แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียง ขอให้ใช้ค่าเสียหาย โบนัสเงินเดือน เงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย หรือให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและเงินเดือนที่ไม่น้อยกว่าที่โจทก์ได้รับในขณะถูกเลิกจ้างเมื่อศาลเห็นว่าโจทก์กับจำเลยสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้และใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งไม่ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตามฟ้องให้โจทก์อีกตามความในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ซึ่งให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร ไม่เป็นการพิพากษาไม่ครบตามข้อหาในคำฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเบิกค่าทำงานในวันหยุดกับค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติไม่ถูกต้องตามระเบียบ และตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์กับแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานโดยกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ หลังจากนั้นพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ การที่จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์เสียหายและเสื่องเสียชื่อเสียง ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย โบนัส เงินเดือนจนเกษียณอายุ เงินบำเหน็จค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย หรือให้จำเลยยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างและแต่งตั้งโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไม่น้อยกว่าที่โจทก์ได้รับในขณะถูกเลิกจ้าง
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้องและไม่มีสิทธิขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ก่อนฟ้องโจทก์ไม่ได้ทวงถาม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้กระทำการโดยทุจริตและไม่ได้ทำผิดระเบียบข้อบังคับอันเป็นกรณีร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในสภาพการจ้างและอัตราเงินเดือนไม่น้อยกว่าที่โจทก์ได้รับขณะเลิกจ้าง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่า ที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์โดยอ้างว่าชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบว่าขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือให้ชดใช้เงิน แสดงว่าโจทก์ต้องการขอให้ศาลพิพากษาอย่างใดอยา่งหนึ่งเป็นการพิพากษาไม่ครบตามข้อหาในคำฟ้อง เพราะตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการกำหนดให้จำเลยเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง มิใช่ให้ศาลเลือกพิพากษาอย่างใดอย่างหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ซึ่งบัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไป ฯลฯ ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทน ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้เมื่อศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้วก็มีอำนาจสั่งไม่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์อีกได้
พิพากษายืน