แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 โดยในบทเฉพาะกาลตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “บรรดาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติบังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด แต่ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นการบังคับโทษปรับหรือการบังคับให้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาเป็นชั้นของการบังคับคดี ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้” และวรรคสองบัญญัติว่า “การบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สิน และให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา” เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 21 วรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว เห็นว่า บัญญัติไว้ต่างหากในหมวด 5 การบังคับโทษปรับ ส่วนบทเฉพาะกาลตามมาตรา 24 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของศาลซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลนั้น จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน นอกจากนี้ พนักงานอัยการโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 เพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แทนค่าปรับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี ซึ่งเป็นเวลาภายหลัง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว แม้จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาคำพิพากษาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พนักงานอัยการโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 29 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 ตามคำร้องขอของพนักงานอัยการโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกและปรับจำเลยที่ 3 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับจำนวน 5,000,000 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 21 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม… ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 3 ไว้ตลอดชีวิต สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ต่อมาศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 ฟังเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 กระทำผิด 2 กระทง ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกกระทงละ 25 ปี และปรับกระทงละ 2,500,000 บาท รวมจำคุก 50 ปี และปรับ 5,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว แต่จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2552 โจทก์ยื่นคำร้องขอออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2551 โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์การสืบสวนสอบสวนด้วยการใช้เทคนิคการสืบสวนสอบสวนพิเศษกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น การอุทธรณ์ ฎีกาและอายุความ รวมทั้งกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับชำระค่าปรับตามคำพิพากษา เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาและบังคับโทษคดียาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กล่าวคือ นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2551 ในบทเฉพาะกาลตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “บรรดาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด” ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของการอุทธรณ์ฎีกาสำหรับคดียาเสพติดโดยเฉพาะ ทำให้มีคดีคาบเกี่ยวกันระหว่างก่อนและหลังวันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด ฯ มีผลใช้บังคับ จึงจำเป็นต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อขจัดปัญหาสับสนในการอุทธรณ์ฎีกาของคดียาเสพติดที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ แต่ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นการบังคับโทษปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 ซึ่งอยู่ในหมวด 5 การบังคับโทษปรับ ซึ่งมาตรา 21 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้” และวรรคสองบัญญัติว่า “การบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สิน และให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา” เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง และวรรคสองแล้ว เห็นว่า การบังคับโทษปรับหรือการบังคับให้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาเป็นชั้นของการบังคับคดี ซึ่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด ฯ บัญญัติไว้ต่างหากในหมวด 5 การบังคับโทษปรับ ส่วนบทเฉพาะกาลตามมาตรา 24 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของศาลซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลนั้น จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน นอกจากนี้ พนักงานอัยการโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 เพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แทนค่าปรับเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2552 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด ฯ มีผลใช้บังคับแล้ว แม้จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาคำพิพากษาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พนักงานอัยการโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 ตาม คำร้องขอของพนักงานอัยการโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้ออื่นๆ ซึ่งไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง จึงไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน