คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ และไม่ได้ขอให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีใบอนุญาตขับขี่ที่จะต้องพักใช้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนด 6 เดือน และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน จึงไม่ถูกต้อง เพราะการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคสองนั้น ต้องปรากฏว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ด้วย แม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกาขึ้นมา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยซึ่งปฏิบัติหน้าที่ผู้ประจำรถได้ขับรถบรรทุกหกล้อ หมายเลขทะเบียน 83-1236 สระบุรี ไปตามถนนสายลำปาง-เชียงใหม่ จากจังหวัดเชียงใหม่มุ่งหน้าไปทางจังหวัดสระบุรี ได้เสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถบรรทุกดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เนื่องจากความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ ซึ่งเป็นบทหนักมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถบรรทุกหกล้อไปตามถนนสาธารณะ อาจเกิดอุบัติเหตุทำความเสียหายให้แก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ง่าย พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า ก่อนคดีนี้จำเลยเคยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และศาลได้ให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยมาแล้วถึง 2 คดี แต่จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก แสดงว่าจำเลยไม่เข็ดหลาบหรือรู้สำนึกที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดี แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและจำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวหรือมีเหตุอื่นดังที่อ้างในฎีกา ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ และไม่ได้ขอให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีใบอนุญาตขับขี่ที่จะต้องพักใช้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนด 6 เดือน และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน จึงไม่ถูกต้อง เพราะการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสองนั้น ต้องปรากฏว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ด้วย แม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกาขึ้นมา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งที่ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share