แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยและจำเลยร่วมทำสัญญากับโจทก์ว่า ตามที่โจทก์นำโฉนดที่ดินไปจำนองไว้แก่ธนาคาร เพื่อค้ำประกันหนี้ของบริษัท ฐ. มีกำหนดเวลา 1 ปี โดยจำเลยและจำเลยร่วมยอมรับผิดชอบเป็นลูกหนี้ร่วมกับบริษัท ฐ.หากบริษัทฐ.ผิดสัญญาไม่ไถ่ถอนจำนองให้โจทก์ จำเลยและจำเลยร่วมยอมรับผิดชอบยินดีไถ่ถอนให้และยินดีชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการจำนองให้โจทก์เช่นนี้ โจทก์เป็นเพียงผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของบริษัท ฐ.ลูกหนี้ของธนาคารเจ้าหนี้ โจทก์จึงมีฐานะเป็นลูกหนี้ของธนาคารหาใช่เจ้าหนี้ของบริษัท ฐ. ไม่ ดังนั้นสัญญาที่จำเลยและจำเลยร่วมทำกับโจทก์จึงไม่เป็นสัญญาค้ำประกัน แต่เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่คู่กรณีอาจทำผูกพันและใช้บังคับระหว่างกันได้ตามกฎหมายเมื่อบริษัท ฐ. ไม่ชำระหนี้แก่ธนาคาร โจทก์จึงนำเงินชำระหนี้แทนบริษัท ฐ.และไถ่ถอนจำนองแล้วถือได้ว่าบริษัทฐ.ไม่ไถ่ถอนที่ดินที่จำนองให้โจทก์ตามที่จำเลยและจำเลยร่วมได้ให้สัญญาไว้ต่อโจทก์ซึ่งทำให้โจทก์เสียหายจำเลยและจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาค้ำประกันกับธนาคารทหารไทยจำกัด สำนักงานใหญ่ เพื่อให้บริษัทฐานปนวิทย์ จำกัด เบิกเงินเกินบัญชีได้ในวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท สัญญาค้ำประกันระบุว่าหากบริษัทฐานปวิทย์ จำกัด ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์มีหน้าที่ชำระให้แทน โจทก์ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 3154 ของโจทก์จำนองเป็นประกันการกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวด้วยในวันเดียวกันนั้นเองจำเลยและนายเลื่อม โพธิ์ศิริ ได้ทำสัญญาค้ำประกันบริษัทฐาปนวิทย์จำกัด อีกชั้นหนึ่งโดยยอมผูกพันตนเป็นลูกหนี้ร่วมกับบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัดด้วย และได้สัญญาว่าหากบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัด ผิดสัญญาเมื่อครบกำหนดไม่ไถ่ถอนที่ดินที่โจทก์ไปจำนอง จำเลยและนายเลื่อนจะรับผิดชอบและยินดีถอนการผูกพันกับทางธนาคารทหารไทย จำกัด ทันทีและยอมชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแก่การจำนองแก่โจทก์ด้วย ต่อมาบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัด ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ธนาคารทหารไทย จำกัดได้ทวงถามโจทก์ให้ชำระแทนในฐานะผู้ค้ำประกันและในฐานะผู้นำที่ดินไปจำนองเป็นประกันการกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชี โจทก์จึงไถ่ถอนจำนองและชำระหนี้ให้ธนาคารทหารไทย จำกัด เมื่อวันที่3 ตุลาคม 2529 โดยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน2,280,588 บาท โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการผิดนัดของบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้แทนไปจึงย่อมรับช่วงสิทธิของธนาคารทหารไทย จำกัด เพื่อไล่เบี้ยกับลูกหนี้ โจทก์จึงชอบที่จะได้รับเงินชำระหนี้จากจำเลยและนายเลื่อมด้วยในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัด และยอมผูกพันตนเป็นลูกหนี้ร่วมกับบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัด ต่อมานายเลื่อมได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 1,140,274 บาท ส่วนอีกครึ่งหนึ่งผลักภาระให้จำเลย โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงิน1,140,274 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,204,414 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 1,140,274 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองได้นำโฉนดที่ดินตามฟ้องไปจำนองกับธนาคารทหารไทย จำกัด