คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า ‘ถ้าเจ้าของที่ดินประกอบการกสิกรรมด้วยตนเอง’ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 นั้นมุ่งประสงค์ยกเว้นให้แก่ผู้ที่ประกอบการกสิกรรมด้วยตนเอง จริง ๆ แม้ลงมือทำด้วยตนเองไม่ไหวต้องจ้างคนอื่นมาช่วย ทำบ้าง ก็ต้องอยู่ในความดูแลโดยใกล้ชิดของตนเองและเสี่ยงต่อการขาดทุน
กรณีที่เจ้าของที่ดินมิได้มีอาชีพในการทำนาโดยตรงและมีภูมิลำเนาอยู่คนละจังหวัดกับที่ดิน ได้มอบให้ผู้อื่นปกครองดูแลแทน ผู้ปกครองดูแลแทนทำสัญญาจ้างบุคคลอื่นทำนาของโจทก์อีกต่อหนึ่ง ดังนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเจ้าของที่ดินประกอบการกสิกรรมด้วยตนเอง

ย่อยาว

คดีทั้ง 3 สำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์แต่ละสำนวนฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่นาคนละแปลงเนื้อที่ 150 ไร่ 1 เศษ 5 ส่วน 10 วา, 162 ไร่ 46 เศษ 9 ส่วน 10 วา, 174 ไร่ 2 งาน 13 เศษ 9 ส่วน 10 วา ตามลำดับ โจทก์มอบให้นางสาวแย้ม จงรักเจ้าเป็นผู้ครอบครองดูแลจัดการทำผลประโยชน์และติดต่อกับทางราชการแทนด้วยการว่าจ้างให้คนรับจ้างทำนาให้โจทก์บ้าง ให้เช่าทำนาบ้าง

จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ประเมินภาษี เรียกเก็บเงินภาษีบำรุงท้องที่ที่ดิน จำเลยที่ 2 มีหน้าที่รับคำอุทธรณ์คำสั่งที่สั่งให้เจ้าของที่ดินเสียภาษีบำรุงท้องที่ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ประเมินภาษีสำหรับในปี พ.ศ. 2509 ในที่ดินนาของโจทก์เกินไป ต่อมา พ.ศ. 2510 โจทก์จ้างบุคคลหลายคน ทำนา พอถึงต้นปี พ.ศ. 2511 จำเลยที่ 1 ได้ประเมินภาษีที่ดินนาของโจทก์ตามอัตราเดิมซ้ำยังมีคำสั่งให้เสียภาษีที่ดินนาควบรวม 2 ปี คือ สำหรับ พ.ศ. 2510 และ พ.ศ. 2511 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไปยังจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์เสียภาษีบำรุงท้องที่ปีละ 4,087.50 บาท 4,415 บาท และ 4,742.29 บาท แล้วเรียกเก็บในอัตราปีละ 75 บาท 81 บาทและ 86.71 บาท ตามลำดับสำนวน และให้จำเลยที่ 1 คืนค่าภาษีที่เรียกเก็บเกินไปในปี พ.ศ. 2509 พร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อ พ.ศ. 2509 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่เอง เจ้าพนักงานของจำเลยได้ประเมินภาษีไปตามหลักเกณฑ์และอัตราซึ่งคณะกรรมการตีราคาปานกลาง ที่ดินในเขตเทศบาลกำหนดไว้ โจทก์ไม่ได้คัดค้าน และนำเงินมาชำระแล้ว โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องโดยมิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ สำหรับค่าภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2510 และพ.ศ. 2511 โจทก์ว่าได้จ้างให้ผู้อื่นทำนาและผู้แทนของโจทก์เป็นผู้ควบคุม ถือว่าโจทก์ทำเองซึ่งไม่ถูกต้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ประเมินค่าภาษีบำรุงท้องที่พิพาทมาหลายเดือนแล้ว โจทก์เพิ่งยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2511 เป็นเวลาเกิน 1 เดือน ขาดอายุความอุทธรณ์ คำอุทธรณ์ของโจทก์ว่าใน พ.ศ. 2509 ที่พิพาทได้ให้ผู้อื่นเช่า จึงไม่ได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการประเมินว่าที่พิพาทของโจทก์ติดอยู่ในเขตเทศบาลเพียงครึ่งเดียว ซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์อุทธรณ์เพียงว่า ได้เปลี่ยนแปลงที่พิพาทจากการให้ผู้อื่นเช่า เป็นว่าใน พ.ศ. 2510 และ พ.ศ. 2511 ได้ว่าจ้างผู้อื่นทำ ถือว่าเป็นการทำเอง ขอลดภาษี จำเลยที่ 2 เห็นว่า ไม่ได้ทำเอง จึงสั่งยกอุทธรณ์ของจำเลย

