คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6990/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า วันที่ 23 ธันวาคม 2532 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ว่า “อย่างไรก็ตาม ได้รับเอกสารสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ส.ส.พรรครัฐบาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปประเทศญี่ปุ่น 4 คน คือ นายไชยยศ จิรเมธากร (โจทก์)ส.ส. อุดรธานี นายสุรชาติ ชำนาญศิลป์ ส.ส. อุดรธานี นายอุดร ทองน้อย ส.ส.ยโสธร และนายประณต เสริฐวิชา ส.ส. ร้อยเอ็ด ทั้ง 4 คน เป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ตนมีหลักฐานต่าง ๆ พร้อมแล้ว และพร้อมที่จะไปพิสูจน์กันในศาล หากต้องการ” โดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะให้หนังสือพิมพ์ลงพิมพ์ข้อความที่จำเลยที่ 1ให้สัมภาษณ์เพื่อเผยแพร่ต่อประชาชนทั่วไป ข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรมว่า โจทก์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่บ่งชี้ว่า โจทก์ได้ร่วมกับผู้มีชื่อหลอกลวงคนงานให้ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นอันแสดงว่าโจทก์เป็นบุคคลทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือไม่เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ประการใด ทั้งไม่อาจเข้าใจได้ว่า โจทก์มีส่วนร่วมในการฉ้อโกงแรงงานดังกล่าว ข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์นั้นยังไม่ถือว่าเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง
จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ว่า โจทก์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปประเทศญี่ปุ่น และจำเลยที่ 2 นำข้อความที่จำเลยที่ 1ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ โดยพาดหัวข่าวว่า “แฉ 4 ส.ส. ประชาธิปัตย์พัวพันตุ๋นคนงานไปประเทศญี่ปุ่น” ซึ่งข้อความที่พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ที่จำเลยที่ 2นำไปลงพิมพ์นั้น ไม่ตรงกับข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ ทั้งเนื้อข่าวที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็ตีพิมพ์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์ว่า มีหลักฐานว่าโจทก์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งคนงานไปประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น จำเลยที่ 2มิได้อ้างข้อความจริงใดเลยในการแสดงความคิดเห็นในการพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์เช่นนั้น และข้อความที่จำเลยที่ 2 ลงพิมพ์พาดหัวข่าวก็เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ทุกคนเชื่อว่า โจทก์มีส่วนร่วมทุจริตฉ้อโกงแรงงานราษฎร ไม่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 328
ศาลล่างทั้งสองให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์โดยไม่ได้ระบุว่าให้โฆษณาคำพิพากษาในลักษณะใด ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ชัดแจ้ง และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกา และจำเลยที่ 4ที่มิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 213 และมาตรา 225

Share