คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 33 ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์” ก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศาลพิจารณาว่า การประเมินและคำวินิจฉัยชอบหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข ยกเลิก หรือเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลอยู่จำเลยมีสิทธิจะได้รับชำระภาษีอากรตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมิน และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วหรือไม่ จึงต้องรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเสียก่อน การที่โจทก์ไม่ชำระภาษีอากรตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงหาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยไม่ จำเลยจึงยังไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง เมื่อจำเลยแจ้งการประเมินภาษีให้โจทก์ทราบแล้ว ถือว่าเป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมาย เพื่อให้ลูกหนี้ใช้หนี้ค่าภาษีอากรตามที่เรียกร้องอันมีผลให้ลูกหนี้อาจต้องถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล การสั่งบังคับดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้ทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี เพื่อให้ใช้หนี้ตามที่เรียกร้อง มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 เมื่อศาลสั่งไม่รับฟ้องแย้งต้องมีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งทั้งหมดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 151 วรรคแรก ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าภาษีและเงินเพิ่ม
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า การที่ประมวลรัษฎากรมาตรา 30(2) บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 33ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์”ก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการประเมินและคำวินิจฉัยชอบหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข ยกเลิกหรือเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ เมื่อคดีนี้โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลอยู่ จำเลยมีสิทธิจะได้รับชำระภาษีอากรตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วหรือไม่ จึงต้องรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเสียก่อนการที่โจทก์ไม่ชำระภาษีอากรตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงหาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิที่จำเลยจะนำคดีมาฟ้องไม่จำเลยจึงยังไม่มีอำนาจฟ้องแย้งที่จำเลยอุทธรณ์ว่า หากจำเลยไม่สามารถฟ้องแย้งในคดีอุทธรณ์ การประเมินซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลยังไม่ถึงที่สุดได้ อาจทำให้จำเลยไม่สามารถเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชำระภาษีให้ชำระภาษีอากรได้ทันภายในอายุความหรือระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยแจ้งการประเมินภาษีให้โจทก์ทราบแล้ว ถือว่าเป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายเพื่อให้ลูกหนี้ใช้หนี้ค่าภาษีอากรตามที่เรียกร้อง อันมีผลให้ลูกหนี้อาจต้องถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล การสั่งบังคับดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้ทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการที่เจ้าหนี้ฟ้องคดีเพื่อให้ใช้หนี้ตามที่เรียกร้องดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 193/14 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงยังไม่ขาดอายุความที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยจึงชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคแรก ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17เมื่อศาลภาษีอากรกลางสั่งไม่รับฟ้องแย้ง ศาลภาษีอากรกลางต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งทั้งหมด
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งทั้งหมดแก่จำเลย

Share