คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6954/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การเสียค่าขึ้นศาลจะต้องเสียในเวลาที่ยื่นฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 ประกอบตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ก็ตาม แต่ตามมาตรา 150 วรรคห้า บัญญัติว่า ในกรณีที่บุคคลซึ่งเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ต่างยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาแยกกัน โดยต่างได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาตามความในวรรคสอง หากค่าขึ้นศาลดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าขึ้นศาลที่คู่ความเหล่านั้นต้องชำระในกรณีที่ยื่นอุทธรณ์หรือฎีการ่วมกัน ให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี มีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่คู่ความเหล่านั้นตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่คู่ความแต่ละคนได้ชำระไปในเวลาที่ศาลนั้นมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง เช่นนี้เมื่อมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 5 ได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาครบถ้วนแล้ว จึงมีผลต่อจำเลยที่ 5 ด้วย จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาอีก ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 5 วางค่าธรรมเนียมศาลในส่วนของตน จึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสิบเอ็ดและจำเลยร่วมทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยคนละ 5,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 400,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ฎีกา โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 ยื่นฎีกามาในฉบับเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 5 ยื่นฎีกาแต่ผู้เดียวพร้อมกับยื่นคำแถลงว่า เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมศาล ค่าขึ้นศาล และค่าทนายความแล้ว จำเลยที่ 5 จึงของดการชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าขึ้นศาล และค่าทนายความ โดยขอถือเอาค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 วางไว้ต่อศาลเป็นค่าธรรมเนียมศาล ค่าขึ้นศาล และค่าทนายความในส่วนที่จำเลยที่ 5 ต้องวางต่อศาลด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับคำแถลงของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวว่า ให้จำเลยที่ 5 วางค่าธรรมเนียมศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ (วันที่ 21 ตุลาคม 2559) หากไม่ชำระถือว่าไม่ติดใจฎีกา
ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2559 จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งให้จำเลยที่ 5 วางค่าธรรมเนียมศาลในส่วนของจำเลยที่ 5 เนื่องจากเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลที่ซ้ำซ้อน และมีคำสั่งใหม่เป็นว่าอนุญาตให้จำเลยที่ 5 ยื่นฎีกาโดยไม่ต้องวางค่าธรรมเนียมศาลซ้ำซ้อนกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 อีก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวว่า กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่น ให้ยกคำร้อง
ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 จำเลยที่ 5 ยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาลเพื่อการยื่นฎีกา
ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้จำเลยที่ 5 วางค่าธรรมเนียมศาล และขอค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาคืน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ว่า จำเลยที่ 5 ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาหรือไม่ โดยจำเลยที่ 5 ฎีกาว่า ค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 จะต้องวางศาลเมื่อยื่นฎีกานั้นเป็นหนี้ร่วมกัน เมื่อข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 เป็นคดีที่มีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมอันเป็นค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาไว้แล้วจำนวน 8,100 บาท จึงเป็นการชำระค่าขึ้นศาลครอบคลุมไปถึงจำเลยที่ 5 ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 5 ยื่นฎีกาต่อศาลแม้จะเป็นคนละฉบับกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 จำเลยที่ 5 ก็ไม่จำต้องชำระค่าขึ้นศาลอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคห้า ซึ่งปัญหาดังกล่าวในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 5 ได้อุทธรณ์ไว้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวกลับไปวินิจฉัยเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทน โดยให้จำเลยที่ 5 ต้องวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์มาพร้อมกับฎีกา ซึ่งจำเลยที่ 5 มิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก เห็นว่า แม้การเสียค่าขึ้นศาลจะต้องเสียในเวลาที่ยื่นฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 ประกอบตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งฎีกาของจำเลยที่ 5 เป็นคำฟ้องตามมาตรา 1 (3) ก็ตาม แต่ตามมาตรา 150 วรรคห้า บัญญัติว่า ในกรณีที่บุคคลซึ่งเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ต่างยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาแยกกัน โดยต่างได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาตามความในวรรคสอง หากค่าขึ้นศาลดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าขึ้นศาลที่คู่ความเหล่านั้นต้องชำระในกรณีที่ยื่นอุทธรณ์หรือฎีการ่วมกัน ให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี มีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่คู่ความเหล่านั้นตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่คู่ความแต่ละคนได้ชำระไปในเวลาที่ศาลนั้นมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง เช่นนี้เมื่อมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 5 ได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาครบถ้วนแล้ว จึงมีผลต่อจำเลยที่ 5 ด้วย จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาอีก ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 5 วางค่าธรรมเนียมศาลในส่วนของตน (ชำระค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา) จึงไม่ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 8,100 บาท แก่จำเลยที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share