คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19347/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 33 บัญญัติหน้าที่ของผู้ส่งของที่ต้องทำก่อนและขณะส่งมอบของที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตรายได้ให้แก่ผู้ขนส่ง คือ ต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายตามสมควรเพื่อให้รู้ว่าของนั้นมีอันตราย และเมื่อส่งของนั้นให้แก่ผู้ขนส่งต้องแจ้งให้ผู้ขนส่งทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น
สินค้าพิพาทบรรจุลงในกล่องกระดาษ ข้างกล่องมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อสินค้า มีสติกเกอร์ที่แสดงว่าเป็นสารเคมีและแสดงอัตราความเป็นกรด ชื่อของสารเคมีปรากฏในใบเสนอราคา ใบกำกับสินค้า ที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์เพื่อใช้ประกอบในการดำเนินพิธีการศุลกากรขาออกและตามใบขนสินค้าขาออก อยู่ในวิสัยที่โจทก์ในฐานะผู้ประกอบกิจการขนส่งจะรู้ว่าเป็นสินค้าที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตราย หลังจากโจทก์รับสินค้าแล้ว พนักงานของโจทก์จะนำสินค้าไปบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ ตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็นแบบ Less than container load – LCL บรรจุสินค้ารวมกับสินค้าของบุคคลอื่นอีกหลายราย ในกรณีขนส่งสินค้าอันตรายขาออกการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีการวางระเบียบวิธีปฏิบัติเป็นพิเศษในการขนส่งสินค้าอันตรายไว้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้รับจ้างขนส่งแบบบรรจุสินค้าไม่เต็มตู้ที่จะต้องจัดการติดป้ายและเครื่องหมายที่ตู้สินค้าให้ชัดเจน แม้จำเลยที่ 2 จะแจ้งว่าสินค้าพิพาทไม่ใช่สินค้าอันตราย ก็ไม่อาจถือเป็นเหตุให้โจทก์ปัดความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบกิจการเช่นนี้ได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีส่วนผิดที่ไม่แจ้งว่าสินค้าพิพาทเป็นสินค้าอันตราย โจทก์จึงไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการจัดการขนส่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 จึงเห็นควรให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,541,343 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 759,538.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 316,599 ดอลลาร์ฮ่องกง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ตุลาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากชำระเป็นเงินไทยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน แต่ต้นเงินที่คิดเป็นเงินไทยต้องไม่เกิน 1,541,343 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการนำเข้า ติดตั้ง จำหน่ายเคมีตรวจสอบสารพิษ สารระเหย สารตกค้าง และสั่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศซึ่งสินค้าตามที่กำหนดในวัตถุประสงค์ตามหนังสือรับรอง เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ขนส่งกรดฟอสฟอริก เออาร์ “เจเอชดี” (Phosphoric Acid AR “JHD”) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการกัดกร่อน (Corrosive Substances) ที่บรรจุในขวดแก้ว ขวดละ 2.5 ลิตร กล่องละ 4 ขวด รวม 740 ขวด 185 กล่อง น้ำหนักรวม 3,330 กิโลกรัม ตามใบเสนอราคา และใบกำกับสินค้า ที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อใช้ประกอบในการดำเนินพิธีการศุลกากรขาออกตามใบขนสินค้าขาออก ส่วนการขนส่งทางทะเลด้วยเรือนั้น โจทก์ว่าจ้างเรือวันไฮ 162 ขนส่งจากท่าเรือกรุงเทพไปส่งมอบแก่บริษัทกวางตุ้ง กวางโจว เคมิคอล แฟคทอรี จำกัด ผู้รับตราส่งที่เมืองกวางโจว โดยมีบริษัทแปซิฟิคท็อป ชิปปิ้ง จำกัด เป็นตัวแทนของโจทก์ในการประสานงานกับผู้รับตราส่งที่ท่าเรือกวางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 7 มิถุนายน 2553 