คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 นับแต่ ค. ผู้เป็นบิดาถึงแก่ความตายตลอดมาจนถึงการขอออกโฉนด เป็นชื่อ ของจำเลยที่ 1และทำการแบ่งมรดกกันเป็นการเจตนาครอบครองแทนผู้อื่น ในฐานะที่เป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1หาใช่เป็นการยึดถือครอบครองไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวไม่แม้จะครอบครองมานานกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 ส่วนที่จำเลยที่ 2 เข้ามาอยู่ในที่พิพาทเป็นการอาศัยสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ และการที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินจากจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องโจทก์ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมมิใช่เป็นการฟ้องเรียกให้แบ่งมรดก จำเลยที่ 2ย่อมไม่อาจยกเอาเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754มาปรับแก่คดีได้ ตามมาตรา 60 วรรคหนึ่ง แห่ง ป. ที่ดิน ที่บัญญัติว่า เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งประการใดแล้วให้แจ้งคู่กรณีทราบและให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปดำเนินการฟ้องหรือร้องต่อศาลภายในกำหนด60 วันนั้น เป็นเรื่องการให้ฝ่ายที่ไม่พอใจต้องไปดำเนินการทางศาลถ้า พ้นกำหนด 60 วันแล้วเจ้าพนักงานที่ดินก็มีอำนาจปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการได้ดัง ที่กล่าวไว้ในวรรคสามของมาตรานี้หาใช่เป็นการจำกัดอำนาจการฟ้องแต่อย่างใดไม่ คดีก่อนแม้โจทก์จะฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของ ค.ให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันแบ่งให้แก่โจทก์ แต่คดีนั้นศาลยกฟ้องเพราะปรากฏในวันชี้สองสถานว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ไปแล้ว สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับตามคำขอได้ซึ่งเท่ากับการยกฟ้องเพราะฟ้องโจทก์บกพร่องโดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ฟ้องโจทก์ที่ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในคดีนี้จึงมิได้เป็นการฟ้องซ้ำ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 นายประสาน เถกิงสุข และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรนายคร้าม เถกิงสุข เจ้ามรดก นายประสานถึงแก่ความตายไปก่อน โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรของนายประสานและเป็นผู้รับมรดกแทนที่ขณะที่นายคร้ามยังมีชีวิตอยู่ นายคร้ามเป็นเจ้าของที่ดิน ส.ค.1ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เนื้อที่ 3 ไร่65 เศษ 4 ส่วน 10 ตารางวา เมื่อปี พ.ศ. 2508 นายคร้ามถึงแก่ความตายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกได้แก่ทายาท โดยยังมิได้มีการแบ่งกันแต่จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินมรดกไว้แทนทายาททั้งหมด ในปีพ.ศ. 2514 ทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่บรรดาผู้ครอบครองที่ดินปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 13020 ตำบลเพอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2525 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ที่ 2 ทราบว่า จำเลยที่ 1 ได้รับโฉนดที่ดินแล้ว จะแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยจำเลยที่ 1 มอบให้นางสุขุมทวีศักดิ์ เขียนจดหมายถึงโจทก์ที่ 2 ขอให้มาทำการแบ่งที่ดินมรดกดังกล่าว วันที่ 17 ตุลาคม 2525 จำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 1 ที่ 2และนายสายัณห์ เถกิงสุข ตัวแทนทายาทของนายประสานจึงได้ตกลงแบ่งที่ดินมรดกออกเป็น 4 ส่วน ให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และทายาทของนานประสานกับจำเลยที่ 1 ได้คนละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน ดังภาพถ่ายบันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 หลังจากที่มีการตกลงแบ่งที่ดินมรดกดังกล่าวกันแล้ว โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1ปฏิบัติตามข้อตกลง แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ยอมไปทำการแบ่งที่ดินให้โจทก์ทั้งสาม และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2525 จำเลยที่ 1 ได้ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13020 ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของ จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาทั้งที่รู้ว่าจะทำให้โจทก์ทั้งสามเสียเปรียบ และเพื่อไม่ให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งในกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13020 ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 13020ดังกล่าวออกเป็น 4 ส่วน ให้โจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 คนละส่วนเท่า ๆ กัน หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่กระทำการดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ผู้เดียวที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกับนายคร้าม เมื่อปี พ.