คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 49/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมธรรม์ประกันชีวิตขาดอายุ บริษัทต่ออายุให้ เพราะผู้ถูกประกันชีวิตทำใบรับรองว่าสุขภาพดีเช่นเดิม แต่ความจริงผู้ถูกประกันชีวิตรู้อยู่ว่า ป่วยเกี่ยวกับท้องและสุขภาพไม่สมบูรณ์เป็นการปกปิดความจริงอันควรต้องแจ้งให้บริษัททราบบริษัทบอกล้างสัญญาซึ่งเป็นโมฆียะได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2494 นายผัน ฤทธิเดชสามีโจทก์ได้ตกลงทำกรมธรรม์ประกันชีวิตไว้กับบริษัทจำเลยมีกำหนดการประกันไว้ 15 ปี โดยผู้เอาประกันจะต้องส่งเบี้ยประกันเป็นรายงวด งวดละ3 เดือน เป็นเงินงวดละ 249 บาท 60 สตางค์ภายในเวลา 11 ปี หรือจนกว่าความมรณะของสามีโจทก์ เมื่อสามีโจทก์ถึงแก่กรรมก่อนกำหนด 15 ปี บริษัทจะต้องจ่ายเงิน ซึ่งได้เอาประกันไว้ 10,000 บาท พร้อมด้วยเงินปันผลทั้งหมด ที่ได้ฝากสะสมไว้กับบริษัทให้โจทก์เป็นผู้รับไป ปรากฎตามกรมธรรม์เลขที่ 16535ลงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2494 ซึ่งจำเลยเรียกเอาไปยังไม่ได้ส่งคืนโจทก์นั้นแล้ว ครั้นวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2495 นายผันสามีโจทก์ได้ถึงแก่กรรมลง โดยจำเลยเป็นผู้ช่วยให้โรงพยาบาลเมตตาของจำเลยเป็นผู้รักษา และเมื่อเห็นอาการนายผันมากขึ้น จึงได้นำนายผันไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โจทก์ได้ติดต่อทวงถามให้จำเลยชำระเงิน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยกลับปฏิเสธไม่ยอมชำระ อ้างว่าในขณะเมื่อกรมธรรม์ขาดอายุ นายผันได้ขอต่อกรมธรรม์ และจำเลยได้ต่อให้โดยเชื่อว่านายผันไม่เจ็บป่วย แต่ภายหลังนายผันกลับรับรองว่า ขณะต่ออายุกรมธรรม์นั้น นายผันได้ป่วยเป็นโรคลำไส้ จึงได้บอกเลิกกรมธรรม์ และไม่ยอมชำระเงินให้โจทก์และให้โจทก์รับเงินเบี้ยประกันงวด ซึ่งขาดต่ออายุ และบริษัทได้ต่อให้ดังกล่าวแล้วคืนจากจำเลย โจทก์ถือว่าไม่เคยขาดส่งเบี้ยประกันทุกงวด ที่จำเลยหาว่าโจทก์ขาดส่งเบี้ยประกันนั้นความจริงโจทก์ได้นำเบี้ยประกันส่งให้กับนายประเสริฐ ศุกรโยธิน ผู้แทนของจำเลยที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นผู้ติดต่อรับเงินและนำเอกสารเกี่ยวกับการประกันระหว่างผู้เอาประกัน และผู้รับประกันตลอดมาภายในเวลาที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์แล้ว หากแต่นายประเสริฐจะส่งเบี้ยประกันงวดนี้ไปถึงบริษัทจำเลยในจังหวัดพระนครล่าช้ากว่ากำหนดไป อย่างไรก็ดีจำเลยได้รับเงินเบี้ยประกันงวดต่ออายุนี้จากนายประเสริฐแล้วกรมธรรม์จึงมีผลบังคับต่อไปตามกฎหมาย หากโจทก์ไม่ป่วยเป็นโรคลำไส้ตามที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นมา กรมธรรม์ก็คงมีผลสมบูรณ์แต่ในขณะที่โจทก์ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลเมตตานั้น จำเลยได้หลอกลวงให้นายผันหลงเชื่อและเซ็นชื่อให้ไว้กับจำเลยว่า ได้ป่วยเป็นโรคลำไส้ในระหว่างทีขาดส่งเบี้ยประกัน โจทก์ถือว่าบริษัทจำเลยได้ก่อตั้งกิจการประกันภัยขึ้น เพื่อหลอกลวงโจทก์และประชาชน จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินซึ่งเอาประกันชีวิตไว้ 10,000 บาท ให้โจทก์ ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันไว้ นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2495 (วันมรณะของผู้เอาประกัน) จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 325 บาท และจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมและค่าทนายแทนโจทก์ด้วย