โจทก์ส่งรถบรรทุกไปรับสินค้าทั้ง 185 กล่อง จากโกดังของจำเลยที่ 1 นำไปจัดวางในตู้สินค้าหมายเลข WHLU 5468910 ที่ท่าเรือกรุงเทพรวมกับสินค้าของผู้อื่น แล้วปิดผนึกตู้ และโจทก์ในฐานะผู้ขนส่งทางทะเลได้ออกใบตราส่ง (Ocean – Bill of Lading) ให้จำเลยที่ 1 ก่อนการขนส่ง จำเลยที่ 2 แจ้งโจทก์ว่าสินค้าดังกล่าวไม่ใช่วัตถุอันตราย โจทก์จึงขนส่งอย่างสินค้าทั่วไป และส่งมอบให้เรือวันไฮ 162 บรรทุกลงเรือเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เรือออกเดินทางไปยังท่าเรือในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงถึงเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 เจ้าหน้าที่การท่าเรือของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ยกขนตู้สินค้าดังกล่าวเพื่อเปิดเอาสินค้าออกไปบรรทุกลงเรือลำใหม่ เมื่อเปิดตู้สินค้าดังกล่าวมีของเหลวจากขวดบรรจุสารเคมีที่แตกรั่วไหลถูกเจ้าหน้าที่ที่กำลังขนถ่ายสินค้าได้รับบาดเจ็บ ต้องระงับการขนถ่าย โจทก์จึงแจ้งเพื่อให้จำเลยที่ 1 ยินยอมให้ตัวแทนของโจทก์กำจัดสารเคมีดังกล่าว ตัวแทนของโจทก์ได้ทำลายสารเคมีดังกล่าวทั้งหมด ต่อมาบริษัทตัวแทนของโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทฟอเอฟเวอร์ ไบรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์สารเคมีดังกล่าว โดยบริษัทเดลต้า มารีน เซอร์วิส จำกัด ผู้ได้รับมอบหมายจากบริษัทฟอเอฟเวอร์ ไบรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รายงานผลว่า เป็นสินค้าอันตรายมากในกรณีสัมผัสกับผิวหนัง ดวงตา ซึมเข้าผิวหนัง การสัมผัสกับผิวหนังอาจทำให้เกิดแผลไหม้ การสูดดมละอองทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจ การรับสารนี้เกินขนาดอาจเสียชีวิตได้ ลักษณะการบรรจุสินค้าในกล่องและในตู้สินค้า คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์จึงยุติตามคำพิพากษาศาลดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด และโจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้งหรือไม่ เพียงใด ซึ่งจะได้วินิจฉัยรวมกันไป ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติของสินค้า จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าสินค้าดังกล่าวมีคุณสมบัติอย่างไร แต่ก็ได้ขวนขวายหาข้อมูลและคำแนะนำโดยส่งคุณลักษณะของสินค้าตาม ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจึงได้ผล ว่าเป็นวัตถุไม่อันตราย โจทก์ในฐานะผู้รับจ้างขนส่งสินค้าจึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องดำเนินการขนส่งสินค้าไม่ให้เกิดความเสียหายนั้น เห็นว่า การขนส่งสินค้าพิพาทเป็นการขนส่งที่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ซึ่งตามมาตรา 33 บัญญัติหน้าที่ของผู้ส่งของ คือ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ส่งของมีหน้าที่ 2 ประการ ที่ต้องทำก่อนและขณะส่งมอบของที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตรายได้ให้แก่ผู้ขนส่ง กล่าวคือ 1) จำเลยที่ 1 ต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายตามสมควรเพื่อให้รู้ว่าของนั้นมีอันตราย และ 2) เมื่อส่งของนั้นให้แก่ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 ต้องแจ้งให้ผู้ขนส่งทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น และในกรณีที่ผู้ขนส่งร้องขอ จำเลยที่ 1 ต้องแจ้งข้อควรระวังและวิธีป้องกันอันตรายให้ผู้ขนส่งทราบด้วย ซึ่งถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 ดังกล่าว และผู้ขนส่งไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และผู้ขนส่งก็จะเป็นไปตามมาตรา 34 ที่บัญญัติว่า “ถ้าผู้ส่งของไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 และผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น สิทธิและหน้าที่ของผู้ส่งของ ผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งอื่นมีดังต่อไปนี้ (1) ไม่ว่าเวลาใด ๆ ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นอาจขนถ่ายของนั้นขึ้นจากเรือ ทำลาย หรือทำให้หมดฤทธิ์ ตามความจำเป็นแห่งกรณี โดยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (2) ผู้ส่งของยังคงต้องรับผิดในความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายทั้งปวงอันเกิดขึ้นหรือเป็นผลเนื่องจากการขนส่งของนั้น นอกจากค่าใช้จ่ายตาม (1)” จำเลยที่ 2 เบิกความว่า สินค้าพิพาทบรรจุในขวด มีสติกเกอร์ติดที่ขวดว่าเป็นสารเคมี บรรจุลงในกล่องกระดาษ ข้างกล่องมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อสินค้า มีสติกเกอร์ที่แสดงว่าเป็นสารเคมี และแสดงอัตราความเป็นกรด โจทก์มิได้นำสืบหรือนำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ทั้งเมื่อพิจารณาภาพถ่ายแล้ว ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าที่กล่องกระดาษซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอกได้มีการติดป้ายหรือเครื่องหมายแสดงสภาพอันก่อให้เกิดอันตรายได้ไว้แล้ว และจากการที่ชื่อของสารเคมีตามที่จำเลยที่ 2 เบิกความดังกล่าวกับที่ปรากฏในใบเสนอราคา ใบกำกับสินค้า จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อใช้ประกอบในการดำเนินพิธีการศุลกากรขาออกและตามใบขนสินค้าขาออก ที่โจทก์เป็นผู้รับดำเนินการก็ปรากฏชื่อของสารเคมีดังกล่าวว่า Phosphoric และมีคำว่า Acid ซึ่งหมายถึง กรด อยู่ด้วย ตรงกับชื่อในการขนส่งสินค้าอันตรายตาม International Maritime Dangerous Goods Code 2010 UN No. 1805 ว่า Phosphoric Acid Solution อยู่ใน Class 8 Corrosive Substances ซึ่งหมายถึง สารกัดกร่อน เชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่โจทก์ในฐานะผู้ประกอบกิจการขนส่งจะรู้ความหมายได้ว่าเป็นสินค้าที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตรายได้หรือไม่ จะต้องจัดการและเตรียมการเพื่อการขนส่งสินค้าพิพาทต่อไปอย่างไร นายเทอดศักดิ์ พนักงานขาย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์กับนายโอชิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศของโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านและเบิกความตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงตามลำดับว่า หลังจากโจทก์รับสินค้าแล้ว พนักงานของโจทก์จะนำสินค้าไปบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ ตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็นแบบ Less than container load – LCL บรรจุสินค้ารวมกับสินค้าของบุคคลอื่นอีกหลายราย และจะต้องไปแวะที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงก่อนจึงจะไปกวางโจว ซึ่งในการขนส่งสินค้าอันตรายนั้น นางพัชรี ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกควบคุมสินค้าอันตราย การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นพยานโจทก์เบิกความว่า ต้องเป็นไปตามระเบียบของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าอันตรายของการท่าเรือกรุงเทพ พ.ศ.2550 ซึ่งสอดคล้องกับประมวลข้อบังคับว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายทางทะเล (International Maritime Dangerous Goods Code 2010) ในกรณีขนส่งสินค้าอันตรายขาออกนั้น ตามระเบียบการท่าเรือแห่งประเทศไทย หมวด 3 สินค้าอันตรายขาออก และหมวด 8 ข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าอันตราย ได้มีการวางระเบียบวิธีปฏิบัติเป็นพิเศษในการขนส่งสินค้าอันตรายไว้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้รับจ้างขนส่งแบบบรรจุสินค้าไม่เต็มตู้ที่จะต้องจัดการติดป้ายและเครื่องหมายที่ตู้สินค้าให้ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อมีการนำสินค้าพิพาทที่รับมาจากจำเลยที่ 1 เข้าจัดเรียงในตู้สินค้ารวมกับสินค้าของบุคคลอื่น