คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4984/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะถูกแยกฟ้องในความผิดฐานรับของโจรทรัพย์ของผู้เสียหายหลายคนเป็นหลายสำนวน แต่จำเลยรับทรัพย์สินนั้นไว้คราวเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียว แม้โจทก์จะแยกฟ้องจำเลยเป็นหลายสำนวนแต่เมื่อจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานรับของโจรในคดีก่อนแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335,357 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 11 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512 มาตรา 6 และให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญา หมายเลขดำที่ 2896/2530 หมายเลขแดงที่4081/2530 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3105/2530 หมายเลขแดงที่145/2531 ของศาลชั้นต้นด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี ให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่2896/2530 หมายเลขแดงที่ 4081/2530 และคดีอาญาหมายเลขดำที่3105/2530 หมายเลขแดงที่ 145/2531 ของศาลชั้นต้นด้วย ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยรับเอาทรัพย์ของผู้เสียหายแต่ละรายไว้ในคราวเดียวกัน และคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวดังที่จำเลยอุทธรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงไปเลย ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกบดินทร์ ประชากิตติกุล พยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยว่า ร้อยตำรวจเอกบดินทร์จับกุมผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์หรือรับของโจรได้ 3 คน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2530 ผู้ต้องหาดังกล่าวให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วนำทรัพย์ที่ลักมาได้ไปขายให้จำเลยคดีนี้ จึงให้ผู้ต้องหาคนหนึ่งในจำนวนผู้ต้องหาดังกล่าวพาไปที่บ้านจำเลยในวันเดียวกันพบทรัพย์สินจำนวน 13 รายการ ซึ่งจำเลยยอมรับว่าซื้อจากผู้ต้องหาดังกล่าวจริง ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายบันทึกการจับกุมเอกสารหมายป.ล.1 ศาลฎีกาได้ตรวจดูทรัพย์ของกลางทั้ง 13 รายการดังกล่าวแล้วปรากฏว่ามีทรัพย์ของกลางคดีนี้ รวม 10 รายการ ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องรวมอยู่ด้วย ส่วนทรัพย์ของกลางที่เหลืออีก 3 รายการ เป็นทรัพย์ของผู้เสียหายคนอื่นที่จำเลยรับไว้ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อดังกล่าว และโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้รับทรัพย์ของกลางตามเอกสารหมาย ป.ล.1 ไว้ต่างวาระกันข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับทรัพย์ของกลางตามเอกสารหมายป.ล.1 ทั้ง 13 รายการไว้ในคราวเดียวกันแต่โจทก์ได้แยกฟ้องจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรทรัพย์ 13 รายการออกมาเป็นแต่ละสำนวนตามจำนวนผู้เสียหาย ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานรับของโจรในคดีดังกล่าวไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะนำคดีมาฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรเป็นคดีนี้อีก เพราะเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับคดีดังกล่าว และสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยสำหรับความผิดนั้น เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share