แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดีได้จะต้องเป็นบุคคลซึ่งได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สำหรับคณะบุคคลเป็นเพียงกลุ่มบุคคล ไม่ใช่บุคคลธรรมดาและไม่ใช่นิติบุคคล จึงไม่อาจเป็นคู่ความในคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 กับพวกประกอบการค้าที่ดินในนามบริษัทกรุงเทพฯ กรีฑา จำกัด ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงเป็นการประกอบการค้าโดยคณะบุคคลกรุงเทพฯ กรีฑา จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่นิติบุคคล มีจำเลยที่ 2เป็นผู้จัดการจำเลยที่ 1 ประกอบการค้าโดยมิได้จดทะเบียนการค้า และไม่ได้เสียภาษีการค้า เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ผู้จัดการชี้แจงและแสดงบัญชีหลักฐานการค้า ปรากฏว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2506 ถึง 2513 จำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มรวม 9,347,300 บาท 72 สตางค์ จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยชำระภาษีเป็นเงิน 4,641,633 บาท 88 สตางค์ แต่จำเลยไม่ยอมชำระขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 ส่วนจำเลยที่ 1สั่งไม่รับฟ้อง อ้างว่ามิได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดี กล่าวคือเป็นผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาลได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(11) ว่า “คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ฯลฯ” และคำว่าบุคคลนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สำหรับคณะบุคคลกรุงเทพฯกรีฑา จำเลยที่ 1 นั้นมิใช่บุคคลธรรมดา เพราะเป็นเพียงคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น และคณะบุคคลกรุงเทพฯ กรีฑา จำเลยที่ 1 ก็มิใช่นิติบุคคลเพราะโจทก์ยอมรับในคำฟ้องอยู่แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 มิใช่บุคคลไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์จึงไม่สามารถฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า คำว่าบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมีความหมายกว้างขวางกว่าคำว่าบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ถึงมาตรา 44 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1734 ถึงมาตรา 1744 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 82 ถึงมาตรา 87 บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนและบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตลอดจนอ้างคำพิพากษาฎีกาว่าตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ก็เป็นคู่ความได้นั้นเห็นว่าไม่ตรงกับรูปเรื่องในคดีนี้เพราะบทบัญญัติดังกล่าวนั้นมิใช่บทบัญญัติว่าด้วยบุคคลโดยตรง หรือที่บัญญัติเกี่ยวด้วยนิติบุคคลเช่นบทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนบริษัทก็บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 1015 ว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจะเป็นนิติบุคคลได้จะต้องจดทะเบียนตามกฎหมายเสียก่อน และคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างว่าตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆก็เป็นคู่ความได้นั้น ก็เป็นเรื่องตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่างหากที่เป็นคู่ความได้ ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อ้างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง (ร.ส.127) พ.ศ. 2451 มาตรา 23 ให้ฟ้องนามสมญาหรือยี่ห้อของหุ้นส่วนได้นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังมิได้อีกเช่นกัน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วย
พิพากษายืน