คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7815/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 106 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีกำหนดโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 62, 106, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 6 ปี และปรับ 390,000 บาท ฐานร่วมกันมีอัลปราโซแลมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละหนึ่งในสาม ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุก 4 ปี และปรับ 260,000 บาท ฐานร่วมกันมีอัลปราโซแลมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 5 ปี 4 เดือน และปรับ 260,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี ได้แต่ไม่เกิน 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 5 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 260,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยเป็นมารดาของนายจักรภัทร พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่อาคารห้องพักข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารซึ่งอยู่ด้านหลังสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ห้องเลขที่ 2111/6 ที่เกิดเหตุ โดยห้องนอนของจำเลยและนายจักรภัทรอยู่ต่างหากแยกจากกัน ตามวันเวลาเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและนายจักรภัทรได้ที่ห้องเกิดเหตุ ตรวจค้นภายในห้องเกิดเหตุบริเวณห้องโถงพบกระเป๋าลายธงชาติวางอยู่บนชั้นวางหนังสือ ภายในกระเป๋าดังกล่าวยึดได้เมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 1 ถุง ตรวจค้นที่โต๊ะบริเวณห้องครัวยึดได้เมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 1 ถุง และชนิดเม็ด 5 เม็ด จากลิ้นชักโต๊ะดังกล่าว ตรวจค้นห้องนอนของจำเลยไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่เมื่อตรวจค้นห้องนอนของนายจักรภัทรมีโต๊ะวางคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ ตรวจค้นบนโต๊ะและในลิ้นชักยึดได้เมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 7 ถุง และอัลปราโซแลม 22 เม็ด รวมยึดได้เมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ชนิดเกล็ด 9 ถุง น้ำหนัก 3.330 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.182 กรัม ชนิดเม็ด 5 เม็ด น้ำหนัก 0.461 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.081 กรัม และอัลปราโซแลมอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 22 เม็ด น้ำหนัก 2.910 กรัม เป็นของกลาง แจ้งข้อกล่าวหาจำเลยและนายจักรภัทรว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันมีอัลปราโซแลมไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนนายจักรภัทรให้การรับสารภาพ และนายจักรภัทรถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวและสั่งริบของกลางทั้งหมดแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ อย.4476/2557 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกับนายจักรภัทรกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาสรุปความได้ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยแบ่งเป็น 2 ข้อหา คือ ตามฟ้องข้อ 1 ก. ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และตามฟ้องข้อ 1 ข. ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (อัลปราโซแลม) จำนวน 22 เม็ดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้วรับฟังได้ว่า จำเลยร่วมกับนายจักรภัทรซึ่งเป็นบุตรชายกระทำความผิดเต็มตามฟ้องทั้งข้อ 1 ก. และ ข. แต่ศาลอุทธรณ์กลับรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับนายจักรภัทรเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยศาลอุทธรณ์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกับนายจักรภัทรได้ร่วมกันครอบครองเมทแอมเฟตามีนและอัลปราโซแลมของกลางจำนวนดังกล่าวหรือไม่ จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยยกฟ้องโจทก์ในข้อหา 1 ก. บางส่วน และยกฟ้องโจทก์ในข้อ 1 ข. แต่โจทก์เห็นว่าคดีนี้โจทก์นำสืบพยานหลักฐานจนรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยแล้วว่า จำเลยมีพฤติการณ์ร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดกับนายจักรภัทร จนกระทั่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยเต็มตามฟ้อง และศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาลงโทษจำเลยบางส่วนฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว แม้ว่าในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุพบว่า เมทแอมเฟตามีนและอัลปราโซแลมของกลางแยกกันอยู่เป็น 3 ส่วน ด้วยกัน แต่การที่จะนำสืบให้เห็นว่าจำเลยรู้เห็นข้อเท็จจริงดังกล่าวหรือนำสืบให้ปรากฏว่าจำเลยร่วมกันซื้อแล้วนำมาแบ่งแยกเมทแอมเฟตามีนและอัลปราโซแลมดังกล่าวมาเก็บไว้ย่อมเป็นการยากที่จะนำประจักษ์พยานมายืนยันให้เห็นข้อเท็จจริงเช่นนั้น เนื่องจากผู้กระทำความผิดย่อมต้องกระทำด้วยความรัดกุมและเป็นความลับ การนำสืบให้เห็นเจตนาภายในใจของจำเลยจึงต้องอาศัยพฤติการณ์ของจำเลยและนายจักรภัทรเป็นสำคัญ ซึ่งคดีนี้โจทก์ก็ได้นำสืบให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยแล้วว่ามีส่วนร่วมในการจำหน่ายยาเสพติดร่วมกับนายจักรภัทรแล้ว ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานและรับฟังว่าจำเลยร่วมกันครอบครองเมทแอมเฟตามีนและอัลปราโซแลมของกลางทั้งหมดและพิพากษาลงโทษจำเลยเต็มตามฟ้องจึงสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และชอบด้วยเหตุผลแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยไม่เต็มตามคำฟ้อง เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าจำเลยร่วมกันครอบครองของกลางเฉพาะส่วน จึงไม่ชอบด้วยเหตุผลและไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตลอดจนขัดแย้งกับการรับฟังพยานหลักฐานซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีพันตำรวจตรี กอบศักดิ์ และจ่าสิบตำรวจ สมโพชน์ ผู้ร่วมจับกุมจำเลยและนายจักรภัทรมาเป็นพยานโจทก์เบิกความทำนองเดียวกันว่า ก่อนเกิดเหตุได้รับหนังสือร้องเรียนของประชาชนลงวันที่ 13 มิถุนายน 2557 ระบุว่ามีการลักลอบจำหน่ายยาเสพติดที่ห้องพักหมายเลข 2111/6 ซึ่งเป็นอาคารที่พักของข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร จึงได้ทำการสืบสวนโดยสังเกตดูที่ห้องพักดังกล่าวซึ่งสามารถมองเห็นได้จากห้องทำงานของพยานพบว่าในแต่ละวันมีกลุ่มวัยรุ่นเข้าออกห้องพักดังกล่าวบ่อยครั้ง ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2557 พยานทั้งสองกับพวกได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารไปทำการตรวจค้นห้องพักดังกล่าว พบจำเลยเปิดประตูห้องออกมา ส่วนนายจักรภัทรอยู่ภายในห้องนอนตนเอง เมื่อตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนลักษณะเป็นเกล็ดบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสแบบกดปิดจำนวน 7 ถุง วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (อัลปราโซแลม) ชนิดเม็ดกลมรีสีม่วง บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสแบบกดปิดจำนวน 22 เม็ด เครื่องชั่งดิจิทัลจำนวน 1 เครื่อง อุปกรณ์การเสพยาเสพติดให้โทษจำนวน 3 ชุด หลอดตัดปลายแหลมจำนวน 7 อัน ถุงพลาสติกใสแบบกดปิดจำนวน 15 ใบ โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อไอโฟน 4 หมายเลข 08 8995 xxxx ของจำเลย สมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของบัญชี สมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีชื่อนายจักรภัทรเป็นเจ้าของบัญชี นอกจากนี้ ยังพบกระเป๋าสะพายลายธงชาติภายในมีเมทแอมเฟตามีนลักษณะเป็นเกล็ดบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสแบบกดปิดถุงเล็กจำนวน 1 ถุง วางอยู่บนชั้นวางของในห้องโถงบริเวณประตูทางเข้าห้องพัก และพบเมทแอมเฟตามีนลักษณะเป็นเกล็ดบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกแบบกดปิดจำนวน 1 ถุง กับเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ดสีส้มกลมแบนบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกแบบกดปิดจำนวน 5 เม็ด ที่บริเวณโต๊ะเก็บของด้านหลังห้องพัก จึงยึดไว้พร้อมกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อซัมซุง หมายเลข 08 4384 xxxx ของจำเลยเป็นของกลางตามบันทึกการจับกุม บันทึกการตรวจค้นและบัญชีรายละเอียดสิ่งของแนบบันทึกการตรวจค้น จากการตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายจักรภัทร พบว่ามีการสนทนากับจำเลยผ่านโปรแกรมไลน์มีข้อความสอบถามเกี่ยวกับการสั่งซื้อยาเสพติด