วันชี้สองสถาน โจทก์ทั้ง 3 สำนวนแถลงว่าไม่ติดใจโต้แย้งเกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. 2509 ขอให้พิจารณาเฉพาะเงินภาษีบำรุงท้องที่ ปี พ.ศ. 2510 และ 2511 เท่านั้น และคู่ความแถลงรับกันอีกว่า โจทก์ทั้ง 3 สำนวนมอบหมายให้นางสาวแย้ม จงรักเจ้า จัดการจ้างคนให้ทำนา โดยทำสัญญาจ้างแรงงานไว้ แล้วคู่ความตกลงกันขอให้ศาลชี้ขาดว่า ตามข้อเท็จจริงที่รับกันดังกล่าว ถือได้หรือไม่ว่าโจทก์ทำนาเอง หากฟังได้ว่าโจทก์ทำนาเอง จำเลยยอมให้โจทก์เสียภาษีบำรุงท้องที่ในอัตราไร่ละ 5 บาท หากถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำนาเอง โจทก์ยอมเสียภาษีบำรุงท้องที่ในเขตเทศบาลในอัตราไร่ละ 25 บาท ตามอัตราที่จำเลยแจ้งประเมินแล้วคู่ความไม่ติดใจสืบพยานต่อไป

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์จ้างให้ผู้อื่นทำนาให้โจทก์ โจทก์รับเอาผลที่ได้เป็นของโจทก์เอง และโจทก์คิดค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์ประกอบการกสิกรรมด้วยตนเอง จึงพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิที่จะเสียภาษีบำรุงท้องที่ให้แก่จำเลยเพียงไร่ละ 5 บาท ตามที่ท้ากัน

จำเลยทั้ง 3 สำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มิได้ประกอบการกสิกรรมด้วยตนเองพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2509 มาตรา 7 ได้กำหนดอัตราภาษีไว้ตายตัวตามส่วนของราคาปานกลางของที่ดิน แต่มีข้อยกเว้นไว้ในช่องหมายเหตุของบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า ถ้าเจ้าของที่ดินประกอบการกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกนั้นด้วยตนเอง ก็ให้เสียอย่างสูง ไม่เกินไร่ละ 5 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า กฎหมายนี้มีเจตนารมณ์เพื่อช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาที่ประกอบการทำไร่ทำนาด้วยตนเอง จึงต้องแปลคำ”ประกอบการด้วยตนเอง” ซึ่งเป็นข้อยกเว้นโดยเคร่งครัดว่ามุ่งประสงค์ยกเว้นให้แก่ผู้ที่ต้องประกอบการด้วยตนเองจริง ๆ แม้ลงมือทำนาด้วยตนเองไม่ไหวเพราะชราภาพหรือสุขภาพไม่อำนวย ต้องจ้างวานคนอื่นมาช่วยทำบ้าง แต่ก็ต้องอยู่ในความดูแลโดยใกล้ชิดของตนเอง และเสี่ยงต่อการขาดทุนในเมื่อมีเหตุทำให้การกสิกรรมนั้นไม่ได้ผล แต่กรณีของโจทก์นี้ โจทก์มิได้มีอาชีพในการทำนาโดยตรงและมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดพระนคร ห่างไกลกับนาของโจทก์ ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์มอบให้นางสาวแย้ม จงรักเจ้าปกครองดูแลและจัดหาประโยชน์แทนโจทก์ แล้วนางสาวแย้ม จงรักเจ้า ได้ทำสัญญาจ้างบุคคลอื่นให้ทำนาของโจทก์อีกต่อหนึ่ง พิเคราะห์สัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์ส่งสำเนาไว้ท้ายคำร้องเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์แล้ว มีข้อความทำนองเดียวกันว่า ผู้รับจ้างจะต้องทำงานตั้งแต่ปราบที่ ไถหว่าน ตลอดจนเก็บเกี่ยว ผูกมัดเลียงขน เข้าเก็บในยุ้งฉางของผู้ว่าจ้าง โดยใช้ลูกมือและเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้รับจ้างเองทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้นค่าจ้างผู้ว่าจ้างยังคิดให้ตามส่วนของข้าวที่ได้แสดงว่าโจทก์มีทางได้อย่างเดียว โดยได้มากหรือน้อยเท่านั้น ไม่ต้องเสี่ยงต่อการขาดทุนเอง พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประกอบการกสิกรรมทำนาด้วยตนเอง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share