คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4898/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมีว่า ถ้าเงินในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็ค โดยปกติธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายให้ไป ผู้ฝากย่อมเป็นอันยอมรับผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เกินคืนให้ธนาคารเสมือนหนึ่งได้ขอร้องเปิดเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคาร ในกรณีที่เงินในบัญชีเงินฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็คหลายฉบับที่นำมาเรียกเก็บพร้อม ๆ กัน ธนาคารทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะจ่ายเงินตามเช็คฉบับใดก็ได้ และธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ย เงินเกินบัญชีเป็นรายวัน (ดอกเบี้ยทบต้น) และจะนำผลดอกเบี้ยนั้นหักบัญชีเป็นรายเดือน ข้อตกลงนี้จะใช้ในทุกกรณี เห็นได้ว่ามีการตกลงกันซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลย
จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ขณะโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ มีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีและ เบิกเงินเกินบัญชีอยู่เรื่อย ๆ โดยวิธีใช้เช็คสั่งจ่ายหลายครั้ง และยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร ดังนี้เข้าลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัด แม้หลังจากจำเลยใช้เช็คสั่งจ่ายเบิกเงินครั้งสุดท้ายแล้วบัญชีของจำเลยได้หยุดเดินสะพัด โดยจำเลยมิได้นำเงินเข้าฝากหรือเบิกเงินจากธนาคารโจทก์อีกเลย จนถึงวันฟ้องจะเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วก็ตาม กรณีก็ต้องนำบทบัญญัติเกี่ยวด้วยเรื่องบัญชีเดินสะพัดมาปรับ
การชำระหนี้ตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัดให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือ เมื่อไม่ปรากฏว่าการเบิกเงินเกินบัญชีได้ตกลงกันชำระหนี้เสร็จสิ้นเมื่อใด สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินเบิกเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีกันและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือ อันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 856, 859
ปรากฏตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันว่าในวันที่ 30 มีนาคม 2530 อันเป็นวันหักทอนบัญชี จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ 67,711.90 บาท โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย ฝ่ายจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านยอดหนี้และ ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ประสงค์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยนับแต่วันหักทอนบัญชีกันแล้วเมื่อ วันที่ 30 มีนาคม 2530 สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินเบิกเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีกันแล้วและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือ โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2539 จึงยังไม่ถึง 10 ปี นับแต่วันหักทอนบัญชีกัน ฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

Share