จำเลยให้การว่า นายสันติ ศรีสกูล เป็นเพียงผู้จัดการแผนกประกันชีวิต ไม่ได้เป็นกรรมการ ไม่อยู่ในฐานะจะถูกฟ้องเป็นจำเลยแต่รับว่านายผัน ฤทธิเดช สามีโจทก์ได้เอาประกันชีวิตไว้แก่บริษัทจำเลยเป็นเงิน 10,000 บาท กำหนดส่งเงินเป็นงวด งวดละ 3 เดือนมีกำหนด 15 ปีจริง เบี้ยประกันภัยสำหรับปีที่ 1 งวดที่ 4 ซึ่งถึงกำหนดส่งในวันที่ 5 พฤษภาคม 2495 มีกำหนดผ่อนผันให้ส่งภายในวันที่ 4 มิถุนายน 2495 แต่นายผันได้ขาดส่งภายในกำหนด และได้ส่งแก่นายประเสริฐเอาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2495 เพื่อขอต่ออายุสัญญาแต่บริษัทเพิ่งได้รับเงินในวันที่ 18 กรกฎาคม 2495 ในการขอต่ออายุนี้ นายผันได้ปกปิดความจริงแก่บริษัทว่ามิได้ป่วยเป็นโรคอะไรทั้งสิ้น บริษัทหลงเชื่อจึงได้ยอมรับเงินเบี้ยประกันต่ออายุไว้ซึ่งความจริงปรากฏในภายหลังว่า ในขณะที่ขอต่ออายุสัญญานั้น นายผันได้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้และไตอักเสบเรื้อรังอยู่ก่อนแล้วและกำลังเป็นอยู่ ข้อที่โจทก์อ้างว่าไม่ได้ป่วยเป็นโรคลำไส้นั้นจำเลยขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง จำเลยหาได้หลอกลวงให้นายผันหลงเชื่อ และลงชื่อว่าได้ป่วยเป็นโรคลำไส้ ในระหว่างที่ขาดส่งเบี้ยประกันภัยดังที่โจทก์อ้างนั้นไม่ จำเลยรับว่านายผันได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเมตตาจริง แต่โรงพยาบาลนี้หาใช่เป็นของจำเลยไม่ และนายผันได้ไปตายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จริง โดยที่นายผันปกปิดความจริง จึงทำให้การต่อสัญญานั้นไม่สมบูรณ์ตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์และกฎหมาย บริษัทจำเลยจึงได้บอกเลิกสัญญาไปยังผู้รับประโยชน์จากการประกันภัย และปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ โจทก์หามีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงิน 10,000 บาทไม่จำเลยปฏิเสธด้วยว่าไม่ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นหลอกลวงโจทก์และประชาชนหากแต่ผู้เอาประกันภัยไม่สุจริตเอง จึงขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายแทนจำเลยด้วย

ศาลชั้นต้นสั่งว่า ประเด็นตามฟ้อง และคำให้การตลอดจนคำแถลงของจำเลยในการชี้สองสถาน หน้าที่นำสืบตกอยู่แก่จำเลย

ในการพิจารณาจำเลยรับว่า นายผันถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2495จริง ด้วยโรคลำไส้และไตอักเสบเรื้อรัง จำเลยเพิ่งทราบความจากรายงานของแพทย์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2495

ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยไม่มีพยานบุคคลรู้เห็นว่านายผันมีอาการป่วยเจ็บมาแต่เมื่อใดแน่ คงมีแต่นายแพทย์วินิจฉัยอาการแห่งโรคโดยการประมาณ ส่วนโจทก์นำสืบว่านายผันมีอาการป่วยเจ็บเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2495 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่นายผันได้ทำสัญญารับรองสุขภาพนั้นแล้ว จำเลยมีหน้าที่นำสืบว่านายผันได้รู้ตัวมาก่อนทำคำรับรองสุขภาพแล้ว แต่จำเลยนำสืบไม่ได้ คำบอกกล่าวเลิกสัญญาประกันของจำเลยจึงไม่เป็นผล ให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิต ซึ่งนายผัน ฤทธิเดช เอาประกันไว้กับจำเลยเป็นเงิน 10,000 บาทให้แก่โจทก์และให้เสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2495 ซึ่งเป็นวันมรณะของนายผัน จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 500 บาทแทนโจทก์ด้วย

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามรูปคดีไม่พอชี้ขาดว่านายผัน ได้รู้ตัวว่า ตนป่วยมาก่อนวันทำคำขอต่ออายุสัญญาประกันภัยฉะนั้น คดีจึงฟังไม่ได้ว่านายผันได้ปกปิดความจริงในเรื่องป่วยเป็นโรคดังข้อต่อสู้ของจำเลย คงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยเสียค่าทนายชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 100 บาท

จำเลยฎีกาต่อมาว่า จำเลยนำสืบได้ตามข้อต่อสู้ของตน ตนจึงควรชนะคดี

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวน ฟังคำแถลงการณ์ของคู่ความ และประชุมปรึกษาคดีแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นายผัน ผู้ตายได้ทำสัญญาประกันชีวิตไว้แก่บริษัทจำเลยเป็นเงิน 10,000 บาท มีกำหนด 15 ปี เริ่มแต่วันที่ 5 สิงหาคมพ.ศ. 2494 ชำระเบี้ยประกันเป็นราย 3 เดือน เป็นเงินงวดละ 229.00 บาท โดยบริษัทจำเลยได้ออกกรมธรรม์ที่ 16535 ให้เป็นหลักฐาน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2494 นายประเสริฐ ศุกรโยธินผู้แทนของบริษัทจำเลยที่จังหวัดสมุทรสงครามเป็นผู้ติดต่อและมีอำนาจรับเงินเบี้ยประกัน และเอกสารต่าง ๆ ส่งให้บริษัทจำเลย สำหรับงวดที่ 4 ซึ่งกำหนดชำระเบี้ยประกันภัยในวันที่ 5พฤษภาคม 2495 นายผันมิได้ส่งชำระ แต่ตามระเบียบของบริษัทยอมผ่อนเวลาให้ชำระได้อีก 30 วัน แต่นายผัน ก็ยังไม่ได้ชำระ เพราะนายประเสริฐไม่มีเวลาว่างไปรับเงินจนวันที่ 4 กรกฎาคม 2495 นายผันจึงได้ชำระเงินให้แก่นายประเสริฐและด้วยเหตุที่เกินกำหนดผ่อนผันของบริษัทจำเลยแล้ว นายประเสริฐ จึงให้นายผันทำใบรับรองสุขภาพตามเอกสารหมาย ล.3 ตามแบบพิมพ์ของบริษัท ซึ่งมีข้อความสำคัญว่า “กรมธรรม์สัญญาของข้าพเจ้าดังกล่าวได้ขาดอายุ และข้าพเจ้ามีความประสงค์จะต่อสัญญาใหม่ พร้อมทั้งขอรับรองว่า นับตั้งแต่วันที่กรมธรรม์สัญญาของข้าพเจ้าได้ขาดอายุ มาจนกระทั่งถึงวันที่ได้ยื่นความจำนงขอต่อสัญญาใหม่นี้ ข้าพเจ้ามิได้เคยเจ็บป่วยด้วยโรคอะไรทั้งสิ้น และขอรับรองว่า ร่างกายของข้าพเจ้ามีสุขภาพสมบูรณ์ดีเช่นเดิมทุกประการ” คำรับรองนี้ลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 บริษัทจำเลยที่จังหวัดพระนครได้รับเบี้ยประกันภัยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2495 และได้อนุญาตให้นายผัน ต่ออายุสัญญาประกันภัยได้ ต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม 2495 บริษัทจำเลยได้รับแจ้งจากแพทย์โรงพยาบาลเมตตาที่จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่บริษัทเคยส่งคนไข้ไปให้ว่า นายผันไปรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนั้นและไปตายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บริษัทจำเลยจึงทำการสอบสวนได้ความว่านายผันไปติดต่อรักษาที่โรงพยาบาลเมตตาเอง โดยอาศัยบัตรตรวจโรคที่โรงพยาบาลนี้ ซึ่งบริษัทจำเลยออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุก ๆ คน นายผันไปอยู่ในโรงพยาบาลนี้ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2495 ต่อจากนั้นได้ย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2495 เวลา 4.00 น. โดยแพทย์ผู้ตรวจของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีความเห็นว่าเป็นโรคโลหิตเป็นพิษ และปอดอักเสบ

