คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3085/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทรัพย์ที่ได้มีการย้าย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นอันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น หาได้มีข้อจำกัดเฉพาะทรัพย์ที่เจ้าหนี้พึงจะยึดถือหรืออายัดไว้ไม่แต่หมายถึงทรัพย์สินใดๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการย้าย ซ่อนเร้นหรือโอนไปเพียงเพื่อเจตนามิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน และแม้ลูกหนี้จะยังมีทรัพย์อย่างอื่นเหลืออยู่ แต่ไม่พอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ก็ไม่ใช่เหตุที่จะอ้างเพื่อให้พ้นจากการกระทำอันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษา ศาลได้ออกหมายบังคับคดีและแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมา จำเลยสมคบกันโดยจำเลยที่ 1 ด้วยความยินยอมของจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินรวม 8 โฉนดให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยทั้งสามทราบถึงหนี้ที่จำเลยที่ 1จะต้องชำระตามคำพิพากษาแก่โจทก์แล้วแต่มีเจตนาทุจริตกระทำการโอนที่ดินดังกล่าวเพื่อมิให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ จึงขอให้ลงโทษ

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้มีบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสียซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงไว้แจ้งชัดถึงทรัพย์ที่ได้มีการย้ายซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นนั้น หาได้มีข้อจำกัดเฉพาะที่เจ้าหนี้พึงจะยึดถือหรืออายัดดังจำเลยอ้างไม่ หากแต่หมายถึงทรัพย์สินใด ๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการย้ายซ่อนเร้นหรือโอนไปเพียงเพื่อเจตนามิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ก็ย่อมเข้าข่ายแห่งการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้ แม้จำเลยที่ 1 จะยังมีทรัพย์อย่างอื่นเหลืออยู่ซึ่งได้แก่ใบหุ้นและที่ดินก็ตาม แต่ทรัพย์สินที่ยังเหลืออยู่ข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างวินิจฉัยต้องกันว่าเป็นทรัพย์สินที่เหลืออยู่น้อยไม่อาจชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ดังนี้ จึงไม่ใช่เหตุจะอ้างเพื่อให้พ้นจากการกระทำอันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้ เมื่อการกระทำของจำเลยผู้ฎีกาทั้งสองทำให้โจทก์ไม่อาจได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยผู้ฎีกาทั้งสอง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ได้

พิพากษายืน

Share