คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 570/2483

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ได้จัดการโรงพิมพ์และเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้เป็นผู้พิมพ์โฆษณานั้น เมื่อพิมพ์หนังสือของผู้อื่นและใส่ชื่อผู้อื่นเป็นผู้พิมพ์โฆษณานั้นเป็นผิดกฎหมายอาญามาตรา 235 พรบ การพิมพ์มาตรา 15, 35, จะอ้างว่าเจ้าของโรงพิมพ์โดยคิดว่าความขอบธรรมที่จะทำได้มาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ คดีที่ จำเลยไม่ได้ขอสืบพะยานเพื่อการใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษ และคดีพอใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษได้ แล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่ควรให้สืบพะยานเพื่อการใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์บำรุงธรรมของนางลั่งเฮียงและได้รับ อนุญาตให้เป็นผู้พิมพ์โฆษณาจากเจ้าพนักงาน จำเลยได้บังอาจจัดพิมพ์สำเนาจำลองหนังสือแบบเรียนหลายเล่ม อันเป็นวรรณกรรมและลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อขายโดยมิได้รับ อนุญาตจากเจ้าของ และเมื่อพิมพ์แล้วไม่พิมพ์ชื่อ จำเลยและชื่อโรงพิมพ์บำรุงธรรมในหนังสือนั้น กลับพิมพ์ชื่อผู้อื่นและโรงพิมพ์อื่นเป็นผู้พิมพ์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พรบ คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. ๒๔๗๔ มาตรา ๑๓, ๒๐, ๒๕, พรบ การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ มาตรา ๑๔, ๓๕ กฎหมายลักษณอาญามาตรา ๒๓๕
จำเลยให้การว่าตามฟ้องของโจทก์เป็นความจริง แต่จำเลยกระทำไปเพราะนางลั่งเฮียงสั่งให้ทำ
โจทก์ไม่สืบพะยาน ฝ่ายจำเลยจะขอสืบว่า นางลั่งเฮียง ใช้ให้จำเลยทำและทำไปโดยไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย
ศาลแขวงพระนครเหนือเห็นว่าข้อที่จำเลยอ้างว่าผู้อื่นใช้ให้กระทำนั้นหากเป็นผิดแล้ว จำเลยหาพ้นผิดไม่ ส่วนข้อที่ว่าทำไปโดยไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย ก็อ้างแก้ตัวไม่ได้จึงให้งดสืบพะยานจำเลยแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พรบ การพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ มาตรา ๑๔, ๓๕ และกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๒๓๕
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนไปให้ ศาลชั้นต้นสืบพะยานจำเลยแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามที่จำเลยขอสืบ ๒ ข้อนั้น ไม่ทำให้จำเลยพ้นผิดได้ เพราะการที่คนอื่นใช้ให้ จำเลยกระทำผิดนั้นไม่ทำให้จำเลยพ้นผิดได้ โดยมาตรา ๒๓๕ ก็ ลงโทษผู้กระทำ และ พรบ การพิมพ์มาตรา๑๔, ๓๕ ก็บัญญัติลงโทษพิมพ์โฆษณา และข้อที่อ้างว่าทำไปโดยไม่รู้ว่าผิดกฎหมายก็ไม่เป็นข้อแก้ตัว ข้อที่ จำเลยว่าจำเลยคิดว่านางลั่งเฮียงมีความชอบธรรมที่จะทำได้ ศาลฎีกาเห็นว่าอาจเป็นข้อแก้ตัวได้ในคดีอาญาบางชนิดแต่คดีนี้มี พรบ การพิมพ์เป็นพิเศษ เข้าร่วมอยุ่ด้วย จึงไม่เป็นข้องแก้ตัวสำหรับข้อที่ศาลอุทธรณ์ว่า ข้อที่จำเลยขอสืบ พะยานเป็นสาระสำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่าเมื่อผิดแล้วจำเลยควรจะรับโทษหนักเบาเพียงไรนั้นศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ จำเลยไม่ได้ขอสืบเพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจทั้งรูปคดีก็พอใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษได้แล้ว จึง พิพากษาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ข้ออื่นต่อไป

Share