ประเด็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัย คือว่า ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน 2495 ซึ่งเป็นวันสัญญาประกันชีวิตขาดอายุ จนถึงขณะที่นายผัน ฤทธิเดช ลงนามในคำรับรองตามแบบพิมพ์ของบริษัทเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2495 นั้น นายผันทราบหรือไม่ว่าตนป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง และมีสุขภาพสมบูรณ์ดีเช่นเดิมดังที่ตนรับรองนั้นหรือไม่หากนายผันทราบว่าตนป่วยอยู่ ไม่ว่าด้วยโรคอะไรก็ดี หรือตนมีสุภาพไม่สมบูรณ์ดีเช่นเดิมก็ดี แล้วแกล้งปิดบังไว้ไม่แจ้งให้บริษัททราบบริษัทย่อมมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตนั้นได้ในฐานเป็นโมฆียกรรมหน้าที่นำสืบเรื่องนี้จึงตกอยู่แก่จำเลย ซึ่งเป็นผู้ขอบอกล้างโมฆียกรรมนั้น

จำเลยมีพยานบุคคลและเอกสารมาแสดงเฉพาะที่สำคัญ ดังต่อไปนี้คือ

1. นายสันติ ศรีสกูล พยานจำเลย ซึ่งเคยทำงานในตำแหน่งผู้จัดการแผนกประกันชีวิต เบิกความว่า ได้รับแจ้งจากนายแพทย์อินทรทรายน้อย แห่งโรงพยาบาลเมตตา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2495 ว่านายผัน ฤทธิเดช ได้ไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล นั้น แล้วไปตายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตามรายงานของนายแพทย์อินทร ปรากฏว่านายผันป่วยมาก่อนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลราว 3 เดือนแล้วทางบริษัทจำเลยจึงส่งคนออกสืบสวน มีแพทย์ที่สมุทรสงครามบอกมาเป็นหนังสือว่า นายผันเคยไปรักษา และฉีดยาที่เขา เมื่อได้ความดังนี้ทางบริษัทจึงได้บอกล้างสัญญาไปยังทายาทของนายผัน

2. นายแพทย์อินทร ทรายน้อย เบิกความว่า นายผันไปป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลเมตตา ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม 2494 ถึง 6 สิงหาคม2495 โดยพยานเป็นผู้ตรวจรักษา ผลของการตรวจ ได้ให้การวินิจฉัยว่า นายผันเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง และเป็นโรคไตอักเสบเรื้อรังด้วย เมื่อคนไข้เข้ามาป่วยในโรงพยาบาล แพทย์จำเป็นต้องสอบถามถึงประวัติอาการป่วยก่อน ๆ นั้น นายผันบอกพยานว่าก่อนมาโรงพยาบาล 3 เดือน มีอาการแน่นท้อง และถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ ถ่ายเป็นโลหิต 1 ครั้ง รับอาหารไม่ค่อยได้ ก่อนเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลราว 15 วัน ผู้ป่วยเริ่มเป็นมาก มีการแน่นท้องบ่อย ๆ รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียนออกมาทุกครั้ง ร่างกายผอม ในระหว่างการป่วยหนักนี้ ได้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยรักษาด้วยยาไทย รวมทั้งได้รับการฉีดยาด้วย เมื่อไม่ได้ผลดีขึ้น จึงมารักษาที่โรงพยาบาลนายแพทย์อินทรได้บันทึกประวัติการป่วยของนายผันนี้ไว้ ดังปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งจำเลยอ้างนายผันอยู่ที่โรงพยาบาลเมตตา วัน อาการไม่ดีขึ้น อาจารย์ของนายแพทย์อินทรที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงบอกให้ส่งตัวนายผันไปที่นั่น เพื่อจะค้นคว้าโรคองนายผันต่อไป นายผันไปอยู่ที่นั่นได้ประมาณ 3-4 วันก็ตายทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ผ่าศพตรวจพบว่านายผันเป็นโรคไตอักเสบเรื้อรัง และเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ปรากฏตามเอกสารหมายล.2 สำหรับโรคมะเร็งนี้ นายแพทย์อินทร ประมาณว่าเป็นมาราว 3 เดือนและก่อนนั้นเป็นโรคไต

3. นายประเสริฐ ศุกรโยธิน ผู้แทนบริษัทจำเลยที่จังหวัดสมุทรสงคราม เบิกความว่า เป็นผู้ติดต่อให้นายผันเอาประกันชีวิตรายนี้กับบริษัทจำเลย และเป็นผู้รับเงินเบี้ยประกันจากนายผันส่งให้บริษัทจำเลยเมื่อนายผันตายแล้ว บริษัทจำเลยสั่งให้พยาน และนายนารถอินทรดิษฐ์ สอบสวนว่านายผันตายเพราะอะไร ได้ทราบจากหมอเชย (ร.อ.เชย) ว่าก่อนผู้ตายทำคำรับรองเรื่องสุขภาพของตนแก่บริษัท ร.อ.เชย ใช้คำว่าประมาณ 3 เดือน ก่อนวันที่ 6 กันยายน 2495) นายผันได้ไปให้ ร.อ.เชยตรวจโรคครั้งหนึ่ง เท่าที่ได้วินิจฉัยแล้วเข้าใจว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง ได้ทำการจ่ายยาไปให้รับประทานและฉีดยาแก้อักเสบให้ 1 เข็ม ทั้งนี้ ร.อ.เชยได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้จัดการสำนักงานอัมพวาซึ่งหมายความถึงนายประเสริฐศุกรโยธิน ดังปรากฏในเอกสารหมาย ล.5 ที่จำเลยอ้าง ส่วนนายนารถเมื่อสอบสวนแล้วก็ทำบันทึกส่งบริษัทว่าได้ความว่าผู้ตายป่วยมาก่อนรับรองสุขภาพ และได้รับการฉีดยาเกี่ยวกับโรคทางลำไส้จากนายเชยมาแล้วเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2495 ราววันที่ 15 กรกฎาคม 2495โรคกำเริบขึ้นจึงเดินทางไปรักษาตัวที่จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 หนังสือของนายนารถคือเอกสารหมาย ล.6 ซึ่งจำเลยอ้าง และนายประเสริฐจำได้ว่านายนารถมีถึงตนส่วนเอกสารหมาย ล.3 เป็นหนังสือรับรองสุขภาพของนายผัน

