คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 671/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ครอบครองที่ดิน น.ส.3 ก. อันเป็นที่ดินพิพาทมาก่อนทำสัญญาซื้อขายจากจำเลย แต่เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายโดยไม่ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 จำเลยก็กลับเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา แสดงว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญาซื้อขาย การครอบครองของโจทก์ดังกล่าวเป็นการครอบครองแทนจำเลย จำเลยจึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 3404 ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งานจากจำเลยในราคา 20,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญาจำนวน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระให้เสร็จสิ้นในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 การซื้อขายครั้งนี้เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยสละการครอบครองและโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผย เจตนายึดถือเพื่อตนอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลาปีเศษแล้ว ต่อมาประมาณเดือนพฤษภาคม 2541 จำเลยห้ามโจทก์และบริวารไม่ให้เข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท และนำความแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยไปทำการโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทางทะเบียนหากจำเลยไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยในวันทำสัญญาโจทก์วางเงินมัดจำค่าที่ดินพิพาทให้จำเลยก่อน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจะนำมาจ่ายให้ในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 แต่เมื่อถึงกำหนดโจทก์ไม่นำเงินมาชำระ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงริบมัดจำ จำเลยไม่เคยสละสิทธิครอบครองและไม่เคยส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ โดยยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 3404 เลขที่ดิน 74 ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยตกลงขายที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 3404 ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้โจทก์ในราคา 20,000 บาท ชำระเงินมัดจำในวันทำสัญญาจำนวน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระเงินในวันที่ 10 มิถุนายน 2540และโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนทำสัญญาซื้อขาย เมื่อตกลงทำสัญญาซื้อขายแล้วจำเลยก็ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่จำเลยได้กลับเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาซื้อที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ได้ชำระเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โดยไม่ได้ทำหลักฐานกันไว้ เพียงแต่อ้างว่ามีพยานบุคคลรู้เห็น แต่โจทก์มิได้นำพยานบุคคลที่รู้เห็นมานำสืบ ส่วนจำเลยอ้างตนเองนางสุนา ยุระตาและนายสวัสดิ์ วงศ์เจริญ เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ยังไม่ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือภายในกำหนดตามสัญญา หลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้วโจทก์จึงมาขอชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือแต่จำเลยไม่ยินยอมเห็นว่า พยานจำเลยโดยเฉพาะนายสวัสดิ์เป็นผู้ใหญ่บ้านในตำบลซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่เบิกความได้น่าเชื่อถือ ส่วนพยานโจทก์เบิกความลอย ๆ และโจทก์ไม่ได้นำพยานที่รู้เห็นการชำระเงินค่าที่ดินมาเบิกความ พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือน้อยกว่าพยานจำเลย รูปคดีน่าเชื่อว่าโจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าที่ดินที่ค้างอยู่โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เห็นว่า แม้โจทก์จะเคยครอบครองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 3404 อันเป็นที่ดินพิพาทมาก่อน แต่เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท โดยไม่ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 จำเลยก็กลับเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา แสดงว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท การครอบครองของโจทก์ดังกล่าวเป็นการครอบครองแทนจำเลย จำเลยจึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของโจทก์นั้น ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share