คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2563

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ผ่านการว่าความมาเป็นจำนวนมาก ย่อมคุ้นเคยกับการซักถามพยานในรูปแบบต่าง ๆ เป็นอย่างดี ข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกการถอดเทปสนทนาระหว่างจำเลยกับ ภ. ว่า ภ. พยายามขอร้องให้จำเลยช่วยเหลือ อ. เพื่อมิให้ถูกดำเนินคดี ซึ่งจำเลยก็มิได้ปฏิเสธ เพียงแต่รอให้ ภ. เสนอจำนวนเงิน และเมื่อ ภ. ซักถาม จำเลยยังพูดอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีแก่ อ. เพื่อโน้มน้าวให้ ภ. เห็นว่าข้อหานำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรมีอัตราโทษสูง ส่อแสดงว่าจำเลยตอบคำถามของ ภ. ด้วยความสมัครใจ แม้การแอบบันทึกภาพและเสียงการสนทนาระหว่างจำเลยกับ ภ. ตามแผ่นซีดีหมาย วจ.1 และ วจ.2 จะเป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 ก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 บัญญัติให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าการรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ดังนั้น แม้แผ่นซีดีหมาย วจ.1 และ วจ.2 รวมทั้งบันทึกการถอดเทปสนทนาดังกล่าวจะได้มาโดยมิชอบ ศาลก็นำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
แม้ขณะเกิดเหตุ ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 จะยังไม่ประกาศใช้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติและมีผลใช้บังคับทันทีนับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ คือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 กรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง ศาลมีอำนาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 201
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม), 201 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นพนักงานอัยการเรียก รับทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 201 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด ตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรม สำนักงานอัยการเขต 3 (ปัจจุบันสำนักงานอัยการภาค 3) ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการ รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดสุรินทร์ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานคดีในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการในท้องที่จังหวัดสุรินทร์ ดำเนินคดีและฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลชั้นต้น รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องในฐานะพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2550 เจ้าพนักงานสถานีตำรวจภูธรปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกันจับกุมนายอาทิตย์ พร้อมแจ้งข้อหานำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับเสพเมทแอมเฟตามีน ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรปราสาท ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวนายอาทิตย์ไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดสุรินทร์ โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้อง จำเลยเป็นเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าวในชั้นการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ วันที่ 2, 4 และ 14 ธันวาคม 2550 จำเลยเดินทางไปที่บ้านของนายอภิศักดิ์ บิดานายอาทิตย์ ผู้ต้องหา แพทย์หญิงภาวนา ภริยานายอภิศักดิ์เป็นผู้บันทึกภาพและเสียงการสนทนาของจำเลยตามแผ่นซีดีหมาย วจ.1 และ วจ.2 กับเป็นผู้ถอดเทปการสนทนาดังกล่าว เสียงผู้ชายที่พูดในแผ่นซีดีหมาย จว.1 แผ่นที่ 1, 2, 6, 8 และแผ่นที่ 10 (วจ.2 แผ่นที่ 1) เป็นเสียงของจำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน ไม่มีหน้าที่ต้องเดินทางไปที่บ้านของนายอภิศักดิ์ บิดานายอาทิตย์ผู้ต้องหาเพื่ออธิบายข้อกฎหมายและขั้นตอนการดำเนินคดีให้ผู้ต้องหาและญาติผู้ต้องหาทราบ อีกทั้งการที่จำเลยเดินทางไปที่บ้านของนายอภิศักดิ์ที่จังหวัดบุรีรัมย์ถึง 3 ครั้ง ขณะที่จำเลยรับราชการอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ โดยนำสำนวนการสอบสวนและหนังสือที่จะแจ้งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมไปแสดงแก่ฝ่ายแพทย์หญิงภาวนาด้วยนั้น นับเป็นข้อพิรุธผิดปกติวิสัยของพนักงานอัยการที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จะไม่กระทำเช่นนั้น แต่กลับส่อพฤติกรรมให้เชื่อว่าไปติดต่อให้ฝ่ายผู้ต้องหาวิ่งเต้นล้มคดีกับจำเลยเสียมากกว่า ข้อกล่าวอ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
