คำวินิจฉัยที่ 9/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถูกอดีตพนักงานยื่นฟ้องตามสัญญาจ้างขอให้จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งระบุว่าจำเลยตกลงจ้างและโจทก์ตกลงรับจ้างทำงานให้จำเลยภายในระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญา โดยกำหนดอัตราเงินเดือนที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ในแต่ละเดือน มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์และจำเลยจึงอยู่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้างตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทั่วไป แม้กฎหมายที่จัดตั้งจำเลยจะกำหนดให้กิจการของจำเลยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนก็ตาม แต่ก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่าผู้อำนวยการ พนักงานและลูกจ้างของจำเลยต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการของจำเลยอาจกำหนดเรื่องประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายทั้งสามฉบับก็ได้ เพียงแต่ต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าว มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าสัญญาที่จำเลยกระทำกับบุคคลใดอันมีลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานแล้วจะไม่กลายเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ส่วนการที่จำเลยออกระเบียบเกี่ยวกับสวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนพนักงานโดยเฉพาะเรื่องการลาพักผ่อนประจำปี ก็เป็นหลักเกณฑ์ของจำเลยที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ลูกจ้างของจำเลยอันเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตของสภาพการจ้างที่ใช้บังคับตามสิทธิและหน้าที่ของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) อันอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓)

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙/๒๕๕๖

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑)

ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นางวันทนี เพชร์หลิม โจทก์ ยื่นฟ้องสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๒๗๘/๒๕๕๓ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๑๕ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงาน ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้ชำนาญด้านบริหารทั่วไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๖๘,๕๗๗ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือน ๓ วันทำการ จำเลยมีระเบียบว่าด้วยสวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนพนักงาน พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดให้พนักงานมีสิทธิลาพักผ่อนปีงบประมาณละ ๑๐ วันทำงาน และสามารถสะสมจำนวนวันที่ยังมิได้หยุดพักผ่อนในปีงบประมาณนั้น ไปรวมกับปีงบประมาณถัดไปได้แต่ต้องไม่เกิน ๒๐ วันทำงาน เมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งกรณีเกษียณอายุ ๖๐ ปี บริบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ โจทก์ยังมีวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออีก ๒๐ วัน โดยจำเลยไม่ได้กำหนดให้โจทก์ลาพักผ่อนประจำปีที่คงเหลือแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม ๒๐ วัน เป็นเงิน ๔๕,๗๑๘ บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าจ้างดังกล่าวแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน ๔๕,๗๑๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์เป็นพนักงานจำเลยตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ ต่อมาพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นพนักงานมีกำหนด ๕ ปี และมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ตลอดมา ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๒ โดยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นพนักงาน ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารทั่วไปอาวุโส มีกำหนด ๕ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ จึงต้องถือว่าสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างที่ทำเป็นครั้งแรก และถือว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยครั้งแรกเมื่อ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ โจทก์จึงมีเวลาทำงานไม่ครบ ๖ เดือน ย่อมไม่มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปี ตามข้อ ๒๐ ของระเบียบสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าด้วยสวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนพนักงาน พ.ศ. ๒๕๔๓ หากฟังว่าโจทก์มีสิทธิลาพักผ่อน ๒๐ วัน ตามฟ้อง การที่โจทก์ทราบ อยู่แล้วว่าตนเองจะเกษียณอายุ แต่ไม่ยอมใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปีตามที่จำเลยได้แจ้งให้ทราบทางระบบการลาอิเล็กทรอนิกส์ย่อมถือว่าโจทก์สละสิทธิ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ใช่ความสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจเหนือลูกจ้างที่เป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้เข้าร่วมภารกิจบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ อันเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน ข้อตกลงตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาทางปกครอง ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๓๖/๒๕๔๘ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ จะกำหนดสถานะจำเลยให้เป็นนิติบุคคลและเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายอื่น โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาด้านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้สำเร็จบรรลุผล โดยกิจการของจำเลยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วย การคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน อันมีลักษณะเป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานบริการสาธารณะในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งการดำเนินกิจการของจำเลยไม่จำต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานฉบับต่าง ๆ ก็ตาม แต่ในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดให้ผู้อำนวยการ พนักงาน และลูกจ้างของจำเลยต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ก็แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า สิทธิประโยชน์ของพนักงานลูกจ้างของจำเลยต้องเป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ เมื่อพิจารณาจากสัญญาจ้างที่พิพาทก็ปรากฏถึงเรื่องที่จำเลยในฐานะนายจ้างตกลงจ้างโจทก์เข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานให้ อันมีลักษณะเป็นนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งสัญญาดังกล่าวเป็นการที่จำเลยยอมสละอำนาจพิเศษหรือเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครองที่มีอำนาจเหนือเอกชน โดยยอมลดฐานะตนลงให้มีสิทธิเสรีภาพในการทำสัญญาจ้างพนักงานที่เท่าเทียมกันกับโจทก์ แม้ในสัญญาดังกล่าวจะปรากฏถึงสิทธิของจำเลยฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติต่าง ๆ การมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์และมีอำนาจเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่โจทก์ตามความจำเป็นและตามสมควร ตามที่ปรากฏในสัญญาข้อ ๒ ข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๘ ก็ตาม แต่การตกลงให้อำนาจจำเลยฝ่ายเดียวดังกล่าว ก็ไม่ใช่ข้อกำหนดที่มีลักษณะพิเศษอันจะแสดงอำนาจของจำเลยที่เป็นฝ่ายปกครองในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อสนองความต้องการและความต่อเนื่องของการบริการสาธารณะ เพราะเป็นเพียงการยืนยันอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างที่มีสิทธิการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวในการเลิกจ้างลูกจ้าง การใช้อำนาจบังคับบัญชาในการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ และการใช้อำนาจบริหารกิจการในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติต่าง ๆ อันเป็นอำนาจของนายจ้างโดยทั่วไปที่ปรากฏในสัญญาจ้างแรงงานตามระบบกฎหมายเอกชนทั้งสิ้น หาใช่เป็นการแสดงอำนาจเหนือของฝ่ายปกครองตามระบบกฎหมายมหาชนไม่ สัญญาจ้างพนักงานที่พิพาทจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คงเป็นเพียงสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิในฐานะลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลย ตามสัญญาจ้างพนักงานข้อ ๔ และระเบียบสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยสวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนพนักงาน พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๒๐ ถึงข้อ ๒๒ ประกอบกับพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๘ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน และเป็นการเรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิในการให้ได้หยุดงานตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเป็นกรณีพิพาทในส่วนของการขอรับความคุ้มครองให้ได้รับค่าจ้าง ค่าตอบแทน และการมีหลักประกันการทำงานที่เหมาะสม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและและตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และ (๒) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยจัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๒ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๑๕ และพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับบริการสาธารณะด้านการศึกษา จำเลยจึงเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗ บัญญัติให้จำเลยมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น และมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้กิจการของจำเลยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ พนักงาน และลูกจ้างของจำเลยต้องได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน อีกทั้ง พระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติให้จำเลยบริหารและดำเนินกิจการตามนโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะกรรมการของจำเลยตามมาตรา ๑๕ ประกอบกับพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเจตนารมณ์ในการดำเนินงานของจำเลยซึ่งเป็นการจัดทำบริการสาธารณะเกี่ยวกับการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นไปอย่างคล่องตัว และมีประสิทธิภาพตามที่ระบุไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ กฎหมายจึงบัญญัติให้คณะกรรมการของจำเลยมีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของจำเลยทั้งด้านการปฏิบัติงาน การบริหารงานบุคคล การเงินและการงบประมาณ รวมทั้งข้อบังคับ ต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลย เมื่อกฎหมายบัญญัติให้จำเลยไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ กิจการของจำเลยจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่ใช้บังคับกับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานและลูกจ้างของจำเลยจึงอยู่ภายใต้บังคับของข้อบังคับต่าง ๆ ที่คณะกรรมการของจำเลยกำหนดขึ้น แต่เพื่อเป็นการคุ้มครองและรับรองสิทธิประโยชน์ตอบแทนของพนักงานและลูกจ้างของจำเลย กฎหมายจึงบัญญัติให้ได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการของจำเลยออกระเบียบข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวกับประโยชน์ตอบแทนของพนักงานและลูกจ้างของจำเลยต้องไม่น้อยกว่าประโยชน์ตอบแทนที่ลูกจ้างในหน่วยงานเอกชนได้รับตามกฎหมายดังกล่าวไว้ ซึ่งการที่กฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิประโยชน์ในลักษณะดังกล่าว