คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7673/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งซื้อและนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตและส่งออกภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันนำเข้าโดยแสดงความจำนงจะขอคนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ โดยวิธีค้ำประกันรวม44 ครั้ง จำเลยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกัน เมื่อครบกำหนด1 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยนำสินค้ามาผลิตและส่งออกไปเพียงบางส่วนเป็นการผิดเงื่อนไขเจ้าพนักงานของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 ได้ประเมินค่าอากรขาเข้าของสินค้าคงเหลือกับเงินเพิ่มและแจ้งให้ผู้ค้ำประกันนำเงินมาชำระผู้ค้ำประกันได้ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันแล้วซึ่งเงินตามสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับมีจำนวนสูงกว่าค่าอากรขาเข้าที่จำเลยต้องชำระแต่น้อยกว่าค่าอากรและเงินเพิ่มรวมกัน ในการชำระหนี้สินหลายรายที่ถึงกำหนดชำระพร้อมกันดังกล่าวต้องให้รายที่เก่าที่สุดเป็นอันได้ปลดเปลื้องไปก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 328 วรรคสอง แม้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวาวรรคสาม จะบัญญัติให้ถือว่าเงินเพิ่มเป็นเงินอากรแต่หนี้ค่าอากรก็เป็นหนี้ที่มีมาก่อนเงินเพิ่มจึงเป็นหนี้เก่ากว่าหนี้เงินเพิ่ม ดังนี้ หนี้ค่าอากรย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนหนี้เงินเพิ่ม
เงินเพิ่มที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง มิใช่ดอกเบี้ยและไม่อาจถือเป็นดอกเบี้ยได้ จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 มาบังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นนิติบุคคล โดยเป็นกรมในรัฐบาล มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากรตามกฎหมายระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 ถึงวันที่ 30มิถุนายน 2539 จำเลยได้สั่งซื้อและนำสินค้า (วัตถุดิบ) เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้ารวม 44 ครั้ง และแสดงความจำนงขอคืนอากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์สั่งให้จำเลยวางเงินประกันอากรขาเข้าโดยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางประกัน เมื่อจำเลยได้วางประกันดังกล่าวและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงได้ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไป เมื่อครบกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยได้นำสินค้าเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 44ฉบับพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจสอบพบว่าจำเลยกระทำผิดเงื่อนไข โดยสินค้าที่นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0103 0027 4704 และ 0103 0057 2011 จำเลยได้ทำการผลิตและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเพียงบางส่วน ส่วนสินค้าที่นำเข้ามาตามใบขนสินค้าที่เหลืออีก 42 ฉบับ จำเลยมิได้ทำการผลิตและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรการที่จำเลยกระทำผิดเงื่อนไขดังกล่าวจึงถือว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตแต่ไม่ได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันนำเข้านั้นเป็นการนำเข้าสินค้าเข้ามาเพื่อจำหน่ายหรือผลิตเพื่อจำหน่ายภายในราชอาณาจักร จำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นและมีหน้าที่ชำระค่าอากรให้แก่โจทก์ โดยใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 01030027 4704 มีวัตถุดิบคงเหลือจำนวน 49,606.79 กิโลกรัม มีอากรขาเข้าค้างชำระจำนวน2,642,364.65 บาท ใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0103 0057 2011 มีวัตถุดิบคงเหลือจำนวน 25,606.35 กิโลกรัม มีอากรขาเข้าค้างชำระจำนวน 668,775.84 บาท สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าอีก 42 ฉบับ ที่เหลือมีวัตถุดิบคงเหลือเต็มจำนวน จึงมีค่าอากรขาเข้าค้างชำระตามที่เจ้าพนักงานประเมินไว้ นอกจากนี้การที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขและมิได้ชำระเงินค่าอากรขาเข้าขณะนำเข้า จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา ในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินอากรขาเข้าที่ต้องชำระนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจปล่อยสินค้าจนถึงวันที่จำเลยนำเงินมาชำระตามใบขนสินค้าทั้ง 44 ฉบับ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยให้นำเงินมาชำระค่าอากรและเงินเพิ่มดังกล่าวและแจ้งให้ธนาคารผู้ค้ำประกันทราบแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงได้ทวงถามไปยังธนาคารผู้ค้ำประกันเพื่อให้ชำระหนี้แทนจำเลย ธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระเงินตามจำนวนเงินประกันสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 44 ฉบับเมื่อหักเงินประกันที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยยังคงค้างชำระค่าอากรขาเข้าเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 3,976,269.37 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มจำนวน3,976,269.37 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้าที่ค้างชำระ ตามใบขนสินค้าทั้ง 44 ฉบับนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 2,982,776.55บาท คำขออื่นของโจทก์ให้ยก

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 28พฤศจิกายน 2534 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2534 จำเลยสั่งซื้อและนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตและส่งออกภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันนำเข้าโดยแสดงความจำนงจะขอคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิโดยวิธีค้ำประกันรวม 44 ครั้ง จำเลยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยนำสินค้ามาผลิตและส่งออกไปเพียงบางส่วนเป็นการผิดเงื่อนไขเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้ประเมินค่าอากรขาเข้าของสินค้าคงเหลือกับเงินเพิ่มและแจ้งให้ผู้ค้ำประกันนำเงินมาชำระผู้ค้ำประกันได้ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันแล้วซึ่งเงินตามสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับมีจำนวนสูงกว่าค่าอากรขาเข้าที่จำเลยต้องชำระแต่น้อยกว่าค่าอากรและเงินเพิ่มรวมกัน เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 นำเงินไปหักชำระเงินเพิ่มก่อน ส่วนที่เหลือจึงนำไปชำระอากรขาเข้า ซึ่งไม่พอชำระ จำเลยยังคงค้างชำระค่าอากรขาเข้าเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้อง ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลรวมจำนวน 3,976,269.37 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 นำเงินไปหักชำระเงินเพิ่มก่อนชอบหรือไม่ เห็นว่า ในการชำระหนี้สินหลายรายที่ถึงกำหนดชำระพร้อมกันต้องให้รายที่เก่าที่สุดเป็นอันได้ปลดเปลื้องไปก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง แม้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 112 จัตวา วรรคสาม จะบัญญัติให้ถือว่าเงินเพิ่มเป็นเงินอากร แต่หนี้ค่าอากรก็เป็นหนี้ที่มีมาก่อนเงินเพิ่มจึงเป็นหนี้เก่ากว่าหนี้เงินเพิ่ม ดังนี้ หนี้ค่าอากรย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนหนี้เงินเพิ่ม ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เงินเพิ่มเปรียบเสมือนดอกเบี้ยโจทก์ย่อมหักหนี้เงินเพิ่มก่อนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 นั้นเห็นว่า เงินเพิ่มกรณีนี้เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวาวรรคหนึ่ง มิใช่ดอกเบี้ยและไม่อาจถือเป็นดอกเบี้ยได้ จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 มาบังคับได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำเงินประกันไปหักค่าอากรที่จำเลยค้างชำระก่อนชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share