คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9244/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผลร้ายเกิดแก่บุคคลอื่นซึ่งเป็นบุคคลที่โจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำร้ายผู้เสียหายและฐานทำร้ายบุคคลอื่นโดยพลาดไป เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยลงโทษได้ทุกบทหรือบทหนึ่งบทใดได้ ดังนั้น ข้อเท็จจริงว่า การกระทำของจำเลยทำให้ผู้ใดได้รับผลร้ายจึงเป็นข้อสำคัญ การที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องว่าผลร้ายเกิดเหตุแก่ผู้เสียหายเท่านั้น จึงเป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ มิใช่ข้อแตกต่างที่เป็นเพียงรายละเอียดที่ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง จึงลงโทษจำเลยฐานทำร้ายบุคคลที่โจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้องมิได้ และเมื่อฐานพยายามกระทำผิดลหุโทษต่อผู้เสียหายไม่ต้องรับโทษ ศาลก็ต้องยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ประกอบมาตรา 60 ปรับ 800 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้แก้วเหล้าสาดใส่หน้าของผู้เสียหายไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแต่กาย แต่ทางพิจารณาปรากฏว่าเหล้าไม่ถูกผู้เสียหายแต่ไปถูกนางพจนีย์ โดยพลาดนั้น ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำตามฟ้องที่ผลร้ายเกิดแก่นางพจนีย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ประกอบมาตรา 60 ได้หรือไม่ คดีมีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งฟังได้ว่าจำเลยใช้เหล้าสาดใส่หน้าของผู้เสียหาย อันเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาที่จะกระทำต่อผู้เสียหาย แต่เมื่อเหล้าไปถูกนางพจนีย์เท่ากับผลของการกระทำเกิดแก่นางพจนีย์โดยพลาดไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายและใช้กำลังทำร้ายนางพจนีย์โดยพลาดไปด้วยซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้ทุกบทหรือจะขอให้ลงโทษเพียงบทใดบทหนึ่งก็ได้ ดังนั้นข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยและทำให้บุคคลใดได้รับผลร้ายจึงเป็นข้อสำคัญ การที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าผลร้ายเกิดแก่ผู้เสียหายเท่านั้น แต่ทางพิจารณาปรากฏว่าผลร้ายเกิดแก่นางพจนีย์ จึงเป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ซึ่งศาลต้องยกฟ้อง มิใช่ข้อแตกต่างที่เป็นเพียงรายละเอียดที่ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง และเมื่อข้อเท็จจริงที่ว่านางพจนีย์ได้รับผลร้ายเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาซึ่งมิได้ปรากฏในคำฟ้องเลย ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นข้อที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง ต้องห้ามมิให้ศาลพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share