ไม่ใช่เกณฑ์สำหรับใช้ในการพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาล นอกจากนั้น การที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้มิได้หมายความว่าประโยชน์ตอบแทนของพนักงานและลูกจ้างของจำเลยมีเฉพาะเท่าที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนกำหนดไว้ และมิได้หมายความว่า กรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับประโยชน์ตอบแทนของพนักงาน และลูกจ้างของจำเลยแล้ว จะต้องนำกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าวมาใช้บังคับโดยตรง แต่จะต้องพิจารณาจากข้อบังคับระเบียบกฎเกณฑ์ของจำเลยที่เกี่ยวข้องซึ่งคณะกรรมการของจำเลยกำหนดขึ้นเป็นสำคัญ หาไม่แล้วมาตรา ๘ วรรคหนึ่งตอนต้น คงไม่บัญญัติให้กิจการของสถาบันไม่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วย การคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาว่าข้อบังคับระเบียบกฎเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดสิทธิประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่าที่กฎหมายทั้งสามฉบับกำหนดไว้หรือไม่
นอกจากนั้น การที่จำเลยทำสัญญาจ้างบุคคลที่ผ่านกระบวนการสรรหาและคัดเลือกเข้าเป็นพนักงานของจำเลยก็เป็นเพียงวิธีการในการบรรจุแต่งตั้งพนักงานของจำเลยซึ่งเป็นกลไกหรือเครื่องมือในการบริหารงานบุคคลของจำเลยตามที่คณะกรรมการของจำเลยกำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับของจำเลย อันเป็นวิธีการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่เป็นส่วนราชการและมิใช่รัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน เพื่อให้การดำเนินการบริหารงานบุคคลของจำเลยเป็นไปด้วยความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และทำให้วัตถุประสงค์ของจำเลยบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยได้สละอำนาจพิเศษหรือเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครองหรือยอมลดฐานะของตนลงในการเข้าทำสัญญาจ้างพนักงานหรือลูกจ้างให้มีฐานะเท่าเทียมกันกับพนักงานหรือลูกจ้าง อันมีผลทำให้สัญญาจ้างพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด ซึ่งการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานราชการในปัจจุบันก็มีการทำสัญญาจ้างพนักงานราชการสำหรับการปฏิบัติงานของส่วนราชการเช่นเดียวกัน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ อีกทั้ง ในการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐในปัจจุบันมีการตรากฎหมายจัดตั้งหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพื่อจัดทำบริการสาธารณะด้านต่าง ๆ ขึ้น โดยดำเนินการภายใต้ทุน ทรัพย์สิน และรายได้ของหน่วยงานของรัฐนั้น มีคณะกรรมการของหน่วยงานของรัฐนั้นเป็นผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนระเบียบ ข้อบังคับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารทั้งด้านการเงิน การงบประมาณ และการบริหารงานบุคคล โดยกฎหมายจัดตั้งได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐนั้นไม่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่มีบทบัญญัติให้พนักงานและลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐนั้นจะต้องได้รับประโชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน อาทิ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ออกจากระบบราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และองค์การมหาชนต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยว่านิติสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกับลูกจ้างเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน มิใช่นิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานในกฎหมายแพ่งทั่วไป ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๖/๒๕๔๘ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งมีคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ ๕๒/๒๕๔๒ วินิจฉัยว่า ประโยชน์ตอบแทนที่พนักงานของสถาบันเรียกร้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติ มิได้เกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้น สัญญาจ้างพนักงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีวัตถุประสงค์ในการจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานของจำเลย เพื่อให้โจทก์เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะหรือการดำเนินกิจการทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยตามที่กฎหมายกำหนด สัญญาจ้างพนักงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้ชำนาญด้านบริหารทั่วไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๖๘,๕๗๗ บาท เมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งกรณีเกษียณอายุ ๖๐ ปีบริบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ โจทก์ยังมีวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออีก ๒๐ วัน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี รวม ๒๐ วัน เป็นเงิน ๔๕,๗๑๘ บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าจ้างดังกล่าวแก่โจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครองซึ่งมีภารกิจเพื่อบริการสาธารณะจึงต้องมีอำนาจเหนือพนักงานหรือลูกจ้างเพื่อให้ภารกิจในการจัดทำบริการสาธารณะบรรลุผล ดังจะเห็นได้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจเจรจาต่อรองเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การระงับข้อพิพาทแรงงาน การนัดหยุดงาน การปิดงาน การงดจ้าง และการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เมื่อมีข้อพิพาทจึงไม่จำต้องระงับข้อพิพาทโดยองค์คณะที่ประกอบด้วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างดังเช่นในคดีแรงงาน