คำวินิจฉัยที่ 12/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง เนื่องจากที่ดินดังกล่าวรุกล้ำที่สาธารณประโยชน์ (คลองประปา) อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับรองแนวเขตที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยทั้งสามให้การว่า ได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒/๒๕๕๖

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดปทุมธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดปทุมธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นายสุเทพ ศรีกระจ่าง ที่ ๑ พันจ่าอากาศเอก กมล ศรีกระจ่าง ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมธนารักษ์ ที่ ๑ ธนารักษ์พื้นที่ปทุมธานี ที่ ๒ การประปานครหลวงที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดปทุมธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ. ๔๓๖/๒๕๕๓ หมายเลขแดงที่ ๒๓/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๘๖ ตำบลบางพูน (บ้านใหม่) อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๒ โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินแปลงดังกล่าวต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีและได้ทำการรังวัดในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดและเจ้าของที่ดินข้างเคียงลงลายมือชื่อรับรองแนวเขต รวมทั้งจำเลยทั้งสามได้ลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตเช่นกัน ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๒ สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีได้มีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองว่า การครอบรูปแผนที่โฉนดที่ดินเดิมเหลื่อมล้ำที่สาธารณประโยชน์ (คลองประปา) จึงไม่สามารถแบ่งแยกได้ โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามจึงขอให้มีการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินอีกครั้ง โดยกำหนดให้มีการรังวัดในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๒ และเมื่อมีการตรวจสอบแนวเขตใหม่ในวันดังกล่าว จำเลยทั้งสามยินยอมรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองว่ามิได้รุกล้ำคลองประปาแต่อย่างใด ช่างรังวัดทำการคำนวณและขึ้นรูปแผนที่แตกต่างจากรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินเดิม และนำรูปแผนที่ใหม่ครอบรูปแผนที่โฉนดที่ดินเดิมแล้วทับคลองประปา สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีจึงได้มีหนังสือ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ ถึงจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้ทำการตรวจสอบว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองรุกล้ำแนวเขตคลองประปาหรือไม่ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๓ ได้มีหนังสือแจ้งว่า ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในเขตคลองประปาแต่ประการใด และเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้มีหนังสือแจ้งว่า ตรวจสอบรูปแผนที่จากผลการรังวัดของช่างรังวัดสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีรังวัดแล้วปรากฏว่า แนวเขตที่ดินบางส่วนรุกล้ำเขตที่ดินคลองประปา สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีจึงได้ทำการรังวัดใหม่ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ ในการรังวัดครั้งนี้ จำเลยทั้งสามได้คัดค้านแนวเขตที่ดิน ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองมาทำการสอบสวนไกล่เกลี่ย ตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามในการคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง การคัดค้านของจำเลยทั้งสามที่อ้างว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองรุกล้ำคลองประปาเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับรองแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๘๖ ตำบลบางพูล (บ้านใหม่) อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ทางด้านทิศตะวันออกจรดที่ดินคลองประปาให้กับโจทก์ทั้งสอง หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมปฏิบัติตาม โจทก์ทั้งสองขอถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามในการรับรองแนวเขตที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การโดยสรุปว่า ได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายและการกระทำดังกล่าวไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลพิพาทเกี่ยวกับคดีนี้ โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ปกครองดูแลและบำรุงรักษาที่ราชพัสดุทั่วประเทศ รวมถึงคลองประปาและฟ้องจำเลยที่ ๒ ในฐานะเป็นหน่วยงานสังกัดของจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ดูแลและปกครองบำรุงรักษาที่ราชพัสดุที่ตั้งอยู่ในเขตคลองประปาจังหวัดปทุมธานี ฟ้องจำเลยที่ ๓ ในฐานะเป็นผู้ใช้ที่ราชพัสดุคือคลองประปาในเขตจังหวัดปทุมธานี กระทำการโดยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง กรณีคัดค้านการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งสองซึ่งความจริงแล้วที่ดินของโจทก์ทั้งสองมิได้รุกล้ำคลองประปา แต่อย่างใด การคัดค้านของจำเลยทั้งสาม เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองได้ขอยื่นรังวัดเพื่อแบ่งกรรมสิทธิ์รวม แต่จำเลยทั้งสามคัดค้านว่าการนำชี้แนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองนั้นรุกล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดิน อันเป็นคันคลองประปาและถนนเลียบคลองประปาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เห็นว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นที่ราชพัสดุ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่ความต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า หากพิจารณาบทบัญญัติ มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเห็นได้ว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจศาลปกครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น คดีนี้ กรมธนารักษ์ จำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาและพัฒนาที่ราชพัสดุ รวมทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ ตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๕๑ และธนารักษ์พื้นที่ปทุมธานี จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของจำเลยที่ ๑ ส่วนการประปานครหลวง จำเลยที่ ๓ เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และมีวัตถุประสงค์ในการสำรวจจัดหาแหล่งน้ำดิบและจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบเพื่อใช้ในการประปาผลิต