คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4936/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและให้รื้อขนำของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินที่โจทก์ซื้อมา จำเลยให้การต่อสู้ว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของบิดาจำเลยที่ 2 ซึ่งยกให้แก่จำเลยทั้งสองครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา ตามคำให้การของจำเลยไม่อาจมีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินที่จำเลยปลูกขนำอยู่จากโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสองเพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยอ้างในคำให้การว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง ศาลจึงไม่อาจยกการแย่งการครอบครองขึ้นวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินจากนายคร่อง ศรีสุขใส จำนวน45 ไร่ 2 งาน ที่ดินดังกล่าวนี้ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 6 ตำบลกุแหระ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราชนายคร่องได้แจ้งสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวข้างต้นไว้เพียง15 ไร่เท่านั้น โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาเกินกว่า15 ปีแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นสามีภรรยากันได้บุกรุกเข้ามาในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ 9 ไร่เศษจำเลยทั้งสองได้ทำลายผลอาสินของโจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเนื้อที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 10 ไร่ ฟ้องซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลกุแหระ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และโจทก์มีสิทธิครอบครองฝ่ายเดียวห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย และให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนขนำที่ก่อสร้างลงในที่พิพาทออกไปในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหากจำเลยทั้งสองไม่รื้อถอนออกไป โจทก์จะจัดการรื้อถอนเอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายในการรื้อถอน
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมที่พิพาทรวมทั้งที่ดินโจทก์และจำเลยทั้งสองครอบครองเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน มีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 6 ตำบลกุแหระอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นของนายประสงค์พรหมหมอเฒ่า บิดาจำเลยที่ 2 ซึ่งได้ซื้อมาจากนายวงศ์ หอมสูงเมื่อ 20 ปีเศษมาแล้ว ต่อมานายประสงค์ได้แบ่งที่พิพาทให้โจทก์จำนวน 10 ไร่ และให้นายประจักษ์ นราอาจ จำนวน 10 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 10 ไร่ นายประสงค์ได้ครอบครองตลอดมาจนกระทั่งก่อนจะเสียชีวิตนายประสงค์ได้ยกที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 10 ไร่ ให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับยกให้มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน อาณาเขตที่ดินตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องไม่ถูกต้อง เอกสารที่ดินเลขที่ 48 ที่โจทก์กล่าวอ้างจำเลยทั้งสองไม่รับรองและเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ซึ่งโจทก์ครอบครองคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่พิพาทตามแผนที่พิพาทคดีนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลเป็นผู้จัดทำขึ้น ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลกุแหระอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนขนำที่สร้างลงในที่พิพาทออกไป ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันทราบคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในส่วนฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์ว่า ศาลจะยกมาตรา 1375 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาวินิจฉัยให้ยกฟ้องของโจทก์เสียได้หรือไม่ ในเมื่อจำเลยทั้งสองมิได้อ้างมาตรานี้เป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและให้รื้อขนำของจำเลยที่ปลูกสร้างลงในที่พิพาทซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของบิดาจำเลยที่ 2 ซึ่งยกให้แก่จำเลยทั้งสองครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมา ดังนี้ ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองไม่อาจมีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินที่จำเลยทั้งสองปลูกขนำอยู่จากโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างในคำให้การว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของจำเลยทั้งสองเอง ศาลก็ไม่อาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นการวินิจฉัยขัดแย้งกับประเด็นที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ไว้ในคำให้การ ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปีนับแต่ถูกจำเลยทั้งสองแย่งการครอบครองที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามฟ้องหรือไม่นั้นเห็นว่า ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยและเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีอาจต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้เสียก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(2) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share