ที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า จำเลยเป็นเจ้าของสำนวนยังไม่ได้มีความเห็นทางคดีว่าจะสั่งคดีประการใด แพทย์หญิงภาวนาจึงวางแผนให้จำเลยถูกย้ายเพื่อไม่ให้จำเลยมีอำนาจในการสั่งคดีของนายอาทิตย์ โดยทำการบันทึกภาพและเสียงของจำเลย นั้น ปรากฏตามบันทึกถอดเทปการสนทนาว่าแพทย์หญิงภาวนาพยายามขอร้องให้จำเลยช่วยเหลือนายอาทิตย์เนื่องจากนายอาทิตย์ไม่ได้นำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งจำเลยก็มิได้ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือเพียงแต่รอให้ทางฝ่ายแพทย์หญิงภาวนาเสนอจำนวนเงินเท่านั้น เช่นนี้ ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่แพทย์หญิงภาวนาจะวางแผนกลั่นแกล้งจำเลยให้ถูกย้ายจากตำแหน่งอัยการจังหวัดสุรินทร์เพราะบุคคลที่จะเสียประโยชน์ทางคดี เป็นนายอาทิตย์ผู้ต้องหาเอง
ที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า การบันทึกภาพและเสียงการสนทนา เป็นการหลอกลวงให้จำเลยตอบคำถาม ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ไม่อาจรับฟังพยานหลักฐานแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงการสนทนา ตลอดจนบันทึกถอดเทปการสนทนามาลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานอัยการผ่านการว่าความในคดีต่าง ๆ เป็นจำนวนมากกว่าจะได้ดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดสุรินทร์ จำเลยย่อมคุ้นเคยกับการซักถามพยานในรูปแบบต่าง ๆ เป็นอย่างดี กอปรกับตามบันทึกถอดเทปการสนทนา แพทย์หญิงภาวนาก็ใช้คำถามในลักษณะปกติไม่อาจอยู่ในวิสัยที่จะหลอกลวงจำเลยที่มากประสบการณ์ในทางคดีได้ ตรงกันข้ามจำเลยกลับพูดอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อพยายามโน้มน้าวให้เห็นว่าข้อหานำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษถึงประหารชีวิต และการให้จำเลยสั่งไม่ฟ้องนายอาทิตย์ในข้อหาดังกล่าวเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยไม่ต้องไปเสี่ยงในการต่อสู้คดีชั้นศาล ส่อแสดงว่าจำเลยตอบคำถามของแพทย์หญิงภาวนาด้วยความสมัครใจ แม้การแอบบันทึกภาพและเสียงการสนทนาระหว่างจำเลยกับฝ่ายแพทย์หญิงภาวนาตามแผ่นซีดีหมาย วจ.1 และ วจ.2 เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าการรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ดังนั้น แผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงการสนทนาตามหมาย วจ.1 และ วจ.2 รวมทั้งบันทึกการถอดเทปดังกล่าวแม้จะได้มาไม่ชอบ แต่เมื่อศาลนำมาฟังจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ศาลจึงนำพยานหลักฐานข้างต้นมารับฟังได้ หาเป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญตามที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 หลังเกิดเหตุคดีนี้ จึงนำมาใช้แก่จำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติและมีผลใช้บังคับทันทีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ คือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 กรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง ศาลจึงมีอำนาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้
ที่จำเลยฎีกาประการต่อไปอีกว่า แผ่นซีดีหมาย วจ.1 และ วจ.2 มีการตัดต่อ เติมแต่งขึ้นใหม่ เป็นบทสนทนาที่ไม่ครบถ้วนถูกต้องนั้น ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของว่าที่ร้อยตำรวจเอกธัญญสิทธิ์ เจ้าพนักงานกลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง พยานจำเลยเบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ว่า แผ่นซีดีหมาย วจ.1 แผ่นที่ 1, ที่ 2, ที่ 4, ที่ 6 และแผ่นที่ 10 ไม่พบการตัดต่อ พยานโจทก์ปากนี้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ไม่มีข้อน่าระแวงว่าจะเบิกความหรือจัดทำรายงานการตรวจพิสูจน์ให้ผิดไปจากความเป็นจริง คำเบิกความของพยานจึงมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง เมื่อพิจารณาเนื้อหาจากบันทึกการถอดเทป ได้ความว่า จำเลยแจ้งให้ฝ่ายแพทย์หญิงภาวนาทราบว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งไม่ฟ้องนายอาทิตย์ข้อหานำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเงิน 9,000,000 บาท โดยจำเลยจะทำการตกแต่งสำนวนการสอบสวนใหม่ด้วยวิธีสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามข้อเท็จจริงที่จำเลยต้องการ พร้อมกับจำเลยจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อจำเลยจะสั่งไม่ฟ้องนายอาทิตย์ในข้อหาดังกล่าว อันเป็นการที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ของจำเลย ทั้งยังเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานอัยการสูงสุดและนายอาทิตย์ กับเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นอัยการจังหวัดสุรินทร์ พึงต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตให้สมกับที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นทนายความของแผ่นดิน แต่จำเลยกลับอาศัยตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ยิ่งกว่านั้นข้อเท็จจริงตามบันทึกการจดเทปสนทนาเชื่อได้ว่า จำเลยมิได้กระทำการเช่นนี้เป็นครั้งแรก เนื่องจากจำเลยยกตัวอย่างคดีอื่นที่จำเลยเคยสั่งไม่ฟ้องมาแล้วโดยฝ่ายผู้ต้องหาจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทน จึงสมควรลงโทษเพื่อมิให้เจ้าพนักงานอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 10 ปี นั้น เหมาะสมแล้ว และเมื่อจำเลยต้องโทษจำคุกเกินกว่าห้าปี กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share