คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4937/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ที่บัญญัติว่าถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร์ ท่าว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทนนั้น มีความหมายว่าที่ดินเดิมก่อนมีการแบ่งแยกมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว แต่เพราะเหตุที่มีการแบ่งแยก เป็นหลายแปลงทำให้ที่ดินบางแปลงไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ได้เลยหากที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันนั้น แม้ไม่มี ทางออกสู่ทางสาธารณะเดิมก่อนมีการแบ่งแยก แต่ก็ยังมีทางออก สู่ทางสาธารณะในทางอื่นด้วยแล้วเช่นนี้ ก็ถือไม่ได้ว่าทีดินแปลงที่แบ่งแยกนั้นไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอันจะนำบทบัญญัติในมาตรา 1350 ดังกล่าวมาใช้บังคับได้ คดีนี้แม้จำเลยจะให้การรับว่าที่ดินโจทก์หลังจากแบ่งแยกแล้วทำให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ไว้โดยชัดแจ้งด้วยว่า โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะทางด้านทิศใต้ โดยผ่านที่ดินของ ท.และเป็นทางที่ ม.เจ้าของที่ดินเดิมตลอดจนบิดามารดาโจทก์ใช้เป็นเส้นทาง เข้าออกมาโดยตลอดทั้งเป็นทางที่สะดวกและเหมาะสมกว่าทางอื่นซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่จำเลยให้การแล้ว ย่อมแสดงว่าที่ดินโจทก์หลังการแบ่งแยกแล้ว หาได้ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะดังที่โจทก์ฟ้องไม่ ศาลชั้นต้นงดสืบพยานและพิพากษาให้จำเลยเปิดทางจำเป็นโดยกำหนดความกว้างให้ 3.25 เมตร โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุใดศาลชั้นต้นจึงกำหนดเช่นนั้น และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสามบังคับไว้ว่า ทางจำเป็นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิผ่านกับให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่จะต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีกรณีจึงต้องให้คู่ความนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและพิพากษาคดีดังกล่าวมา จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 4376 โดยมารดายกให้ เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นของนางม้วน คงมีสุข ภายหลังจากที่นางม้วน แบ่งหักเป็นทางหลวงสายอยุธยา-อ่างทอง แล้ว ได้แบ่งขายส่วนที่ติดทางหลวงให้แก่นางฉลวย เกิดสมบุญ เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน12 ตารางวา โดยแบ่งแยกออกเป็นโฉนดใหม่เลขที่ 9890 ต่อมานางฉลวยยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางสาวบุบผา แย้งนารี และจำเลย ต่อมามีการแบ่งแยกกัน โดยส่วนของจำเลยแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 15704 และของนางสาวบุบผาคือโฉนดเลขที่ 9890 เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ที่มารดารับมรดกมาจากนางม้วนถูกที่ดินของจำเลยซึ่งเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันและแบ่งแยกออกไปปิดล้อมอยู่ ซึ่งจะต้องใช้รถบรรทุกสิบล้อขนวัสดุก่อสร้างเข้าที่ดินของโจทก์ และเมื่อปลูกบ้านเสร็จแล้วจำเป็นต้องใช้รถยนต์แล่นเข้าออก ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางจำเป็นกว้าง 3 วา ยาวตลอดแนวที่ดินของจำเลยตั้งแต่ทิศตะวันตกจรดทางทิศตะวันออกตามแนวด้านทางทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 15704 ของจำเลยให้จำเลยรื้อถอนรั้วและตัดฟันต้นไม้ออกให้โจทก์ใช้ทางได้สะดวก หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาสั่งให้โจทก์รื้อถอนรั้วและตัดต้นไม้ได้เอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอ่างทองจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินของจำเลยดังกล่าว
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 15704เนื้อที่ 2 งาน 56 ตารางวา ซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 9890อันเป็นที่ดินแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4376 ของโจทก์ซึ่งเดิมเป็นของนางม้วน ยายของโจทก์ ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกมีทางออกสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินของนางทองคำได้อยู่แล้วการที่โจทก์ขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นกว้าง 3 วา ตลาดแนวที่ดินของจำเลยซึ่งกว้าง 6 วาเศษ จากทิศตะวันออกไปสู่ทางทิศตะวันตก จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินของจำเลยเป็นอย่างมาก ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือไม่สามารถปลูกสร้างบ้านได้ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่เพียงใด และคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า ที่ดินของโจทก์และของจำเลยเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันซึ่งเป็นของนางม้วน ต่อมาได้แบ่งแยกและโอนที่ดินกันทำให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ต่อมาคู่ความต่างยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยเปิดทางจำเป็นกว้าง 3.25 เมตร ทางทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 15704 ของจำเลย โดยนับจากทิศตะวันออกตรงบริเวณที่ติดกับที่ดินโจทก์เป็นต้นไปจรดทิศตะวันตกของที่ดินจำเลยดังกล่าวตามรูปแผนที่เอกสารท้ายฟ้องเลข 2 เพื่อโจทก์ผ่านออกสู่ทางสาธารณะ หากมีรั้ว หรือสิ่งอื่นใดกีดขวางในบริเวณทางที่ขอเปิดให้จำเลยรื้อถอนออกไป ส่วนคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 4376, 9890 และ 15704 ตำบลโพสะอำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นที่ดินแปลงเดียวกันซึ่งมีนางม้วน คงมีสุข ยายของโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ดินดังกล่าวอยู่ติดกับถนนโดยนางม้วนได้ยกที่ดินบางส่วนให้ทำเป็นถนนตามทางหลวงแผ่นดินสายอยุธยา-อ่างทอง ต่อมานางม้วนได้แบ่งขายที่ดินด้านทิศตะวันออกซึ่งอยู่ติดกับทางหลวงสายอยุธยา-อ่างทอง เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 12 ตารางวา ให้แก่นางฉลวย เกิดสมบุญ มารดาจำเลย เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2532 นางฉลวยได้ยกที่ดินด้านทิศเหนือให้แก่นางบุปผา เกิดสมบุญ ด้านทิศใต้ให้แก่จำเลยเนื้อที่คนละเท่า ๆ กัน นางบุปผาและจำเลยได้ขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตน ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9890 และ 15704 ตำบลโพสะ อำเภอเมืองอ่างทองจังหวัดอ่างทอง ที่ดินส่วนที่เป็นของนางม้วนตกเป็นมรดกแก่นางสงัด ปราณี มารดาโจทก์ ต่อมานางสงัดได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จากการแบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่ออกเป็นแปลงเล็ก ๆ หลายแปลงเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถออกไปสู่ทางหลวงสายอยุธยา-อ่างทองซึ่งเป็นทางสาธารณะได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ที่บัญญัติว่า “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน” นั้น มีความหมายว่า ที่ดินเดิมก่อนมีการแบ่งแยกมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว แต่เพราะเหตุมีการแบ่งแยกเป็นหลายแปลงทำให้ที่ดินบางแปลงไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เลยหากที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันนั้น แม้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเดิมก่อนมีการแบ่งแยก แต่ก็ยังมีทางออกสู่ทางสาธารณะในทางอื่นด้วยแล้วเช่นนี้ ก็ถือไม่ได้ว่าที่ดินแปลงที่แบ่งแยกนั้นไม่มีทางออกสู่ทางสาาธารณะอันจะนำบทบัญญัติในมาตรา 1350 ดังกล่าวมาใช้บังคับได้ คดีนี้แม้จำเลยจะให้การรับว่าที่ดินโจทก์หลังจากแบ่งแยกแล้ว ทำให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะคือทางหลวงสายอยุธยา-อ่างทองแต่จำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ไว้โดยชัดแจ้งด้วยว่า โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะทางด้านทิศใต้โดยผ่านที่ดินของนางทองคำ พูลทรัพย์และเป็นทางที่นางม้วนเจ้าของที่ดินเดิมตลอดจนบิดามารดาโจทก์ใช้เป็นเส้นทางเข้าออกมาโดยตลอด ทั้งเป็นทางที่สะดวกและเหมาะสมกว่าทางอื่น ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่จำเลยให้การแล้วแสดงว่าที่ดินโจทก์หลังการแบ่งแยกแล้ว หาได้ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะดังที่โจทก์ฟ้องไม่ นอกจากนี้การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางจำเป็นโดยกำหนดความกว้างให้ 3.25 เมตร นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุใดศาลชั้นต้นจึงกำหนดเช่นนั้น ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม บังคับไว้ว่าทางจำเป็นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิผ่านกับให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นไปซึ่งล้วนแล้วแต่จะต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีทั้งสิ้น กรณีจึงต้องให้คู่ความนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและพิพากษาคดีมานั้นเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายืน

Share