ศ. 2508 นายคร้ามถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ก็ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 2 มาโดยเปิดเผยอย่างเป็นเจ้าของมิใช่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 2 มาโดยเปิดเผยอย่างเป็นเจ้าของมิใช่ครอบครองแทนทายาท จำเลยที่ 1 ไม่เคยให้ผู้ใดมีหนังสือถึงโจทก์ที่ 2 ว่าจะแบ่งทรัพย์มรดกให้ เพราะจำเลยที่ 1 ได้มอบให้จำเลยที่ 2 ดูแลครอบครองทำประโยชน์มานานแล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในสภาวะทำประโยชน์ได้และได้โอนทางทะเบียนให้จำเลยที่ 2 ไปแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงจะแบ่งที่ดินของตนให้โจทก์ทั้งสาม เพราะต่างก็ได้รับมรดกจากนายคร้ามแล้วทุกราย โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิจะได้ส่วนแบ่งในที่ดินพิพาท คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย และรู้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว โจทก์เคยร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงความเห็นว่าการโอนกรรมสิทธิ์ชอบแล้ว โจทก์ไม่ดำเนินการฟ้องต่อศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ทั้งสามรู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในสภาวะที่ดูแลตัวเองไม่ได้ต้องได้รับการดูแลจากจำเลยที่ 2 ในการติดต่อกับบุคคลที่สาม โจทก์ทั้งสามถือโอกาสขณะจำเลยที่ 1 อยู่แต่เพียงผู้เดียว ได้ร่วมกันหลอกลวงโดยกลฉ้อฉลและข่มขู่หว่านล้อมให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อลงลายมือชื่อในเอกสารขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ และไม่มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลร่วมรู้เห็นด้วยและจำเลยที่ 1 ได้บอกล้างแล้วในขณะที่มีสติสมบูรณ์ทั้งเอกสารดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาจะให้ที่ดิน เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมไม่สมบูรณ์ ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 388/2526 ของศาลชั้นต้น นอกจากนี้จำเลยทั้งสองก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกินกว่า 18 ปีแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 13020 ตำบลเพ อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้แบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็น 4 ส่วนเท่ากัน ตกได้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ในฐานะผู้รับมรดกแทนที่นายประสาน เถกิงสุข เพื่อประโยชน์แก่ทายาทของนายประสานทุกคน กับจำเลยที่ 1 คนละส่วนเท่ากัน โดยให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งให้ทายาท ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 13020 ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เนื้อที่3 ไร่ 65 เศษ 4 ส่วน 10 ตารางวา ออกเป็น 4 ส่วน ให้โจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ในฐานะเป็นผู้รับมรดกแทนที่นายประสานเถกิงสุข เพื่อประโยชน์ของผู้รับมรดกแทนที่นายประสาน เถกิงสุขทุกคนกับจำเลยที่ 2 ได้คนละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน ให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 2 คำขออื่นให้ยก คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้องนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 นายประสาน เถกิงสุข และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายคร้าม เถกิงสุข ส่วนโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรและเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของนายประสาน ที่ดิน ส.ค.1 เนื้อที่ 3 ไร่65 เศษ 4 ส่วน 10 ตารางวา ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองซึ่งเป็นที่ดินพิพาทคดีนี้เดิมเป็นของนายคร้าม นายคร้ามถึงแก่ความตายไปในปี พ.ศ. 2508 ในปี พ.ศ. 2519 ทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นโฉนดเลขที่ 13020 ตามเอกสารหมาย จ.7มีชือจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ผู้เดียว จำเลยที่ 1 รับโฉนดที่ดินไปแล้วได้เขียนจดหมายถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 รับว่าที่ดินที่ออกโฉนดเป็นที่ดินมรดกของนายคร้าม การออกโฉนดที่ดินมาเป็นของจำเลยที่ 1 เกิดจากความผิดพลาดของจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2525 จำเลยที่ 1 กับโจทก์และนายสายัณห์เถกิงสุข ได้ตกลงทำบันทึกการแบ่งมรดกกันตามเอกสารหมาย จ.1 ในวันรุ่งขึ้น จำเลยที่ 2 ได้ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินห้ามการโอนที่ดินพิพาท โจทก์จึงได้ร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระยองขอความเป็นธรรมในการออกโฉนดที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.5ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองพิจารณาแล้วว่า การออกโฉนดที่ดินเป็นไปโดยชอบให้ไปฟ้องร้องที่ศาล ในวันที่ 19 ตุลาคม 2525 จำเลยที่ 1ก็ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายสมยศ เถกิงสุข ทายาทของนายประสานจึงร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้แบ่งที่ดินพิพาทให้ แต่ศาลพิพากษายกฟ้องตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 388/2526 ของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 3 จึงได้ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2แบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นคดีนี้ใหม่ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายคร้ามหรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์หรือไม่ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่…
