แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 191 บัญญัติว่า “เมื่อเกิดความสงสัยในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้าบุคคลใดที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องขอต่อศาลซึ่งพิพากษาและสั่ง ให้ศาลนั้นอธิบายให้แจ่มแจ้ง” ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าคดีของจำเลยถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นหน้าที่ของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งเป็นศาลซึ่งพิพากษาที่ต้องอธิบายให้แจ่มแจ้ง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย หรืออธิบายอย่างไรแล้ว ก็ต้องยุติลงตามนั้น ส่วนที่จำเลยสงสัยเกี่ยวกับการบังคับโทษตามคำสั่งของเรือนจำบางขวางว่าขัดกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ นั้น คำสั่งของเรือนจำบางขวางดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลงโทษทางวินัยแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง หากจำเลยเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้อง ไม่ตรงหรือขัดกับคำพิพากษา หรือไม่เป็นธรรมอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องดำเนินการทางปกครองต่อไป ศาลฎีกาไม่มีอำนาจวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า ขณะต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง จำเลยนำเข้ามาหรือรับไว้หรือเก็บรักษาไว้ในเรือนจำซึ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่อันเป็นสิ่งของต้องห้าม โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 4, 6, 38, 45, 58 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 92 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายและนับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.10972/2544 ของศาลอาญา ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นอธิบายเหตุสงสัยเกี่ยวกับคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 191 เนื่องจากศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่เรือนจำกลางบางขวางกลับมีคำสั่งที่ 42/2556 ให้ลดชั้นนักโทษเด็ดขาดของจำเลยจากชั้นเยี่ยมลงเป็นชั้นเลวมาก ตัดวันลดวันต้องโทษจำคุกจำนวน 30 วัน โดยอาศัยเหตุที่จำเลยมีโทรศัพท์เคลื่อนที่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ว่า คำพิพากษาของศาลมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องอธิบายให้ทราบอีก ให้ยกคำร้อง
ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2561 จำเลยยื่นคำร้องขอติดตามทวงถามเหตุสงสัยตามคำพิพากษาและคำสั่งเรือนจำกลางบางขวางที่ขอให้ศาลอธิบาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 ว่า จำเลยถูกฟ้องในฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ดังนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ในคดีนี้ สำเนาแจ้งคำสั่งให้เรือนจำกลางบางขวาง จำเลยและโจทก์ทราบ
จำเลยได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2561 จากนั้นวันที่ 8 ตุลาคม 2561 จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 ว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้อธิบายว่าคำพิพากษาของศาลกับคำสั่งของเรือนจำกลางบางขวางที่ 42/2556 ขัดกันหรือไม่ ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งเกินระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย แจ้งจำเลยทราบ
จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิเคราะห์แล้ว ตามที่จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ต่อศาลชั้นต้นตามลำดับ ขอให้ศาลอธิบายคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนและคำร้องของจำเลยไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาสั่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องนั้นเสียเอง และสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2561 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่อาจรับวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยในกรณีเช่นนี้ได้ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว จึงเห็นสมควรมีคำสั่งให้เสร็จไปในคราวเดียว เห็นว่า เนื้อหาตามคำร้องของจำเลยไม่ใช่กรณีเมื่อจำเลยเกิดสงสัยในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลต้องอธิบายให้ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 191 แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่จำเลยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อธิบายว่าคำสั่งของเรือนจำกลางบางขวางซึ่งได้สั่งลงโทษจำเลย ขัดกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ ซึ่งไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องดังกล่าว ทั้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีรายละเอียดปรากฏไว้ชัดแจ้งแล้ว ไม่จำต้องอธิบาย แต่หากจำเลยเห็นว่าการที่ถูกลดชั้นและตัดวันลดโทษไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องดำเนินการทางปกครองต่อไป ยกคำร้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ แต่เรือนจำกลางบางขวางกลับมีคำสั่งให้ลดชั้นนักโทษเด็ดขาดของจำเลย ตัดวันลดวันต้องโทษ และตัดการอนุญาตให้รับการเยี่ยม โดยอาศัยเหตุที่จำเลยมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ คำสั่งของเรือนจำกลางบางขวางจึงขัดกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ยกฟ้องโจทก์ กรณีจึงมีเหตุสงสัยในการบังคับตามคำพิพากษาของศาล ขอให้ศาลฎีกาอธิบายให้แจ่มแจ้งเพื่อที่จำเลยจะนำผลคำวินิจฉัยไปยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 191 บัญญัติว่า “เมื่อเกิดความสงสัยในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้าบุคคลใดที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องขอต่อศาลซึ่งพิพากษาและสั่ง ให้ศาลนั้นอธิบายให้แจ่มแจ้ง” ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า คดีของจำเลยถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นหน้าที่ของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งเป็นศาลซึ่งพิพากษาที่ต้องอธิบายให้แจ่มแจ้ง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยหรืออธิบายอย่างไรแล้ว ก็ต้องยุติลงตามนั้น ส่วนที่จำเลยสงสัยเกี่ยวกับการบังคับโทษตามคำสั่งของเรือนจำกลางบางขวางว่าขัดกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ นั้น คำสั่งของเรือนจำกลางบางขวางดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลงโทษทางวินัยแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง หากจำเลยเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้อง ไม่ตรงหรือขัดกับคำพิพากษา หรือไม่เป็นธรรมอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องดำเนินการทางปกครองต่อไป ศาลฎีกาไม่มีอำนาจวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย