คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 279/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ในช่วงเกิดเหตุชิงทรัพย์จะเกิดขึ้นรวดเร็วมากและผู้เสียหายไม่รู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อนก็ตาม แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองได้ขับรถจักรยานยนต์ดูผู้เสียหายที่ยืนรอรถโรงเรียนอยู่ถึง 3 วันในช่วงตอนเช้า ดังนั้น การที่ผู้เสียหายได้เห็นคนร้ายก่อนวันเกิดเหตุและในวันเกิดเหตุ ผู้เสียหายย่อมมีโอกาสจดจำคนร้ายได้โดยสามารถระบุตำหนิรูปพรรณคนร้ายให้ ช.ทราบช. พาผู้เสียหายไปดูตัวจำเลยที่ 1ผู้เสียหายก็ยังยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย และเมื่อพิเคราะห์ประกอบกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 กับบันทึกและภาพถ่ายการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธว่าพนักงานสอบสวนได้ทำขึ้นโดยการบังคับขู่เข็ญทำร้ายจำเลยที่ 1เพราะพนักงานสอบสวนไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะปรักปรำจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานโจทก์ย่อมมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1เป็นคนร้ายร่วมกับพวกชิงทรัพย์ผู้เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก2 บาท จำนวน 1 เส้น พร้อมพระเลี่ยมทองคำ จำนวน 1 องค์รวมราคา 9,500 บาท ของนางสาวพยาว์ สุดรัก ผู้เสียหายไปขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339, 340 ตรีและริบของกลาง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 9,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม, 340 ตรี, 83จำคุก 18 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 12 ปี และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำรวมราคา 9,500 บาทที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าตามวันเวลาสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ชายคนร้าย 2 คน ร่วมกันชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท จำนวน 1 เส้น พร้อมพระเลี่ยมทองคำ จำนวน 1 องค์ รวมราคา 9,500 บาทของนางสาวพยาว์ สุดรัก ผู้เสียหายไปโดยทุจริตโดยคนร้ายร่วมกันรัดคอและชกปากผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กาย ในการชิงทรัพย์นั้นคนร้ายร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิดพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นการจับกุมหลังจากเกิดเหตุผู้เสียหายได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้นายชุมพล ภู่บัว ฟัง พร้อมทั้งบอกตำหนิรูปพรรณคนร้าย ต่อมานายชุมพลได้พาผู้เสียหายไปดูตัวจำเลยที่ 1ซึ่งมีอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ในวันที่ 22 ธันวาคม 2537ผู้เสียหายได้พาสิบตำรวจโทสมชัย ฉายดวงฤดีพร ไปที่คิวรถจักรยานยนต์รับจ้างบริเวณปากทางเข้าวัดไพร่ฟ้าและชี้ให้สิบตำรวจโทสมชัยจับกุมจำเลยที่ 1 สิบตำรวจโทสมชัยจับกุมจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อหาว่าร่วมกับพวกชิงทรัพย์ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.5 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า พยานยืนรอรถโรงเรียนนั้นมีรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า สีแดงขาว ขับผ่านพยานไปแล้วกลับรถวกเข้ามาหาพยานอีกครั้งหนึ่ง รถคันดังกล่าวมีคนขับ1 คน และคนซ้อนท้าย 1 คน คนซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้ลงมาดึงสร้อยคอของพยาน และได้ความจากผู้เสียหายตอบอัยการโจทก์ถามติงว่าขณะที่คนซ้อนท้ายและคนขับรถขับผ่านมานั้นเป็นที่ผิดสังเกตพยานจึงก้าวเท้าเข้าบ้าน จากคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวเชื่อได้ว่า ผู้เสียหายได้เห็นคนร้ายอย่างชัดเจนเพราะขณะนั้นเป็นเวลากลางวัน จนผู้เสียหายเห็นความผิดสังเกตของคนร้าย แม้ในช่วงเกิดเหตุชิงทรัพย์เกิดขึ้นรวดเร็วมากและผู้เสียหายไม่รู้จัดจำเลยที่ 1 มาก่อนก็ตาม ก็ไม่มีเหตุสงสัยว่าผู้เสียหายจำคนร้ายไม่ได้ เพราะนอกจากผู้เสียหายจะได้เห็นคนร้ายก่อนลงมือชิงทรัพย์แล้วยังได้ความจากผู้เสียหายอีกว่า สาเหตุที่พยานจำคนร้ายได้เนื่องจากก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองได้ขับรถจักรยานยนต์ดูพยาน ที่พยานยืนรอรถโรงเรียนอยู่ถึง 3 วันในช่วงตอนเช้า ดังนั้นการที่ผู้เสียหายได้เห็นคนร้ายก่อนวันเกิดเหตุ และในวันเกิดเหตุดังกล่าวนั้นผู้เสียหายย่อมมีโอกาสจดจำคนร้ายได้ ผู้เสียหายจึงสามารถระบุตำหนิรูปพรรณคนร้ายให้นายชุมพลทราบ นายชุมพลพาผู้เสียหายไปดูตัวจำเลยที่ 1 และผู้เสียหายได้ยืนยันต่อนายชุมพลว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย แม้จะได้ความว่าผู้เสียหายไปดูตัวจำเลยที่ 1 ประมาณ 2 ถึง 3 ครั้งก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าการไปดูตัวจำเลยที่ 1 ประมาณ 3 ครั้งเป็นเพราะผู้เสียหายไม่แน่ใจว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย กลับได้ความจากผู้เสียหายตอบอัยการโจทก์ถามติงว่า ตอนที่พยานเห็นจำเลยที่ 1 ที่ปากทางบางเดื่อนั้น พยานแน่ใจว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนซ้อนท้ายและชิงสร้อยคอของพยาน ซึ่งแสดงว่า ผู้เสียหายยืนยันแน่ใจว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย การที่ผู้เสียหายไปดูตัวจำเลยที่ 1 อีกจึงไม่เป็นข้อสงสัยว่าผู้เสียหายจะจำคนร้ายไม่ได้ ซึ่งในส่วนนี้ย่อมพิสูจน์ยืนยันได้จากการที่ผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และได้พาสิบตำรวจโทสมชัยไปจับจำเลยที่ 1 โดยผู้เสียหายชี้ตัวให้จับกุม เมื่อผู้เสียหายเป็นผู้ชี้ตัวจำเลยที่ 1 ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมแล้ว กรณีเช่นนี้จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่พันตำรวจโทไพรวัล สิทธิพันธ์พนักงานสอบสวนจะจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยที่ 1 อีก การที่ผู้เสียหายตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานได้พบจำเลยที่ 1ที่สถานีตำรวจภูธรลาดหลุมแก้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเจ้าพนักงานตำรวจให้พยานดูตัวก่อน และครั้งที่ 2 ในวันรุ่งขึ้นให้พยานมาชี้ตัวจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมไม่เป็นข้อสงสัยว่า เจ้าพนักงานตำรวจจัดให้ผู้เสียหายดูจำเลยที่ 1 ก่อนทำการชี้ตัวจำเลยที่ 1 แต่น่าจะเป็นเรื่องที่ทนายจำเลยถามค้านโดยการถามนำเป็นเหตุให้พยานตอบคำถามหลงผิดไปก็ได้ ฉะนั้นพฤติการณ์ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยที่ 1 และเมื่อพิเคราะห์ประกอบกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย ป.จ.6กับบันทึกการชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย ป.จ.8และภาพถ่ายของจำเลยที่ 1 นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพหมายป.จ.9 โดยไม่ปรากฏข้อพิรุธว่าพนักงานสอบสวนได้จัดทำขึ้นโดยการบังคับขู่เข็ญทำร้ายจำเลยที่ 1 เพราะพนักงานสอบสวนไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะปรักปรำจำเลยที่ 1การที่เจ้าพนักงานตำรวจมิได้ติดตามสร้อยคอของผู้เสียหายนั้นมิใช่สาระสำคัญแต่อย่างใด เพราะจำเลยที่ 1 มิได้ระบุว่านำสร้อยคอไปขายให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะเจาะจง ดังนั้นพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวย่อมมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายร่วมกับพวกชิงทรัพย์ของผู้เสียหายที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้อ้างสถานที่อยู่และได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะถูกบังคับขู่เข็ญทำร้ายทรมานเป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้มีการขู่เข็ญทำร้ายทรมานจำเลยที่ 1 โดยจะเห็นได้จากนายตี๋ พัฒนกสิ บิดาจำเลยที่ 1 ได้ไปเยี่ยมจำเลยที่ 1 ทุกวัน ขณะจำเลยที่ 1 ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานที่ตำรวจจำเลยที่ 1 อยู่ในสภาพปกติ แม้นายตี๋จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าเจ้าพนักงานตำรวจตบตี แต่นายตี๋ก็มิได้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงของเจ้าพนักงานตำรวจไว้เป็นหลักฐานแต่อย่างใดในฐานะเป็นบิดาจำเลยที่ 1 นอกจากนั้นข้อต่อสู้ในเรื่องถูกเจ้าพนักงานตำรวจขู่เข็ญทำร้ายทรมานนั้น จำเลยที่ 1 เพิ่งยกขึ้นมาต่อสู้ในชั้นสืบพยานจำเลยเท่านั้น พยานหลักฐานจำเลยที่ 1จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share