คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4962/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันแล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อติดต่อกันเกินกว่า 2 งวด โจทก์จึงยึดรถที่เช่าซื้อคืน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า ความรับผิดของจำเลยทั้งสองมีไม่ถึงจำนวนที่โจทก์เรียกร้อง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเพียงใด การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและปัญหานี้มิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นอ้างได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ส่วนนี้จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ รุ่น 850 จากโจทก์ไปในราคา 1,431,027.84 บาท ตกลงชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 29,813.08 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มอีกงวดละ 2,086.92 บาทรวมเป็นเงิน 31,900 บาท ภายในวันที่ 28 ของแต่ละเดือน รวม 48 งวด ชำระงวดแรกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระตั้งแต่งวดที่ 16 ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ติดต่อกันตลอดมาเกินกว่า 2 งวด ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2541 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนได้สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันในวันดังกล่าว โจทก์นำรถยนต์ออกขายทอดตลาดได้ราคาเพียง686,800 บาท ราคารถยนต์ยังขาดไปจากราคาค่าเช่าซื้ออีก 249,565 บาท และการที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์ในระหว่างผิดนัด จนถึงวันที่โจทก์ยึดรถคืนเป็นเวลา 5 เดือน ทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจใช้รถยนต์ในระหว่างเวลาดังกล่าวได้จึงขอคิดค่าขาดประโยชน์เดือนละ 10,000 บาท เป็นเงิน 50,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 299,565 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 299,565 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า ค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นราคารถยนต์กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ที่โจทก์คิดไว้ล่วงหน้าตลอดระยะเวลาที่กำหนดให้ชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 15 งวด เมื่อรวมกับเงินดาวน์ที่ชำระแล้ว ราคารถยนต์ยังขาดอยู่ประมาณ 750,000 บาท ซึ่งโจทก์ควรขายรถยนต์ได้ในราคาดังกล่าว แต่โจทก์ขายในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โจทก์จึงไม่เสียหายไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคา จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์โดยมิได้ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 3 เดือน 15 วัน คิดค่าเสียหายเป็นเงินเพียง17,390 บาท หากจำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์ก็ไม่ควรเกินจำนวนดังกล่าวขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 97,066 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 37,066 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์จำนวน 37,066 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องจากโจทก์ในราคา 1,431,027.84 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด งวดละ 31,900 บาท ต่อเดือนงวดแรกชำระวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 28 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าซื้อและหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจากโจทก์และชำระค่าเช่าซื้อเรื่อยมา ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ติดต่อกันเกินกว่า 2 งวด โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2541 ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและใบตอบรับทางไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11โจทก์ยึดรถยนต์คืนได้จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2541 ตามบันทึกการตรวจสภาพรถเอกสารหมาย จ.12 โจทก์นำออกขายได้เงิน 686,800 บาท ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.13

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ จำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญานั้นเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมแล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อติดต่อกันเกินกว่า 2 งวด โจทก์จึงยึดรถที่เช่าซื้อคืนเพราะเหตุดังกล่าว ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายตามฟ้องจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า ความรับผิดของจำเลยทั้งสองมีไม่ถึงจำนวนที่โจทก์เรียกร้องเท่านั้น คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเพียงใด ส่วนในเรื่องจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การถึงจึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อโจทก์ยึดรถที่เช่าซื้อคืนเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อติดต่อกันเกิน 2 งวด ทั้งการยึดรถที่เช่าซื้อคืนถือเป็นการบอกเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 อย่างหนึ่ง โดยไม่จำต้องยกเลิกสัญญาเป็นหนังสือแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความรับกันแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ว่า โจทก์จำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคา จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และปัญหานี้มิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นอ้างได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ส่วนนี้จึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่ารถยนต์ที่ขาดอยู่เป็นเงิน 60,000บาท เมื่อรวมกับค่าขาดประโยชน์จำนวน 37,066 บาทแล้ว เป็นเงิน 97,066 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 37,066 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share