การจัดส่งและจำหน่ายน้ำประปาในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ และควบคุมมาตรฐานเกี่ยวกับระบบประปาเอกชนในเขตท้องที่ดังกล่าว รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเป็นประโยชน์แก่การประปานครหลวง ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อีกทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองและดูแลรักษาคลองประปาและเขตคลองประปาตามที่กฎหมายว่าด้วยการรักษาคลองประปากำหนด จำเลยทั้งสามจึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยอ้างว่าแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองรุกล้ำเข้าไปในแนวเขตคลองประปาของจำเลยที่ ๓ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติรักษาคลองประปา พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๕ ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดบริเวณและเขตคลองประปาและบริเวณคลองรับน้ำในเขตการประปานครหลวงและจังหวัดปทุมธานีไว้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลและจัดการที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในกิจการประปา ปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองคลองประปาและคันคลองประปาซึ่งอยู่ในแนวเขตคลองประปาหรือเขตหวงห้ามเพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดทำลายหรือทำให้คันคลองประปาเสียหายตามที่มาตรา ๙ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติรักษาคลองประปา พ.ศ. ๒๕๒๖ กำหนด ดังนั้น การฟ้องว่าจำเลยทั้งสามคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับโดยเพิกถอนการคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับ รวมถึงการสั่งให้จำเลยทั้งสามถือปฏิบัติต่อสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แม้คดีนี้จะมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า แนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้รุกล้ำเข้าไปในคลองประปาเป็นที่ราชพัสดุก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณาในข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายเท่านั้น หามีผลทำให้คดีซึ่งเป็นคดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งไปได้ไม่ และแม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น ศาลปกครองจึงสามารถนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาใช้ในการวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนั้น ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับโดยสั่งให้จำเลยทั้งสามถือปฏิบัติตามสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีการฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงความเป็นอยู่ของสิทธินั้น ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ประกอบกับจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือผู้ทรงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่เป็นเพียงผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดส่งและจำหน่ายน้ำประปาโดยขุดคลองประปาและก่อสร้างคันคลอง และถนนริมคลองประปา รวมทั้งคุ้มครองและดูแลรักษาคลองประปาในเขตคลองประปาเท่านั้น ข้อพิพาทในทำนองนี้ จึงไม่อาจเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินดังเช่นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนทั่วไปเมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไว้ตามนัย มาตรา ๒๒๓ ประกอบกับมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๕๘๖ ตำบลบางพูน (บ้านใหม่) อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา ได้ยื่นคำขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าวต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีโดยมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงรวมทั้งจำเลยทั้งสามได้ลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตในการรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าวด้วย ต่อมา สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีมีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองแจ้งว่าการครอบรูปแผนที่โฉนดที่ดินเดิมเหลื่อมล้ำที่สาธารณประโยชน์ (คลองประปา) จึงไม่สามารถแบ่งแยกได้ โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามจึงขอให้มีการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินอีกครั้ง เมื่อมีการตรวจสอบแนวเขตใหม่ จำเลยทั้งสามยินยอมรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองว่ามิได้รุกล้ำคลองประปาแต่อย่างใด ช่างรังวัดจึงทำการคำนวณและขึ้นรูปแผนที่แตกต่างจากรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินเดิม โดยนำรูปแผนที่ใหม่ครอบรูปแผนที่โฉนดที่ดินเดิมแล้วทับคลองประปา สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีจึงได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำการตรวจสอบว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองรุกล้ำแนวเขตคลองประปาหรือไม่ จำเลยที่ ๓ ได้มีหนังสือแจ้งว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในเขตคลองประปา ส่วนจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้มีหนังสือแจ้งว่า ผลการรังวัดของช่างรังวัดปรากฏว่าแนวเขตที่ดินบางส่วนรุกล้ำเขตที่ดินคลองประปา สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีจึงได้ทำการรังวัดใหม่และการรังวัดครั้งนี้ จำเลยทั้งสามได้คัดค้านแนวเขตที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีจึงได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองมาทำการสอบสวนไกล่เกลี่ย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามในการคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง การคัดค้านของจำเลยทั้งสามที่อ้างว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองรุกล้ำคลองประปาเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับรองแนวเขตที่ดินแปลงดังกล่าว หากไม่ยอมปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม ส่วนจำเลยทั้งสามให้การโดยสรุปว่า ได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายและการกระทำดังกล่าวไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้นศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสุเทพ ศรีกระจ่าง ที่ ๑ พันจ่าอากาศเอก กมล ศรีกระจ่างที่ ๒ โจทก์ กรมธนารักษ์ ที่ ๑ ธนารักษ์พื้นที่ปทุมธานี ที่ ๒ การประปานครหลวงที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ติดราชการ
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share