แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง และได้มีคำสั่งให้ประกาศนัดไต่สวนทางหนังสือพิมพ์และให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน หากประสงค์จะคัดค้านประการใดให้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายในวันนัดไต่สวนคำร้อง แต่ก็ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้าน จนศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งไปแล้วต่อมาผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถึงแม้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องเพราะเห็นว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีของผู้ร้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188(4) บัญญัติให้ถือว่าบุคคลเช่นนั้นเป็นคู่ความผู้คัดค้านจึงเป็นคู่ความผู้มีส่วนได้เสียในคดีมีสิทธิอุทธรณ์และขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดที่ดินโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ที่ดินมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้อง ย่อมถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิผู้คัดค้านจึงชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้าไปในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดีจึงสามารถพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ร้องคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ผูกพันผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) โดยไม่ต้องให้ผู้คัดค้านไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องของผู้คัดค้านไว้เพื่อวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านในชั้นบังคับคดี
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินตามโฉนดที่ 9313, 9314 และ 9315 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา รวม 3 แปลง เป็นเวลา 30 ปีเศษ ติดต่อกันโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ขอให้มีคำสั่งแสดงว่าที่ดินทั้ง3 แปลงดังกล่าวข้างต้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินตามโฉนดที่ 9313, 9314 และ 9315ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 3182
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ทั้ง 3 แปลงผู้ร้องปกปิดไม่ให้ผู้คัดค้านทราบการยื่นคำร้องขอ และวันนัดไต่สวน ทำให้ผู้คัดค้านไม่มีโอกาสมาคัดค้าน ผู้คัดค้านเพิ่งทราบเรื่องนี้เมื่อผู้ร้องไปขอจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจบังคับได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนและพิจารณาคดีนี้ใหม่ กับให้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานทะเบียนที่ดินจังหวัดนครราชสีมาระงับการจดทะเบียนให้ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอก ชอบที่จะฟ้องผู้ร้องเป็นคดีใหม่ ให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านมิใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดี ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ไว้ไม่ชอบ พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์และขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือไม่เห็นว่า ในชั้นที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องและนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องนั้นศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ประกาศนัดไต่สวนทางหนังสือพิมพ์และให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน หากประสงค์จะคัดค้านประการใด ให้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายในวันนัดไต่สวนคำร้อง แต่ก็ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้านจนศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งไปเมื่อ วันที่ 27 ธันวาคม 2533ครั้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2534 ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถึงแม้ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องเพราะเห็นว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกก็ตามแต่เมื่อผู้คัดค้านได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีของผู้ร้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4) บัญญัติให้ถือว่าบุคคลเช่นว่านั้นเป็นคู่ความ ผู้คัดค้านจึงเป็นคู่ความผู้มีส่วนได้เสียในคดีมีสิทธิอุทธรณ์และขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์และขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยคดีนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้คัดค้านขยายเวลายื่นอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไว้แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไปพร้อมกับฎีกาของผู้คัดค้านเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอีกพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านจะร้องขอเข้ามาในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 9313, 9314และ 9315 โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ที่ดินทั้งสามแปลงนี้มีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าที่ดินทั้งสามแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครอง การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้อง ย่อมถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิ ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) กรณีนี้ผู้คัดค้านซึ่งไม่ได้ร้องคัดค้านเข้าไปในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดีจึงสามารถพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ร้องคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ผูกพันผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) โดยไม่ต้องให้ผู้คัดค้านไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับคำร้องของผู้คัดค้านไว้เพื่อวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านในชั้นบังคับคดีให้ตามรูปคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องของผู้คัดค้านและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้รับคำร้องของผู้คัดค้านไว้ไต่สวนต่อไป แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามรูปคดี