คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 742/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยพาอาวุธปืนพกเข้าไปร่วมชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย การพาอาวุธปืนของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธปืนด้วยแม้เจ้าพนักงานตำรวจจะไม่ได้อาวุธปืนนั้นมาเป็นของกลางเพื่อยืนยันว่าเป็นอาวุธปืนมีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่ในชั้นสอบสวน จำเลยก็ให้การรับสารภาพในความผิดข้อหานี้คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อไม่ปรากฏว่าอาวุธปืนที่จำเลยนำไปกระทำผิดเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายแล้วหรือไม่จึงต้องฟังในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยว่าเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289, 339, 340 ตรี, 371, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และขอให้คืนของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6) ประกอบมาตรา 80, 339 วรรคสามประกอบมาตรา 340 ตรี, 371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72 วรรคแรก, 72 ทวิ วรรคสองให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เฉพาะข้อหาฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการชิงทรัพย์และข้อหาชิงทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(6) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 52(1) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดวางโทษจำเลยทั้งสองจำคุกตลอดชีวิต ข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตวางโทษจำคุกคนละ 2 ปี ข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ 1 ปีจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53เป็นจำคุก 25 ปี รวมกับข้อหาฐานมีและพาอาวุธปืนซึ่งลดโทษแล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 26 ปี 6 เดือน คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จึงเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53เป็นจำคุก 33 ปี 4 เดือน รวมกับข้อหามีและพาอาวุธปืนซึ่งลดโทษแล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 35 ปี 4 เดือน ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1ได้รับทรัพย์รวม 6 รายการ คืนไปแล้ว จึงไม่จำต้องสั่งคืนอีกริบของกลางตามขอ เว้นรองเท้าแตะ 1 คู่ ไม่ปรากฏว่าใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่ริบ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ทุกบทมาตราที่โจทก์ขอ ให้ยกคงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ปรับ 99 บาท คำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม เป็นปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 66 บาทรวมลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 66 บาท หากไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯตามฟ้องทุกข้อหา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ยุติว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองเข้าไปในร้านค้าของนายสมบุญ นาคศรี ผู้เสียหายที่ 1 ทำทีจะขอซื้อของจากนายกุลเตอร์ ทร้อยเบอร์ ผู้เสียหายที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2ได้ชักอาวุธปืนออกมาตีผู้เสียหายที่ 2 จนสลบ จำเลยที่ 1 ขึ้นไปบนชั้นสองของร้านใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 แต่กระสุนปืนไม่ลั่นผู้เสียหายที่ 1 กอดปล้ำกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องของผู้เสียหายที่ 1 แล้ววิ่งหนีผู้เสียหายที่ 1 ไล่ตามมาถึงหน้าร้านพบจำเลยที่ 2 ซึ่งยืนคุมผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1แต่กระสุนปืนไม่ลั่น จำเลยทั้งสองพากันหลบหนี ผู้เสียหายที่ 1ไล่ตามและจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมด้วยอาวุธปืนกับสร้อยคอของผู้เสียหายที่ 1 วันรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานตำรวจจึงตามจับจำเลยที่ 2ได้ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีเพียงว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้นำอาวุธปืนพกเข้าไปร่วมชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย การพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธปืนด้วย แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะไม่ได้อาวุธปืนนั้นมาเป็นของกลางเพื่อยืนยันว่าเป็นอาวุธปืนมีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับอยู่หรือไม่ แต่ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพในความผิดข้อหานี้ คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อไม่ปรากฏว่าอาวุธปืนที่จำเลยที่ 2 นำไปกระทำผิดเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายแล้วหรือไม่จึงต้องฟังในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ว่าเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสามด้วย ให้จำคุก 1 ปีจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน รวมโทษจำเลยที่ 2 ทั้ง 3 กระทงแล้วคงจำคุก 33 ปี 12 เดือน และปรับ 66 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share