คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 192/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่หุ้นส่วนผู้จัดการคนหนึ่งนำเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดไปฝากไว้กับจำเลย ในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด ต่อมาเมื่อหุ้นส่วนผู้จัดการคนดังกล่าวถึงแก่กรรม หุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจอีกคนหนึ่งย่อมมีอำนาจรับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุจิตร ปัตตะโชติตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ก่อนนายสุจิตร ถึงแก่กรรมได้ตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดสวิสชาโต้ 1981 มีผู้ถือหุ้น 4 คน คือ นางลินดาศรียานนท์ นายปรัชชา ปัตตะโชติ นายสุจิตร และโจทก์ ผู้เป็นหุ้นส่วนตกลงกันให้นายสุจิตร นำเงินสี่ล้านบาทเศษฝากไว้กับจำเลยในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดสวิสชาโต้ฯ โดยจำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้นายสุจิตรยึดถือไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่านายสุจิตรถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์กำลังร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลชั้นต้น ให้จำเลยระงับการจ่ายเงินไว้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อนและจำเลยรับทราบแล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุจิตรแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ได้ติดต่อสอบถามจำเลยแล้วจึงทราบว่าจำเลยจ่ายเงินสี่ล้านบาทเศษให้แก่นายปรัชชา ปัตตะโชติ ไปแล้ว ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น คดีหมายเลขดำที่ 4248/2529 หมายเลขแดงที่ 6639/2529 รวมเป็นเงิน 4,045,519.04บาท พร้อมดอกเบี้ย967,785.28 บาท โดยไม่มีอำนาจเพราะการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งเป็นการทำขึ้นภายหลังจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวห้ามเบิกจ่ายเงินแล้ว ทำให้กองมรดกและหุ้นส่วนคนอื่นเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น5,013,304.32 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 5,013,304.32บาท จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 5,013,304.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยชำระเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสวิสชาโต้ 1981 ซึ่งเป็นเจ้าของเงินไปแล้วเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2529 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 6639/2529 ของศาลชั้นต้นโจทก์ไม่มีอำนาจเรียกร้องจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุจิตร ปัตตะโชติ จำเลยได้รับหนังสือขอให้ระงับการจ่ายเงินจากโจทก์จริง จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสวิสชาโต้ฯ ซึ่งขณะนั้นมีนายสุจิตร และนายปรัชชาปัตตะโชติ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรวม 2 คน โดยต่างคนต่างมีอำนาจแต่ผู้นำเงินมาฝากและรับตั๋วสัญญาใช้เงินไปจากจำเลยแต่แรกนั้นนายสุจิตร เป็นผู้ดำเนินการในนามของห้าง ต่อมาหลังจากนายสุจิตรถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือมายังจำเลยขอให้ระงับการจ่ายเงินของนายสุจิตร หลังจากนั้น นายปรัชชา ปัตตะโชติหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสวิสชาโต้ฯ ได้ฟ้องจำเลยให้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6639/2529 ของศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยได้จ่ายเงินไปตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ขอให้สั่งศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีเพียงว่าเมื่อโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงในคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นจะต้องสืบพยานต่อไปอีกหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่านายสุจิตร ปัตตะโชติ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดสวิสชาโต้ฯ ได้นำเงินส่วนตัวไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับ จากจำเลยเพื่อเป็นการออกเงินสำรองจ่ายในระหว่างการดำเนินงานของห้างในระยะเริ่มแรกก่อตั้ง และทำข้อตกลงกันไว้เป็นพิเศษว่า นายสุจิตรคนเดียวมีอำนาจเบิกจ่ายเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่จำเลยกลับจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่นายปรัชชา ปัตตะโชติ ตัวแทนห้างโดยผิดเงื่อนไขข้อตกลง ทำให้เกิดความเสียหายแก่นายสุจิตรและกองมรดก ได้ตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์หาได้บรรยายในคำฟ้องว่านายสุจิตรนำเงินส่วนตัวไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับจากจำเลยเพื่อเป็นการสำรองจ่ายในระหว่างการดำเนินงานของห้างแต่ประการใดไม่ โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสวิสชาโต้ฯ ดำเนินกิจการไปตามวัตถุประสงค์ ข้อตกลงระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันว่า ให้นายสุจิตรนำเงินสดสี่ล้านบาทเศษฝากไว้กับจำเลยในนามของห้างเพื่อเป็นเงินใช้จ่ายในห้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องฟังว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของห้างเพราะได้นำไปฝากในนามห้างมิใช่เงินส่วนตัวของนายสุจิตรฝากจำเลยไว้เพื่อเป็นการออกเงินสำรองจ่ายดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อนายสุจิตรซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการคนหนึ่งของห้างถึงแก่กรรมนายปรัชชาซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจของห้างอีกคนหนึ่งย่อมมีอำนาจรับเงินจำนวนดังกล่าวไปได้ หาจำต้องสืบพยานฟังข้อเท็จจริงใด ๆ ต่อไป อีกไม่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share