ซึ่งจำเลยกับนายจักรภัทรรับว่าเป็นข้อความที่ใช้สนทนากันจริง โดยลงลายมือชื่อรับรองไว้ เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาแก่จำเลยและนายจักรภัทรว่าร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (อัลปราโซแลม) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ชั้นจับกุมจำเลยและนายจักรภัทรให้การรับสารภาพโดยเขียนบันทึกคำรับสารภาพไว้ กับมีร้อยตำรวจโท วิรัตน์ พนักงานสอบสวนมาเบิกความเป็นพยานโจทก์สนับสนุนว่า วันเกิดเหตุได้รับมอบตัวจำเลยและนายจักรภัทรพร้อมของกลาง จึงได้ทำบัญชีของกลางคดีอาญา กับได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำบันทึกตรวจและแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ โดยได้สอบปากคำพันตำรวจตรี กอบศักดิ์และจ่าสิบตำรวจ สมโพชน์ไว้ตามบันทึกคำให้การ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากซึ่งเป็นผู้ร่วมกันจับกุมจำเลยและนายจักรภัทรคือพันตำรวจตรี กอบศักดิ์ กับจ่าสิบตำรวจ สมโพชน์เบิกความได้สอดคล้องกันนับตั้งแต่ได้รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนว่าที่ห้องพักเกิดเหตุมีการลักลอบจำหน่ายยาเสพติด จึงได้ทำการสืบสวนและเข้าตรวจค้นจนพบเมทแอมเฟตามีนและ อัลปราโซแลมกับของกลางรายการอื่นในห้องพักดังกล่าว ซึ่งเป็นอาคารพักอาศัยของข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร อันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่และเบิกความได้ตรงกับที่ได้ให้การไว้ต่อร้อยตำรวจโท วิรัตน์ พนักงานสอบสวน เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยหรือนายจักรภัทรผู้พักอาศัยในห้องเกิดเหตุหรือดาบตำรวจ จักรกฤษณ์ ผู้ครอบครองห้องพักที่เกิดเหตุมาก่อน คำเบิกความของพยานทั้งสองจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง เชื่อว่าพยานทั้งสองเบิกความไปตามความจริงที่เกิดขึ้น แม้นายจักรภัทรจะรับว่าเมทแอมเฟตามีนและอัลปราโซแลมของกลางที่พบเป็นของตน แต่ของกลางที่พบในห้องเกิดเหตุนอกจากจะพบในห้องนอนของนายจักรภัทรแล้วยังพบว่ามีบางส่วนอยู่ในกระเป๋าลายธงชาติที่วางอยู่บนชั้นวางของในห้องโถงบริเวณประตูทางเข้าห้องพักและที่โต๊ะในห้องครัว อันเป็นบริเวณที่จำเลยและนายจักรภัทรใช้ร่วมกันและไม่มีลักษณะปกปิดมิดชิด เชื่อว่าจำเลยซึ่งพักอาศัยอยู่ในห้องพักที่เกิดเหตุย่อมรู้ถึงการมีของกลางอยู่ในห้องที่เกิดเหตุด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับนายจักรภัทรมีไว้ในครอบครองเมทแอมเฟตามีนและอัลปราโซแลมของกลาง นอกจากนี้ เจ้าพนักงานตำรวจยังตรวจยึดได้โทรศัพท์เคลื่อนที่จากนายจักรภัทรและจำเลยเป็นของกลางตามบัญชีของกลางคดีอาญา ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับภาพถ่าย ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายจักรภัทรซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นข้อความที่สนทนากันทางโทรศัพท์กับนายจักรภัทรจริง และข้อความตามที่จำเลยและนายจักรภัทรสนทนากันผ่านโปรแกรมไลน์ดังกล่าวแล้ว น่าเชื่อว่าเป็นการติดต่อเกี่ยวกับการซื้อขายยาเสพติด โดยการชำระเงินโอนผ่านบัญชีธนาคารที่ถูกยึดไว้เป็นของกลาง ส่วนที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยแจ้งหมายเลขบัญชีธนาคารให้นายจักรภัทรเพื่อให้เพื่อนของนายจักรภัทรโอนชำระเงินยืม หรือเป็นการสนทนาที่นายจักรภัทรขอให้จำเลยส่งเอกสารการเรียนไปให้ หรือคนรักของนายจักรภัทรเป็นผู้นำโทรศัพท์ไปใช้นั้น เห็นว่า เป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน และยังขัดกันกับข้อความในเอกสารดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยรับฟังว่าจำเลยไม่ได้ร่วมกับนายจักรภัทรครอบครองเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดจำนวน 7 ถุง และอัลปราโซแลมจำนวน 22 เม็ด และได้พิพากษาลงโทษจำเลยตามคำฟ้องบางส่วนโดยไม่เต็มตามคำฟ้องทั้งหมด เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าจำเลยร่วมกับนายจักรภัทรครอบครองเฉพาะของกลางบางส่วนนั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 106 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีกำหนดโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ส่วนโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง, 140 วรรคหนึ่ง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share