คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งห้าแม้เรียงกระทงลงโทษแล้วก็คงให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งห้าและหากจะฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำทารุณโหดร้ายต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา289(5)ก็ตามศาลฎีกาก็ไม่อาจจะวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลล่างเป็นอย่างอื่นให้ลงโทษหนักไปกว่านี้ได้ดังนั้นการที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำทารุณโหดร้ายจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคแรกประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะที่จำเลยทั้งห้ากระทำผิดพฤติการณ์ที่จ.และต. เบิกความถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าจะเกิดเหตุว่าจำเลยที่1ถึงที่5มาร่วมดื่มสุราด้วยกันที่บ้านของพยานส่วนบ. เบิกความว่าวันเกิดเหตุเวลา15นาฬิกาจำเลยที่1ถึงที่4ไปหาพยานที่บ้านแล้วบอกให้พยานล้างรถให้เพราะในรถเปื้อนเลือดและอ. กับส. เบิกความว่าเย็นวันเกิดเหตุจำเลยที่2ขับรถกระบะที่ได้จากการปล้นพาจำเลยที่1ไปที่บ้านบอกว่าได้ฆ่าคนมา5คนขอให้อ. ช่วยขายรถคันดังกล่าวให้ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์หลังเกิดเหตุแล้วเป็นคำบอกเล่าของจำเลยที่อาจให้ยันจำเลยได้อยู่แล้วเพราะตามธรรมดาบุคคลทั่วๆไปย่อมจะไม่กล่าวความใดอันทำให้ตนเสียหายเมื่อมีการบอกเล่าเช่นนั้นก็ย่อมสันนิษฐานได้ว่าคำบอกเล่านั้นเป็นจริงแต่มิใช่เรื่องที่จำนนต่อหลักฐานดังที่โจทก์ฎีกาฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองลดโทษให้แก่จำเลยทั้งห้ามานั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,83, 91, 93, 199, 288, 289, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิและริบอาวุธมีดให้จำเลยทั้งห้าคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน471,200 บาท แก่ผู้เสียหาย และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4)(7), 340 วรรคท้าย, 199 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4)(7), 340 วรรคท้าย, 340 ตรี,199 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับเพื่อจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การกระทำความผิดอื่นและเพื่อปกปิดความผิดอื่น เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งห้าฐานช่วยซ่อนเร้นย้ายศพ จำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ1 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนโดยเปิดเผย ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 3และที่ 4 คนละ 6 เดือน ฐานพาอาวุธมีดปรับจำเลยที่ 4 เป็นเงิน100 บาท รวมแล้วคงลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งห้า และปรับจำเลยที่ 4 เป็นเงิน 100 บาท จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งห้าทำให้ทราบว่าจำเลยทั้งห้าผู้ใดได้กระทำความผิดอย่างไรบ้างโดยไม่มีผู้อื่นเห็นการกระทำของจำเลยทั้งห้า จึงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(2) คงให้จำคุกจำเลยทั้งห้าไว้ตลอดชีวิต และปรับจำเลยที่ 4 เป็นเงิน 50 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 471,200 บาทแก่ผู้เสียหายคำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยการกระทำทารุณโหดร้ายด้วยและขอให้ลงโทษสถานหนัก
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำทารุณโหดร้ายหรือไม่และควรลดโทษให้แก่จำเลยทั้งห้าหรือไม่
ปัญหาแรกนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งห้าแม้เรียงกระทงลงโทษแล้วก็คงให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งห้า และแม้จะฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำทารุณโหดร้ายต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(5) ก็ตาม ศาลฎีกาก็ไม่อาจจะวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลล่างเป็นอย่างอื่นให้ลงโทษหนักไปกว่านี้ได้ดังนั้น ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ศาลฎีกา ไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าสถานหนักโดยไม่ลดโทษให้นั้นได้ความในทางพิจารณาว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะที่จำเลยทั้งห้ากระทำผิด พฤติการณ์ที่นางจำนงค์ ลักษณะมีศรีและเด็กชายจิตติพงษ์ ลักษณะมีศรี เบิกความเป็นเหตุการณ์ก่อนหน้าจะเกิดเหตุซึ่งรู้เห็นเพียงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มาร่วมดื่มสุราด้วยกันที่บ้านของพยาน นายบุญทิ้ง พูลทอง เบิกความว่าเวลา15 นาฬิกาของวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไปหาพยานที่บ้านโดยจำเลยที่ 2 เป็นคนขับรถกระบะของกลางแล้วบอกให้พยานล้างรถให้เพราะในรถเปื้อนเลือดก็ดี สิบเอกอร่าม ปิ่นเงินนายสมชายหรือหยวก โตเกิด เบิกความว่าเย็นวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถกระบะของกลางพาจำเลยที่ 1 ไปที่บ้านบอกว่าได้ฆ่าคนมา 5 คน โดยร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้รถกระบะคันดังกล่าวมา ขอให้สิบเอกอร่ามช่วยขายรถคันดังกล่าวให้ก็ดีนั้น ล้วนเป็นข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์หลังเกิดเหตุแล้ว ซึ่งเป็นคำบอกเล่าของจำเลยที่อาจใช้ยันจำเลยได้อยู่แล้ว เพราะตามธรรมดาบุคคลทั่ว ๆ ไปย่อมจะไม่กล่าวความใดอันทำให้ตนเสียหายเมื่อมีการบอกเล่าเช่นนั้น ก็ย่อมสันนิษฐานได้ว่าคำบอกเล่านั้นเป็นจริง แต่มิใช่เรื่องที่จำนนต่อหลักฐานดังที่โจทก์ฎีกา ฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองลดโทษให้แก่จำเลยทั้งห้ามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share