แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่กรมทางหลวงยื่นฟ้องทายาทคนขับรถโดยสารปรับอากาศลูกจ้าง บริษัทนายจ้างซึ่งเป็นเอกชน และบริษัทขนส่ง จำกัด ว่าคนขับรถโดยสารขับรถด้วยความประมาทชนแผงกันรถบริเวณไหล่ทางราวกันอันตรายของโจทก์ได้รับความเสียหาย และคนขับรถโดยสารถึงแก่ความตาย ขอให้ร่วมกันรับผิด เห็นว่า แม้บริษัทขนส่ง จำกัด เป็นนิติบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ประกอบการขนส่ง และบริษัทนายจ้างจะเข้าร่วมในการประกอบกิจการขนส่งด้วยก็ตาม แต่คนขับรถโดยสารซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนมีหน้าที่เพียงขับรถโดยสารเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้อำนาจทางปกครองหรือมีหน้าที่ทางปกครองแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้มูลเหตุละเมิดเกิดจากการปฎิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชนทั่วไป เมื่อเกิดการละเมิดแก่ผู้อื่นก็ต้องรับผิดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายเอกชน มิใช่ตามกฎหมายปกครองซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน ส่วนบริษัทนายจ้างและบริษัทขนส่ง จำกัด หากจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างก็เป็นเพราะเนื่องมาจากกฎหมายแพ่งกำหนดเอาไว้ มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองแต่อย่างใดเช่นกัน คดีนี้จึงมิใช่เป็นการทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑/๒๕๕๖
วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแขวงพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๙ กรมทางหลวง โจทก์ ยื่นฟ้องนางอนงค์ ศรีจริยา ที่ ๑ นางรวง ศรีจริยา ที่ ๒ นางสาววนิดา ศรีจริยา ที่ ๓ เด็กหญิงขนิษฐา ศรีจริยา โดยนางอนงค์ ศรีจริยา ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๔ บริษัทจักรพงษ์ทัวร์ จำกัด ที่ ๕ บริษัทขนส่ง จำกัด ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลแขวงพิษณุโลก เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๘/๒๕๔๙ หมายเลขแดงที่ ๖๔๓/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีฐานะ เป็นกรม สังกัดกระทรวงคมนาคม มีอำนาจหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษาทางหลวง ตลอดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องและอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ถึง ๔ เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายวินิจ ศรีจริยา (ผู้ตาย) ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดคดีนี้ จำเลยที่ ๕ และจำเลยที่ ๖ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่ง จำเลยที่ ๕ ได้ร่วมกิจการประกอบกิจการขนส่งกับจำเลยที่ ๖ จำเลยที่ ๕ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารปรับอากาศคันหมายเลขทะเบียน ๑๐-๓๖๒๗ อุดรธานี และจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ เป็นนายจ้างหรือตัวการของนายวินิจ ศรีจริยา ผู้ดูแลควบคุมรถยนต์โดยสารคันดังกล่าว ตามคำสั่งของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ อันเป็นการทำงานตามทางการที่จ้าง เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๙ เวลา ๐๒.๐๐ นาฬิกา นายวินิจได้ขับรถโดยสารปรับอากาศคันหมายเลขทะเบียน ๑๐-๓๖๒๗ อุดรธานี อันเป็นยานพาหนะเดินด้วยจักรกลไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ตามทางหลวงหมายเลข ๑๒ ตอนพิษณุโลก – หล่มสัก จากอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มุ่งหน้าไปจังหวัดพิษณุโลก โดยมีผู้โดยสารเต็มคันรถ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ในการขับรถยนต์โดยสาร เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวกำหนด ให้เดินรถสองช่องทางมีรถวิ่งสวนไปมาตลอดเวลาและเป็นทางลาดลงจากภูเขาลาดชันและคดโค้ง นายวินิจต้องขับรถด้วยความระมัดระวังไม่ใช้ความเร็วจนเกินสมควรที่จะสามารถขับขี่และบังคับให้แล่นไปได้โดยปลอดภัย ซึ่งนายวินิจอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ยังคงขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควร จนไม่สามารถที่จะบังคับให้รถแล่นไปในช่องทางโดยปลอดภัย เป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารเสียหลักวิ่งออกนอกเส้นทางจราจร อันเนื่องจากการเสียการทรงตัวและชนแผ่นกั้นรถบริเวณไหล่ทางราวกั้นอันตรายและพลิกคว่ำ ตกลงไปในร่องข้างถนน เป็นเหตุให้แผงกั้นรถ ๒๐ แผ่น เสากั้น ๒๐ ต้น น็อตติดเสา ๑๘๐ ตัว ซึ่งเป็นของโจทก์และอยู่ในความดูแลของโจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน ๘๒,๒๐๐ บาท หลังจากเกิดเหตุนายวินิจได้หลบหนีตลอดมา จนถึงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ นายวินิจได้ถึงแก่ความตาย การกระทำของนายวินิจเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ซึ่งเป็นนายจ้างและตัวการของนายวินิจ ส่วนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดก จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๑๔๓,๗๑๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๘๒,๒๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า ค่าเสียหายสูงเกินความจริง คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๖ ให้การว่า จำเลยที่ ๖ ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดกับนายวินิจ และจำเลยที่ ๕ หากจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจริงตามฟ้องก็เป็นเรื่องส่วนตัวมิได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ๖ การประเมินราคาของโจทก์สูงเกินควร คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ แถลงรับข้อเท็จจริงว่า มีการขับรถชนแผงกั้นรถตามที่โจทก์ฟ้องจริง แต่น่าจะทำความเสียหายให้แผงกั้นได้เพียง ๓ แผ่น ค่าเสียหายสูงเกินควร ขอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าเสียหายและประเด็นเรื่องอายุความ ศาลเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์ จำเลย แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ พยาน จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ ๖ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยที่ ๖ เป็นรัฐวิสาหกิจมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นจำนวนร้อยละ ๙๙.๙๖ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นผู้รับสัมปทานการเดินรถจากกรมการขนส่งทางบกเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ การที่โจทก์ฟ้องคดีต่อจำเลยที่ ๖ ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีอันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ศาลแขวงพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๖ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่านายวินิจ ศรีจริยา ผู้ตาย ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ขับรถโดยประมาทชนทรัพย์สินของโจทก์ ขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และจำเลยที่ ๖ ให้การว่า นายวินิจไม่ได้กระทำโดยประมาท ตามฟ้อง จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการกระทำในทางกายภาพ เป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ใช่การกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงไม่ใช่กรณีการกระทำละเมิดตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ บัญญัติว่า “หน่วยงานทางปกครอง” ให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า…(๑) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง… มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้… (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้… (๑๒) วางมาตรการในการกำหนดอนุญาต เพิกถอนการอนุญาตและการควบคุมกิจการขนส่งทางบก มาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งประจำทางการขนส่งไม่ประจำทางการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือการขนส่งส่วนบุคคล เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้นายทะเบียนกลางเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในกรุงเทพมหานคร การขนส่งระหว่างจังหวัดและการขนส่งระหว่างประเทศ และให้นายทะเบียนประจำจังหวัดเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในจังหวัดของตน วรรคสอง บัญญัติว่า ในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ
คดีนี้แม้จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ จะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด แต่เมื่อจำเลยที่ ๖ เป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารจากนายทะเบียนประจำจังหวัดโดยอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ตามมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง (๑๒) และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อให้เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้านการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นไปในลักษณะของ “การดำเนินกิจการทางปกครอง” อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐที่เอกชนไม่อาจประกอบกิจการได้โดยพลการ หากไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ดังนั้น จำเลยที่ ๖ จึงอยู่ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองโดยผ่านความสัมพันธ์ตามกฎหมายจากใบอนุญาตของนายทะเบียนอันเป็นผลให้จำเลยที่ ๖ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถโดยสารกับจำเลยที่ ๖ จำเลยที่ ๕ จึงอยู่ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครอง โดยผ่านความสัมพันธ์ตามสัญญาทางปกครองอันเป็นผลให้จำเลยที่ ๕ เป็นหน่วยงานทางปกครองด้วยเช่นกัน และพนักงานขับรถยนต์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง อันเป็นผลให้พนักงานขับรถยนต์ดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า นายวินิจ ศรีจริยา พนักงานขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ได้ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศคันหมายเลขทะเบียน ๑๐-๓๖๒๗ อุดรธานี ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๒ ตอนพิษณุโลก – หล่มสัก โดยบรรทุกผู้โดยสารมาเต็มคันรถและขับรถด้วยความประมาท เป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารเสียหลักชนการ์ดเรล (แผงกันรถบริเวณไหล่ทางราวกันอันตราย) ของโจทก์เสียหาย จึงฟ้องขอให้จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ในฐานะนายจ้างของนายวินิจร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองด้านการขนส่งผู้โดยสาร การที่นายวินิจซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ได้ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศซึ่งบรรทุกผู้โดยสารมาเต็มคันรถชนการ์ดเรล (แผงกันรถบริเวณไหล่ทางราวกันอันตราย) ของโจทก์เสียหาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่า นายวินิจในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินกิจการทางปกครองด้านการขนส่งผู้โดยสารตามที่พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต้นสังกัดของนายวินิจต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้กรมทางหลวงเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ทายาทโดยธรรมของนายวินิจ ศรีจริยา ผู้ตาย ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของบริษัทจักรพงษ์ทัวร์ จำกัด จำเลยที่ ๕ และบริษัทขนส่ง จำกัด จำเลยที่ ๖ ว่า นายวินิจลูกจ้างขับรถโดยสารปรับอากาศ คันหมายเลขทะเบียน ๑๐-๓๖๗๒ อุดรธานีไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้รถโดยสารเสียหลักแล้วพุ่งชนแผงกันรถบริเวณไหล่ทางราวกันอันตรายของโจทก์ได้รับความเสียหายขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ร่วมกันรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายและขอให้จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ร่วมกันรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างหรือตัวการของผู้ตาย เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๖ จะเป็นนิติบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ประกอบการขนส่ง และจำเลยที่ ๕ เข้าร่วมกับจำเลยที่ ๖ ในการประกอบกิจการขนส่งก็ตาม แต่นายวินิจซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนและมีหน้าที่เพียงขับรถโดยสารเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้อำนาจทางปกครองหรือมีหน้าที่ทางปกครองแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้มูลเหตุละเมิดเกิดจากการที่นายวินิจปฎิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งเมื่อเกิดการละเมิดแก่ผู้อื่นแล้วก็ต้องรับผิดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายเอกชน มิใช่ตามกฎหมายปกครองซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน ส่วนจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ หากจะต้องร่วมรับผิดกับนายวินิจลูกจ้างก็เป็นเพราะเนื่องมาจากกฎหมายแพ่งกำหนดเอาไว้ มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองแต่อย่างใดเช่นกัน คดีนี้จึงมิใช่เป็นการทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง แต่เป็นการทำละเมิดระหว่างเอกชนด้วยกันเอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างกรมทางหลวง โจทก์ นางอนงค์ ศรีจริยา ที่ ๑ นางรวง ศรีจริยา ที่ ๒ นางสาววนิดา ศรีจริยา ที่ ๓ เด็กหญิงขนิษฐา ศรีจริยา โดยนางอนงค์ ศรีจริยา ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๔ บริษัทจักรพงษ์ทัวร์ จำกัด ที่ ๕ บริษัทขนส่ง จำกัด ที่ ๖ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ติดราชการ
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