คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พินัยกรรมที่ลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ต่อหน้าพยาน 3 คน ซึ่งลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แม้จะไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนตามมาตรา 1671 แต่มาตรา 1705 มิได้กำหนดให้ตกเป็นโมฆะ พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ผู้รับพินัยกรรมอยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรมก็ไม่มีผลให้พินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ
คู่สมรสมีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่บุคคลใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายสุธา รังสิกุล กับนางกรองพรรณ รังสิกุล นายสุธาได้จดทะเบียนรับรองว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตร ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2517 และวันที่ 19 พฤษภาคม2512 ตามลำดับ โจทก์ทั้งสองมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน จำเลยเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายสุธา จดทะเบียนสมรส ณ สำนักงานทะเบียนอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2535 นายสุธาถึงแก่ความตาย โดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด มีทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างนายสุธาและจำเลยเท่าที่ตรวจสอบได้ คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 13654 และ 87012 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเป็นบ้านเลขที่ 127/1 โจทก์ทั้งสองติดต่อจำเลยให้แบ่งสินสมรส เพื่อนำส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาท แต่จำเลยมิได้จัดการประการใด โดยที่บิดามารดาของนายสุธาได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้สืบสันดานถือเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิในทรัพย์มรดกในส่วนของนายสุธาร่วมกับจำเลยและทายาทอื่นอีก 7 คน คือ โจทก์ทั้งสองและพี่น้องรวม 3 คน จำเลยและบุตรของจำเลยอีก 6 คนรวมทายาท 10 คน คนละส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อแบ่งสินสมรสระหว่างนายสุธาและจำเลยแล้วคงเป็นทรัพย์มรดกของนายสุธาที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับจำนวน 2 ใน 10 ส่วนของทั้งหมด คิดเป็นเงิน 1,856,800 บาท โจทก์ทั้งสองได้แจ้งให้จำเลยดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกในส่วนของโจทก์ทั้งสองแล้ว แต่จำเลยไม่จัดการ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยแบ่งสินสมรสระหว่างนายสุธา รังสิกุล กับจำเลย มาเป็นทรัพย์มรดกของนายสุธา รังสิกุล จำนวนครึ่งหนึ่งแล้วจัดแบ่งมรดกของนายสุธาให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 2 ใน 10 ส่วนของทรัพย์มรดกของนายสุธา หากจำเลยไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันทายาท และขอให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 13654 และ 87012 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ส่งมอบแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีออกใบแทนโฉนดทั้งสอง เพื่อโจทก์ทั้งสองจะได้นำไปดำเนินการต่อไป

จำเลยให้การว่า มรดกของนายสุธา รังสิกุล นั้นทายาทโดยธรรมของนายสุธาไม่มีสิทธิรับมรดก เพราะนายสุธาได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่จำเลยผู้เดียว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องแบ่งปันมรดก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า ในการทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 จำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดเตรียม ทนายความ พยาน และเป็นผู้แจ้งข้อความเกี่ยวกับพินัยกรรมแทนนายสุธาจึงมิใช่เป็นเจตนาเผื่อตายของนายสุธา แต่เป็นเจตนาของจำเลย ข้อนี้นายปราโมทย์ ผลาภิรมย์ ทนายจำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า เมื่อทำพินัยกรรมแล้ว ก่อนที่นายสุธา รังสิกุล จะลงลายมือชื่อในพินัยกรรมได้อ่านให้นายสุธาฟังแล้ว นายสุธาพอใจ จึงได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานและพยานอีก 3 คนจึงได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ส่วนจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พินัยกรรมที่จะให้นายสุธาลงลายมือชื่อนั้นได้มีการพิมพ์มาเรียบร้อยแล้ว โดยนายปราโมทย์เป็นผู้จัดพิมพ์มา นายปราโมทย์ได้นำมาให้นายสุธาอ่านและจำเลยอยู่ด้วย พันเอกปรีชา ประยูรโภคราช พยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ได้มีการตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้วว่า ทรัพย์มรดกยกให้แก่จำเลยและเป็นไปตามเจตนาของนายสุธาและตรงตามพินัยกรรม โจทก์ทั้งสองคงมีนางกรองพรรณ รังสิกุล พยานโจทก์ทั้งสองมาเบิกความว่า ญาติพี่น้องของนายสุธาไม่เชื่อว่านายสุธาจะทำพินัยกรรมไว้จริง ส่วนนายวิทิต อุจวาที พยานโจทก์ทั้งสองอีกปากหนึ่งก็เบิกความเพียงว่าไม่ทราบเรื่องพินัยกรรมของนายสุธา และไม่เคยเห็นพินัยกรรมเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่านายสุธามีเจตนาทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.1 ฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นโจทก์ทั้งสองฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ไม่มีผู้เขียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671 จึงตกเป็นโมฆะ เห็นว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 นั้น นายสุธาผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน 3 คน ซึ่งพยานทั้งสามคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของนายสุธาไว้ เป็นการทำพินัยกรรมถูกต้องตามแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แล้ว แม้จะไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671 แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 มิได้กำหนดให้ตกเป็นโมฆะ ฉะนั้น พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 จึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นโจทก์ทั้งสองฎีกาต่อไปว่า ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ไม่ใช่ของนายสุธาข้อนี้ พันเอกปรีชา นางนิ่มนวลและนายปราโมทย์พยานจำเลยเบิกความยืนยันว่า นายสุธาลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน ส่วนนายจำนง รังสิกุล พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นพี่ชายของนายสุธาก็เบิกความแต่เพียงว่าลายมือชื่อของนายสุธาในพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ไม่ค่อยเหมือนที่เคยเห็นเท่านั้น นายจำนงมิได้ยืนยันว่าไม่ใช่ลายมือชื่อนายสุธา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าลายมือชื่อในพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 เป็นของนายสุธาฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น โจทก์ทั้งสองฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ไม่มีผลบังคับ เพราะผู้รับประโยชน์ในพินัยกรรมคือจำเลยอยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรม เห็นว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากผู้รับประโยชน์อยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรมจะมีผลให้พินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ ฉะนั้นพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 จึงมีผลบังคับได้ฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อสุดท้ายว่า นายสุธาไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกสินสมรสของตนให้จำเลย เห็นว่า สินสมรสเป็นทรัพย์ที่นายสุธามีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย นายสุธาจึงมีอำนาจยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่บุคคลใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1481 ฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”

พิพากษายืน

Share