และเป็นกรณีที่จำเลยมีเอกสิทธิ์ในการทำสัญญาจ้างโจทก์ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานทางปกครองซึ่งมีอำนาจเหนือลูกจ้างที่เป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจบริการสาธารณะของหน่วยงานทางปกครองอันเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน ไม่ใช่นิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างที่เท่าเทียมกันตามสัญญาจ้างแรงงานในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ข้อตกลงจ้างทำงานระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงไม่เป็นสัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายแพ่ง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๖/๒๕๔๘ อีกทั้งมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ บัญญัติให้กิจการของจำเลยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ทั้งนี้ มีคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ ๕๒/๒๕๔๒ ในคดีแพ่งของศาลแรงงานกลาง หมายเลขดำที่ ๘๔๑๗/๒๕๔๒ ระหว่าง นางสาวทัศนีย์ สงวนศักดิ์ โจทก์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเลย ซึ่งวินิจฉัยไว้ว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าชดเชยที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๘ เห็นว่า ประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์เรียกร้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติ มิได้เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลย จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน และแม้ประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวเป็นเงื่อนไขการจ้าง ค่าจ้าง สวัสดิการและประโยชน์อย่างอื่นของลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้าง ซึ่งเป็น “สภาพการจ้าง” ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ แต่พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า กิจการของสถาบันไม่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์และจำเลยมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเลย เป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้ชำนาญด้านบริหารทั่วไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๖๘,๕๗๗ บาท จำเลยมีระเบียบว่าด้วยสวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนพนักงาน พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดให้พนักงานมีสิทธิลาพักผ่อนปีงบประมาณละ ๑๐ วันทำงาน และสามารถสะสมจำนวนวันที่ยังมิได้หยุดพักผ่อนในปีงบประมาณนั้น ไปรวมกับปีงบประมาณถัดไปได้แต่ต้องไม่เกิน ๒๐ วันทำงาน เมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งกรณีเกษียณอายุโจทก์ยังมีวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออีก ๒๐ วัน จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม ๒๐ วัน เป็นเงิน ๔๕,๗๑๘ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๖) เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตราดังกล่าว โดยกำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานนั้นเป็นคดีประเภทหนึ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การได้ความว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นพนักงานตามสัญญาจ้างฉบับลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๒ โดยมีสาระสำคัญของสัญญาข้อ ๑. ว่าจำเลยตกลงจ้างและโจทก์ตกลงรับจ้างทำงานให้จำเลย ตั้งแต่วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ ในอัตราเงินเดือน เดือนละ ๖๓,๙๖๐ บาท จึงเป็นกรณีที่โจทก์ ตกลงจะทำงานให้แก่จำเลย และจำเลยตกลงจะให้สินจ้างแก่โจทก์ตลอดเวลาที่ทำงานให้ อันเข้าลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ โจทก์และจำเลยจึงอยู่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้างตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทั่วไป แม้พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๘ บัญญัติว่ากิจการของสถาบันไม่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนก็ตาม แต่ความตอนท้ายของมาตราเดียวกันนั้น ก็บัญญัติรับรองไว้ว่าผู้อำนวยการ พนักงานและลูกจ้างของสถาบันต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ฉะนั้น ความในมาตรา ๘ ดังกล่าวจึงเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจกำหนดเรื่องประโยชน์ตอบแทนที่จะตกได้แก่ผู้อำนวยการ พนักงานและลูกจ้างของสถาบันสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนก็ได้ เพียงแต่ประโยชน์ตอบแทนนั้นต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎหมาย ทั้งสามฉบับดังกล่าว มิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าสัญญาที่จำเลยกระทำกับบุคคลใดอันมีลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานแล้วจะไม่กลายเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ส่วนการที่จำเลยออกระเบียบสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยสวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนพนักงาน พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยเฉพาะในส่วนที่ ๕ เรื่องการลาพักผ่อนประจำปี ข้อ ๒๐ ถึงข้อ ๒๒ ซึ่งจำเลยหยิบยกขึ้นมาปฏิเสธว่าไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์นั้น ก็เป็นหลักเกณฑ์ของจำเลยที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ลูกจ้างของจำเลยอันเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตของสภาพการจ้างที่ใช้บังคับตามสิทธิและหน้าที่ของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลยุติธรรม จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓)
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางวันทนี เพชร์หลิม โจทก์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ติดราชการ
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share