คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามมีเจตจำนงร่วมกันที่จะเข้าแย่งผู้เสียหายจากผู้ตายเพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ดังนั้น การที่จำเลยคนหนึ่งเข้ากำจัดขัดขวางผู้ตายด้วยวิธีการใดก็ตาม ก็ย่อมอยู่ในวิถีเพื่อประโยชน์ร่วมกันของจำเลยทุกคน ซึ่งจำเลยทุกคนอาจเล็งเห็นผลแห่งการกระทำนั้นได้ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกัน
การที่จำเลยใช้ไม้ไผ่ตันมีรูเล็ก ๆ ขนาดนิ้วก้อย ยาวประมาณ2 ศอก โตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร ตีผู้ตายอย่างแรง 1 ทีถูกศีรษะเป็นบาดแผลถึงขนาดทำให้กะโหลกศีรษะแตกแยกเป็น 4 เสี่ยงมีเลือดออกในและรอบ ๆ กะโหลกศีรษะมาก แสดงให้เห็นว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำอาจทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้เป็นเจตนาฆ่าให้ตาย
แย่งหญิงไปจากผู้ตายเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา ผู้ตายขัดขวางจึงทำร้ายผู้ตายถึงตาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้กำลังกายเข้ากอดปล้ำข่มขืนกระทำชำเรานางสาวไสว เหวี่ยน จนสำเร็จความใคร่คนละ ๑ ครั้ง อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงและจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้ายฆ่านายบุญเรือง ศิริดำรงค์ จนถึงตายเพื่อความสะดวกในการที่จำเลยกระทำข่มขืนชำเราและเพื่อปกปิดการกระทำผิด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๒๗๖, ๒๘๑, ๘๓ และริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธฐานข่มขืน รับว่าตีทำร้ายผู้ตายแต่ไม่มีเจตนาฆ่า
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้การกระทำเพียงกอดปล้ำนางสาวไสว ไม่ได้ข่มขืนกระทำชำเรา และไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ฆ่านายบุญเรือง
ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙(๖)(๗),๒๗๖, ๒๘๑, ๘๓ ให้ลงโทษเฉพาะกระทงหนักที่สุด มาตรา ๒๘๙(๖) (๗) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ประกอบด้วย มาตรา ๕๒ (๒) ลดมาตราส่วนโทษตาม มาตรา ๗๕, ๗๖ ให้จำเลยคนละกึ่งแล้ววางโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ ๑๕ ปี ลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ อีกคนละ ๑ ใน ๓ คงจำคุกคนละ ๑๐ ปี ไม้ของกลางริบ
จำเลยทั้ง ๓ และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้ง ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย อันเข้าลักษณะเป็นการโทรมหญิง พิเคราะห์รูปคดีแล้วเห็นว่าจำเลยทั้ง ๓ มีเจตจำนงร่วมกันที่จะแย่งผู้เสียหายจากผู้ตายเพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย การที่จำเลยคนหนึ่งเข้ากำจัดขัดขวางผู้ตายด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ย่อมจะอยู่ในวิถีทางเพื่อประโยชน์ร่วมกันของจำเลยทุกคนซึ่งจำเลยทุกคนอาจเล็งเห็นผลแห่งการกระทำนั้นได้ เมื่อผู้เสียหายเบิกความว่าเมื่อจำเลยที่ ๒ เข้ากอดปล้ำผู้เสียหาย ผู้เสียหายร้องให้ผู้ตายช่วย จำเลยที่ ๒ได้ร้องว่า ฆ่ามันให้ตายอย่าให้มันช่วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ ทำร้ายผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ก็ย่อมต้องร่วมกันรับผิดเป็นตัวการร่วมกระทำผิดด้วยกันกับจำเลยที่ ๑
ปรากฏว่า ไม้ไผ่ของกลางอันเป็นอาวุธที่จำเลยใช้ทำร้าย เป็นไม้ไผ่ตันมีรูเล็ก ๆ ขนาดนิ้วก้อย ยาวประมาณ ๒ ศอก โตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง๖ เซนติเมตร บาดแผลที่ผู้ตายได้รับเป็นบาดแผลรุนแรงถึงขนาดทำให้กะโหลกศีรษะแตกแยกเป็น ๔ เสี่ยง ย่อมแสดงให้เห็นว่า เกิดจากการถูกตีไม่ใช่ถูกขว้าง และการที่จำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธดังกล่าวตีผู้ตายอย่างรุนแรงจนเกิดบาดแผลเช่นนั้น จำเลยที่ ๑ ย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำได้ว่าอาจทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ จำเลยทุกคนจึงมีความผิดฐานสมคบร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนาประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙(๖)
พิพากษายืน

Share