แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบิกความเท็จ แม้บรรยายรายละเอียดว่าข้อความที่เบิกกับความจริงเป็นอย่างไร และว่าเป็นข้อสำคัญของคดีแต่เมื่อไม่ได้บรรยายว่าจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในข้อหาหรือฐานความผิดอะไรข้อความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ประเด็นสำคัญของคดีมีว่าอย่างไรฟ้องโจทก์จึงยังไม่อาจให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ตรวจพิสูจน์เอกสารในคดีหมายเลขแดงที่ 5421/2526 จำเลยเบิกความต่อศาลในคดีหมายเลขแดงที่ 8541/2528คนละคดีกับที่มีการตรวจพิสูจน์ว่า หนังสือนำส่งระบุให้ตรวจพิสูจน์เอกสารเพียง 3 ข้อ มิใช่ 7 ข้อ และจำเลยตรวจพิสูจน์ทุกข้ออันเป็นความเท็จความจริงศาลให้จำเลยตรวจพิสูจน์ 7 ข้อและจำเลยเบิกความว่าคำว่าผู้กู้และผู้ค้ำประกันไม่ได้พิมพ์ในคราวเดียวกับข้อความอื่น ๆ ในเอกสารอันเป็นเท็จ ความจริงพิมพ์คราวเดียวกัน จำเลยเบิกความเท็จในข้อสำคัญในคดีขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอาญาได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทำการตรวจพิสูจน์เอกสาร 7 ข้อ จำเลยเบิกความคนละคดีกับที่มีการตรวจพิสูจน์เอกสารว่า ศาลอาญาแจ้งให้ทำการตรวจพิสูจน์เพียง 3 ข้อ ไม่ใช่ 7 ข้อ และโจทก์มีพยานเอกสารเป็นหลักฐานยืนยันว่าศาลอาญาสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ 7 ข้อฟังได้ว่าจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จ เป็นข้อสำคัญของคดี และโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยเบิกความเท็จเป็นข้อสำคัญของคดีทำให้ศาลเชื่อและพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องนั้น ปัญหาวินิจฉัยมีว่า ฟ้องโจทก์สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) หรือไม่ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบิกความเท็จต่อศาลในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 17967/2527 คดีหมายเลขแดงที่ 8541/2528 ของศาลอาญา โดยบรรยายรายละเอียดข้อความที่เบิก กับความจริงเป็นอย่างไร และว่าเป็นข้อสำคัญของคดี แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในคดีก่อนข้อหาหรือฐานความผิดอะไร ข้อความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ประเด็นสำคัญของคดีมีว่าอย่างไรเห็นว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่อาจให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีถือว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ที่ว่าคดีมีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฎีกาโจทก์ฟ้องไม่ขึ้น”
พิพากษายืน