ฝ่ายโจทก์มีพยานหลักฐานที่สำคัญมาแสดง คือ

1. นางเฟื้อน ฤทธิเดช ภริยานายผันผู้ตาย เบิกความว่าเหตุที่นายผันขาดส่งเบี้ยประกันภัย งวดที่ 4 เพราะนายประเสริฐผู้แทนบริษัทจำเลยไม่ไปเก็บเงินตามกำหนด อ้างว่ามีกิจจำเป็นจึงล่าช้าไป ต่อมานายประเสริฐ ให้นายผันลงชื่อในเอกสารอะไรไม่ทราบถัดจากนั้นอีก 15 วัน นายประเสริฐ ก็บอกว่าได้จัดการต่ออายุสัญญาให้เรียบร้อยแล้วเมื่อแรม 13 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ. 2496 นายผันมีอาการอาเจียนบ้างเล็กน้อยพยานพาไปหานางทองหล่อซึ่งเคยเป็นนางพยาบาล นายชื่น สามีนางทองหล่อแนะนำให้ไปหาหมอเชย หรือร.อ.เชย พยาน จึงพานายผันไปหา ร.อ.เชย เมื่อขึ้น 2 ค่ำ เดือน 9 หมอเชยว่าผู้ตายเป็นโรคกระเพาะอาหารพิการ และฉีดยาให้ แต่ผู้ตายไม่หาย พยานจึงพาไปรักษาที่โรงพยาบาลเมตตามที่กรุงเทพฯ เมื่อนายประเสริฐไปเก็บเงินประกันชีวิตงวดที่ 4 จากนายผัน นายผันยังไม่ป่วย

2. นายชื่น ฤทธิเดช สามีนางทองหล่อ เบิกความว่า ก่อนผู้ตายตาย ประมาณ 10 วัน ผู้ตายไปหาพยานบอกว่ารู้สึกไม่สบาย พยานได้แนะนำให้ไปหาหมอเชย ซึ่งเป็นแพทย์ประกาศนียบัตร หมอเชยตรวจแล้วบอกว่า เป็นโรคกระเพาะอาหารพิการ ต่อมาผู้ตายอาการไม่ดีขึ้นจึงไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ

3. นายอารีย์ พึ่งสังวาลย์ ซึ่งอยู่บ้านห่างบ้านผู้ตาย 4-5 เส้น เบิกความว่าผู้ตายเริ่มเจ็บเมื่อราวข้างขึ้น เดือน 8 พ.ศ. 2495

ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าคำให้การของนายแพทย์อินทร พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ตรวจรักษา และเกี่ยวข้องกับการป่วยของผู้ตายอย่างใกล้ชิดจนถึงที่สุด เป็นถ้อยคำของคนกลางซึ่งเป็นนักวิชาการ ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด จึงมีน้ำหนักน่าฟังที่สุดนายแพทย์อินทรเบิกความว่า เอกสารหมาย ล.1 นั้น ตนเป็นผู้ทำขึ้นและได้จดประวัติการป่วยของนายผัน โดยนายผันให้ถ้อยคำไว้เองว่านายผันเริ่มป่วยมีอาการแน่นท้อง อาเจียน และถ่ายอุจจาระเป็นโลหิตรับอาหารไม่ค่อยได้ ก่อนมาอยู่โรงพยาบาลเมตตาประมาณ 3 เดือนนายผันไปอยู่ที่โรงพยาบาลนี้ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2495ก็แปลว่านายผันรู้ตัวว่ามีอาการป่วยที่ท้องมาตั้งแต่ราวต้นเดือน พฤษภาคม2495 และนายผันบอกต่อไปด้วยว่า อาการป่วยเริ่มเป็นมากก่อน ไปโรงพยาบาลเมตตา 15 วัน แม้นายผันจะมิได้ลงนามในหนังสือหมาย ล.1นี้ ศาลฎีกาก็เห็นว่า เอกสารฉบับนี้รับฟังได้ เพราะนายแพทย์อินทรซึ่งเป็นผู้ทำรับรองว่าตนได้ทำขึ้น และไม่มีเหตุที่จะคิดว่าได้ทำขึ้นโดยไม่ตรงความจริง เพราะนายแพทย์อินทรไม่ได้จดเอาเองแต่จดตามถ้อยคำที่นายผันบอกให้ตามระเบียบการตรวจโรคของแพทย์ซึ่งต้องรู้ประวัติการป่วยของคนไข้ก่อนจึงจะวินิจฉัยโรคได้ถนัดอนึ่ง นายแพทย์อินทรเองก็ลงความเห็นจากการพิเคราะห์ทั่ว ๆ ไปว่านายผันเป็นโรคมะเร็ง ในลำไส้ใหญ่ประมาณ 3 เดือน ก่อนตายและเป็นโรคไตอักเสบมานานกว่านั้น ซึ่งแปลว่า ก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม 2494 นอกจากถ้อยคำของนายแพทย์อินทร จำเลยมีคำเบิกความของนายประเสริฐ ศุกรโยธิน รับรองว่าตนได้รับหนังสือจาก ร.อ.เชยว่าได้เคยตรวจและฉีดยาให้นายผันประมาณ 3 เดือน ก่อนวันที่ 6 กันยายน 2495 โดยเห็นว่า นายผันเป็นแผลในกระเพราะอาหารเรื้อรังและนายประเสริฐได้รับหนังสือ หมาย ล.6 จากนายนารถว่าสอบสวนได้ความว่า นายเชยได้ฉีดยาให้นายผันเกี่ยวกับโรคทางลำไส้ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2495 แม้จำเลยจะไม่ได้ตัว ร.อ.เชยและนายนารถมาเบิกความก็มีนายประเสริฐรับรองในศาลว่า ได้รับหนังสือ 2 ฉบับ นั้น จากผู้ที่กล่าวนามมาแล้วจริง ทั้งนางเฟื้อน โจทก์และนายชื่น ฤทธิเดชพยานโจทก์ก็เบิกความรับรองว่า นายผันได้ไปหานายเชยให้ตรวจรักษาจริงซึ่งทำให้หนังสือ ร.อ.เชย มีน้ำหนักยิ่งขึ้นศาลฎีกาจึงเห็นว่าเอกสารหมาย ล.5 และ 6 นั้น อาจรับฟังเป็นพยานประกอบได้ ซึ่งเมื่อสรุปแล้วจำเลยนำสืบได้ว่า นายผันรู้ตัวว่ามีอาการป่วยเกี่ยวกับท้องและสุขภาพไม่สมบูรณ์มาเป็นเวลานับเดือน ๆ ก่อนที่ตนลงนามรับรองสุขภาพให้บริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2495 ตามเอกสารหมาย 3 นั้น ส่วนพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักสู้พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่นายผันรับรองในเอกสารฉบับนั้นว่าตนไม่ได้เคยเจ็บป่วยด้วยโรคอะไรทั้งสิ้นในระหว่างวันที่สัญญาขาดอายุ (คือ วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2495 กับวันที่ 4 กรกฎาคม 2495) และสุขภาพสมบูรณ์ดีเช่นเดิมทุกประการนั้นเป็นการปกปิดความจริงที่นายผันควรแจ้งให้บริษัทจำเลยทราบ อันเป็นการขัดกับเงื่อนไขข้อ 1 ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำกันไว้ โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคแรก บัญญัติว่า”ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะ ของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้ว ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัย ให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ” เมื่อบริษัทจำเลยทราบว่า นายผันผู้เอาประกันได้ประกันชีวิตโดยถือเอาความทรงชีพและมรณะของตนเป็นเกณฑ์ และนายผันรู้แล้วว่าตนมีโรคอยู่และสุขภาพไม่บริบูรณ์แต่กลับรับรองว่าตนไม่มีโรคอยู่ ทั้งรับรองด้วยว่าสุขภาพของตนสมบูรณ์ดังเดิมบริษัทจำเลยก็มีสิทธิที่จะถือว่าการประกันชีวิตนายผันในตอนหลังนี้ เป็นโมฆียะและโดยที่บริษัทเพิ่งทราบ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2495 ว่า นายผันแกล้งปกปิดความจริงเกี่ยวกับการเป็นโรค และสุขภาพไม่บริบูรณ์ของตน และบริษัทจำเลยได้บอกเลิกกรมธรรม์เลขที่ 16535 โดยหนังสือลงวันที่ 10 กันยายน 2495 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งโจทก์ส่งและอ้างต่อศาล การใช้สิทธิบอกล้างของจำเลย จึงได้กระทำภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยได้ทราบมูลเหตุอันจะบอกล้างได้ อันเป็นการถูกต้องสมบูรณ์ตามบทกฎหมายทุกประการ

อาศัยเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว จึงพิพากษากลับคำพิพากษาาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียม ค่าทนาย 3 ศาลเป็นเงิน 700 บาทแทนจำเลยด้วย

Share