ศาลฎีกาเชื่อว่าที่จำเลยที่ 1 มีจดหมายถึงโจทก์ตามเอกสารหมายจ.8 กระทำบันทึกการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และทายาทของนายประสาน เป็นการกระทำขึ้นโดยชอบและเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่า การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่นายคร้ามถึงแก่ความตายตลอดมาจนถึงการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และทำบันทึกการแบ่งมรดกกัน จำเลยที่ 1มีเจตนาครอบครองแทนผู้อื่น การครอบครองที่ดินและมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว จึงเป็นการครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของร่วมกันและแทนกันระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1 หาใช่เป็นการยึดถือครอบครองไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวไม่แม้จำเลยที่ 1 จะครอบครองมานานกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ส่วนที่จำเลยที่ 2เข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทนั้นเป็นการอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามกฎหมายแล้วจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนก็หาได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไปไม่ คงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1ซึ่งจำเลยที่ 1 โอนให้เท่านั้น
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของนายคร้ามเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่นายคร้ามตายจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น มีผลผูกพันเฉพาะที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 หาได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมไปด้วยไม่ การฟ้องขอแบ่งที่ดินจากจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องโจทก์ทั้งสามขอแบ่งกรรมสิทธิ์ร่วมหาใช่เป็นการฟ้องเรียกให้แบ่งมรดกไม่ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจจะยกเอาเรื่องอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาปรับแก่คดีได้
ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเมื่อโจทก์คัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วได้มีคำสั่งว่า การโอนที่ดินโฉนดที่ดินพิพาทถูกต้อง โจทก์ฟ้องเกินกำหนด 60 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 60 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติว่า “เมื่อผู้ว่าราชการสั่งประการใดแล้ว ให้แจ้งคู่กรณีทราบ และให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปดำเนินการฟ้องหรือร้องต่อศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง” เป็นเรื่องการให้อำนาจเจ้าพนักงานที่ดินที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการขอออกโฉนดที่ดินไปตามที่มีผู้ขอให้ออกและมีการโต้แย้งค้ดค้านไว้ ซึ่งหากผู้ว่าราชการออกคำสั่งให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดไปแล้วก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายที่ไม่พอใจจะต้องไปดำเนินการทางศาล ถ้าพ้นกำหนด 60 วันแล้วเจ้าพนักงานที่ดินก็มีอำนาจปฏิบัติไปตามคำสั่งของผู้ว่าราชการได้ดังที่กล่าวไว้ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวหาใช่เป็นการจำกัดอำนาจการฟ้องคดีของโจทก์แต่อย่างใดไม่
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 388/2526 ของศาลชั้นต้น นั้น เห็นว่า คดีก่อนแม้โจทก์จะฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายคร้าม ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วกันแบ่งให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่คดีก่อนศาลยกฟ้องโจทก์เพราะปรากฏในวันชี้สองสถานว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ไปแล้วหากฟังว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาท สภาพแห่งหนี้ก็ไม่เปิดช่องให้โจทก์บังคัตามคำขอได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกฟ้องเพราะเห็นว่าฟ้องโจทก์บกพร่องโดยมิได้มีการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายคร้าม ที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับหรือไม่และการโอนที่ดินพิพาทไปให้จำเลยที่ 2 โจทก์จะขอให้เพิกถอนได้หรือไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงมิได้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา148…”
พิพากษายืน.

Share