คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1508/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยมาศาลและขออ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน ศาลชั้นต้นได้ให้โจทก์จำเลยสืบพยาน จำเลยเบิกความว่าการชำระหนี้เงินกู้ 30,000 บาทตามเช็คพิพาทเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขว่า หากโจทก์ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โจทก์จึงจะมีสิทธิเรียกร้องจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลย แต่ถ้าโจทก์ได้รับเลือกตั้งจำเลยไม่ต้องคืนเงินกู้ดังกล่าวให้โจทก์ การเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นการเบิกความในข้อที่ไม่ได้เป็นประเด็นในคดี จำเลยจึงสืบพยานในข้อที่ว่าการชำระหนี้เงินกู้ 30,000 บาทตามเช็คพิพาทเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขไม่ได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 69,300 บาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามจำเลยแล้วจำเลยไม่ชำระจึงขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,764 บาท รวมเป็นเงิน 74,064 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 74,064 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 69,300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์และขออ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าเกี่ยวกับเช็คพิพาทหมาย จ.1นี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาตามพระราชบัญญัติความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2955/2527ของศาลชั้นต้นซึ่งในคดีดังกล่าว ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนออกเช็คพิพาทหมาย จ.1 จำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์จำนวน 30,000บาทแล้วออกเช็คชำระหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าวไว้ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์ได้เรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จำเลยจึงออกเช็คพิพาทหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์ไว้ ซึ่งเช็คดังกล่าวได้มีการคิดดอกเบี้ยย้อนหลังในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดดังนั้นเช็คพิพาทหมาย จ.1 จึงมีมูลหนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการนำเอาดอกเบี้ยอันผิดกฎหมายรวมเข้าด้วย แต่เห็นว่าเช็คพิพาทหมาย จ.1 เป็นเช็คออกให้เพื่อชำระหนี้ส่วนหนึ่งเป็นต้นเงินกู้จำนวน 30,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดในฐานะผู้ออกเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900และมาตรา 914 ตามมูลหนี้เงินกู้เดิมจำนวน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน(วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2527) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนานความ 1,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เองเบิกความยอมรับว่าได้ให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 30,000 บาทเป็นการเจือสมคำพยานจำเลย และเป็นการสนับสนุนคำพยานจำเลยให้รับฟังและเชื่อถือได้ทำให้เชื่อได้ว่าการกู้ยืมเงินจำนวน 30,000 บาทดังกล่าวมีเงื่อนไขดังที่จำเลยได้เบิกความเป็นพยานต่อศาล เมื่อเป็นดังนี้จึงทำให้มูลหนี้ดังกล่าวเป็นมูลหนี้มีเงื่อนไขที่ไม่แน่นอน เข้าลักษณะการพนันขันต่อจึงตกเป็นโมฆะโจทก์จึงไม่อาจนำเช็คพิพาทมาฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินได้นั้น เห็นว่าคดีนี้จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยมาศาลและขออ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน ศาลชั้นต้นได้ให้โจทก์จำเลยสืบพยาน เมื่อสืบเสร็จแล้วจึงได้พิพากษาคดีที่จำเลยเบิกความว่าการชำระหนี้เงินกู้ 30,000 บาท ตามเช็คพิพาทเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขว่าหากโจทก์ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โจทก์จึงจะมีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลย แต่ถ้าโจทก์ได้รับเลือกตั้งจำเลยไม่ต้องคืนเงินกู้ดังกล่าวให้โจทก์นั้น เป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้จึงเป็นการเบิกความในข้อที่ไม่ได้เป็นประเด็นในคดี จำเลยจึงสืบพยานในข้อที่ว่า การชำระหนี้เงินกู้ 30,000บาท ตามเช็คพิพาทเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยรับผิดชำระเงิน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share