4,866,525บาท ให้แก่จำเลย ส่วนการที่โจทก์และคนของโจทก์ได้ลักลอบเอาซอสปรุงรสที่ผลิตในโรงงานของจำเลยไปขายให้แก่บุคคลอื่นตั้งแต่เดือนมกราคม 2535 จนถึงเดือนมิถุนายน 2535 รวมเป็นเงินจำนวน 3,566,000 บาท โจทก์และคนของโจทก์ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะที่เป็นกรรมการของจำเลยสั่งให้พนักงานของจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์และคนของโจทก์และได้มีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพนักงานจำเลยจำเลยไม่เคยตกลงที่จะให้โจทก์มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวแต่ผู้เดียว การแบ่งผลกำไรและขาดทุนในระหว่างจำเลยกับโจทก์จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวไว้ และต้องคืนให้แก่จำเลยโจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวน 3,566,000 บาท สำหรับเรื่องการบัญชี จำเลยก็ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาพื้นฐานการร่วมลงทุน โดยได้แยกการจัดทำบัญชีออกเป็น 2 แผนกหลักและใช้หลักการบัญชีแยกผลกำไรแต่ละแผนกกล่าวคือ แผนกบี-1จะรับผิดชอบเกี่ยวกับแผนกบริหาร ส่วนกลางและผลิตไก่ย่างราดซอสและแผนก บี-2 จะรับผิดชอบเกี่ยวกับแผนผลิตซอสปรุงรสไก่ย่างโดยแต่ละแผนกจะต้องจัดทำบัญชีในส่วนแผนกของตนเองและในการจัดทำงบการเงินของจำเลยตอนสิ้นงวดปีบัญชีแผนก บี-2 ก็จะต้องส่งบัญชีและงบการเงินพร้อมกับเอกสารที่เกี่ยวข้องกันแผนก บี-2มาให้แก่แผนก บี-1 เพื่อมาทำงบการเงินประจำปีของจำเลยและการเบิกเงินทดรองจ่ายของแผนกบี-2 จากแผนก บี-1 เพื่อนำไปใช้จ่ายสำหรับการผลิตซอสปรุงรสไก่ย่าง แผนก บี-2 จะต้องทำรายงานค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการผลิตซอสปรุงรสไก่ย่าง พร้อมกับนำส่งเอกสารสำคัญเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายนั้น ๆ มาให้แก่แผนก บี-1เพื่อทำการเบิกเงินทดรองค่าใช้จ่ายในคราวต่อ ๆ ไปและเมื่อแผนก บี-1 ได้ทำการตรวจสอบและเห็นชอบกับรายงานค่าใช้จ่ายและเอกสารประกอบแล้วแผนก บี-1 ก็จะทำการจ่ายเงินทดรองให้แก่แผนก บี-2 แต่ในทางปฏิบัติ โจทก์และคนของโจทก์ไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงดังกล่าวและถือวิสาสะกำหนดมูลค่าของซอสปรุงรสไก่ย่างที่ผลิตได้ในโรงงานของจำเลยขึ้นเองโดยไม่มีการจัดส่งรายงานค่าใช้จ่ายและเอกสารประกอบ ซึ่งจำเลยได้หลงเชื่อว่ารายการต่าง ๆรวมทั้งมูลค่าของซอสปรุงรสไก่ย่างเป็นความจริง ถูกต้องตามที่แจ้งมาทุกประการจำเลยจึงได้จ่ายเงินทดรองจ่ายให้แก่แผนก บี-2ตามที่ขอเบิกมา แต่ต่อมาเมื่อปลายเดือนกันยายน 2535 โจทก์และคนของโจทก์ได้หยุดการผลิตและขนย้ายออกจากโรงงานจำเลยเพื่อไปผลิตซอสปรุงรสไก่ย่างให้แก่บริษัทอื่น ซึ่งทำให้จำเลยต้องเดือดร้อนวิ่งเต้นหาผู้มาผลิตและส่งซอสปรุงรสไก่ย่างให้แก่จำเลยในที่สุดจำเลยก็สามารถดำเนินการได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้นแต่โจทก์และคนของโจทก์กลับไม่สำนึกในการกระทำที่ทำให้จำเลยต้องเสียหาย โจทก์กลับมาทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าซอสปรุงรสไก่ย่างที่ผลิต และส่งมอบให้แก่จำเลยในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2535 ด้วยหลักเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดมูลค่าซอสปรุงรสเองแต่โจทก์ก็ยังไม่ได้ชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเอาซอสปรุงรสไก่ย่างไปขาย จนเป็นเหตุให้จำเลย และคาบูชิคิ ไคฉะ โคจิมายา เสียหาย จำนวน 24,332,625 เยนโจทก์กับจำเลยจึงได้มาเจรจากันเรื่อยมา แต่ก็ไม่อาจจะหาข้อยุติกันได้จนกระทั่งในเดือนมกราคม 2537 ก็ได้มีการเจรจากันอีกครั้งซึ่งผลปรากฏว่าไม่อาจจะตกลงกันได้ จำเลยจึงได้ทำการตรวจสอบบัญชีภายในเกี่ยวกับกิจการของแผนก บี-2 ตามเอกสารที่มีอยู่ใหม่ทั้งหมด จำเลยจึงพบว่าโจทก์และคนของโจทก์ได้ทำการเบิกเงินทดรองจ่ายไม่ได้เป็นไปตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจริงกล่าวคือ ในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2533 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2535โจทก์และคนของโจทก์เบิกเงินทดรองจากแผนก บี-1 ไปเป็นเงิน26,547,787.50 บาท ซึ่งโจทก์จะต้องใช้คืนเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลยขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 4,866,525 บาทชดใช้เงินที่เบิกจากจำเลยอันเนื่องจากการขายซอสปรุงรสจำนวน3,566,000 บาท และคืนเงินทดรองจ่ายที่โจทก์และคนของโจทก์ได้เบิกจากจำเลยไปเป็นเงินจำนวน 17,793,112.50 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26,225,637.50 บาท แก่จำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากยอดเงินจำนวน26,225,637.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การจำเลย ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รับฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยคดีมีประเด็นว่า จำเลยได้ปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขายและมีหน้าที่จะต้องชำระค่าซื้อเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์การผลิตซอสน้ำจิ้มไก่และชำระค่าซอสน้ำจิ้มไก่ที่สั่งซื้อจากโจทก์ให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด การที่จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์และโตเกียว คิวโฮ คาบูชิคิ ไคฉะ ได้ร่วมทุนกับคาบูชิคิ ไคฉะ วาโก ฟูซี ในบริษัทจำเลยแล้วโจทก์ลักลอบนำเอาซอสน้ำจิ้มไก่ไปขายให้แก่บริษัท ซี.พี.ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัดทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและโจทก์กับคนของโจทก์ที่เป็นกรรมการของจำเลยได้สั่งให้พนักงานของจำเลยจ่ายเงินให้โจทก์โดยไม่ชอบ รวมทั้งโจทก์และคนของโจทก์ได้เบิกเงินทดรองจ่ายโดยไม่เป็นความจริงทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหายให้จำเลย จะเห็นได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่า โจทก์ผิดสัญญาร่วมลงทุนและละเมิดและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์อันเกิดจากมูลละเมิดซึ่งเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสามที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share