และเมื่อต้องมีการว่าจ้างเรือของผู้ขนส่งอื่นในการขนส่งสินค้าพิพาทไปปลายทางที่เมืองกวางโจว ทั้งยังต้องมีการขนถ่ายสินค้าเพื่อเปลี่ยนลงเรือลำใหม่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อีกด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้แจ้งแก่นายเทอดศักดิ์ว่าสินค้าพิพาทไม่ใช่สินค้าอันตราย และโจทก์อ้างว่าจึงเชื่อตามนั้น ก็ไม่อาจถือเป็นเหตุให้โจทก์ปัดความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบกิจการเช่นนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบกิจการเกี่ยวข้องกับสารเคมีโดยเฉพาะ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าพิพาทดีกว่าผู้อื่น ซึ่งตามทางนำสืบจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า ได้ส่งมอบให้โจทก์ด้วย เป็นการเจือสมพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 แจ้งโจทก์ว่าสินค้าพิพาทไม่ใช่สินค้าอันตราย มีข้อความประทับว่า “ไม่เป็นวัตถุอันตราย การหารือครั้งนี้เฉพาะการนำเข้าหรือการส่งออกนอกราชอาณาจักรไทย” เป็นกรณีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ที่มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอันตรายต่อคน สัตว์ พืช หรือสิ่งแวดล้อม จึงต้องมีมาตรการควบคุมการนำเข้า ส่งออกนอกราชอาณาจักร การเคลื่อนย้าย การเก็บรักษา การใช้ และการทำลาย แตกต่างจากเจตนารมณ์ของการกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 เพราะมุ่งหมายที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมการก่อนและระหว่างการขนส่งสินค้าที่มีสภาพก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองสินค้าพิพาทที่มีคุณสมบัติก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงมีความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ตนส่งไปนั้นด้วย ในเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนผิดที่ไม่แจ้งว่าสินค้าพิพาทเป็นสินค้าอันตรายทำให้โจทก์เข้าใจผิดว่าสินค้าพิพาทไม่ใช่สินค้าอันตรายสามารถขนส่งอย่างสินค้าทั่วไปได้ โจทก์จึงไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการจัดการขนส่งเช่นอย่างผู้ประกอบอาชีพในการขนส่งจะพึงมีและใช้สำหรับการขนส่งสินค้าประเภทนี้อย่างเพียงพอ ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามฟ้องจึงต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 จึงเห็นควรให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่งของจำนวนเงิน 316,599 ดอลลาร์ฮ่องกง เป็นเงิน 158,299.50 ดอลลาร์ฮ่องกง
สำหรับสินค้าที่เหลือ 736 ขวด ที่ถูกทำลายภายหลังจากเกิดการรั่วไหลของสารเคมีแล้วนั้น เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าพิพาทดังกล่าวแล้ว ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีส่วนเป็นต้นเหตุด้วยกันเช่นเดียวกับการเกิดความเสียหายและค่าใช้จ่ายตามคำฟ้อง จึงเห็นควรให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันในกรณีสินค้าพิพาท 736 ขวด ที่เหลือที่ถูกทำลายในภายหลังคิดเป็นเงิน 184 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อโจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งจึงเป็นเงิน 92 ดอลลาร์สหรัฐ
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และในส่วนของฟ้องแย้ง จึงเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 158,299.50 ดอลลาร์ฮ่องกง แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 15 ตุลาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้โจทก์ชำระเงิน 93 ดอลลาร์สหรัฐ แก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ในกรณีชำระเป็นเงินบาทให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และในส่วนของฟ้องแย้งในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคำฟ้องและฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share