เพื่อเป็นประกันการกู้เงินหรือเบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัดจริง สืบเนื่องมาจากนายวิษณุ ศรีสุวรรณกาฬ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทฐาปนวิทย์จำกัดกับนายสัมพันธ์ นาคนาม ได้มาติดต่อขอเช่าโฉนดที่ดินของโจทก์เพื่อไปค้ำประกันกับบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัด ในการกู้เงินจากธนาคารโดยนายเลื่อม โพธิ์ศิริ พี่เขยของจำเลยเป็นผู้พาไปพบโจทก์ เมื่อตกลงกันได้ทั้งสองฝ่ายรวมทั้งนายเลื่อนได้มาขอให้จำเลยในฐานะผู้ใหญ่บ้านช่วยค้ำประกันให้อีกชั้นหนึ่งจำเลยจึงได้ค้ำประกันให้โดยมีระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่21 มีนาคม 2521 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2522 ต่อมาเมื่อครบกำหนด 1 ปีประมาณเดือนเมษายน 2522 จำเลยได้ไปหานายวิษณุเพื่อให้ดำเนินการไถ่ถอนที่ดินคืนโจทก์ แต่ปรากฏว่านายวิษณุได้ให้นายเลื่อมพาโจทก์มาพบและโจทก์ได้ตกลงให้นายวิษณุเช่าโฉนดที่ดินดังกล่าวของโจทก์ต่อไปอีก โดยโจทก์ได้รับค่าตอบแทนในการให้เช่าโฉนดปีละ 100,000 บาทและขอให้จำเลยช่วยรับรองค้ำประกันต่ออีก แต่จำเลยไม่ตกลงยินยอมด้วย สัญญาค้ำประกันตามฟ้องจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกนายเลื่อม โพธิ์ศิริเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3) ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาที่จำเลยและจำเลยร่วมทำไว้ต่อโจทก์มีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกัน เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้วโจทก์ทั้งสองยอมผ่อนเวลาให้แก่บริษัทฐาปนวิทย์ จำกัด ออกไปอีก 1 ปี โดยจำเลยมิได้ยินยอมในการผ่อนเวลาด้วย จำเลยและจำเลยร่วมผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยและจำเลยร่วมใช้เงินจำนวน 1,140,274 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2530 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ทั้งสองนำที่ดินของโจทก์ทั้งสองจำนองเป็นประกันหนี้บริษัทฐาปนวิทย์ จำกัด ไว้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด โดยจำเลยและจำเลยร่วมทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการจำนองเพื่อค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ไว้ต่อโจทก์ทั้งสอง ต่อมาบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัดไม่ชำระหนี้ให้ธนาคารทหารไทย จำกัด โจทก์ทั้งสองจึงนำเงินจำนวน2,280,548 บาท ชำระให้ธนาคารทหารไทย จำกัด เพื่อไถ่ถอนจำนองแล้วเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2529 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3เพราะเป็นสัญญาค้ำประกันและโจทก์ทั้งสองได้ผ่อนเวลาให้บริษัทฐาปนวิทย์ จำกัด แล้วนั้น เห็นว่า กรณีจะเป็นสัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 นั้น ต้องเป็นสัญญาซื้อบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ คดีนี้จำเลยและจำเลยร่วมทำสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์ทั้งสองไว้ซึ่งมีข้อความสำคัญว่าตามที่โจทก์ทั้งสองนำโฉนดที่ดินไปจำนองไว้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด เพื่อค้ำประกันหนี้ของบริษัทฐาปนวิทย์จำกัด มีกำหนดเวลา 1 ปี โดยจำเลยและจำเลยร่วมยอมรับผิดชอบเป็นลูกหนี้ร่วมกับบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัด หากบริษัทฐาปนวิทย์จำกัด ผิดสัญญาไม่ไถ่ถอนจำนองให้โจทก์ทั้งสอง จำเลยและจำเลยร่วมยอมรับผิดชอบยินดีไถ่ถอนให้และยินดีชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการจำนองให้โจทก์ทั้งสอง เช่นนี้ โจทก์ทั้งสองเป็นเพียงผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัด ลูกหนี้ของธนาคารทหารไทย จำกัด เจ้าหนี้ โจทก์ทั้งสองจึงมีฐานะเป็นลูกหนี้ของธนาคารทหารไทยจำกัด หาใช่เจ้าหนี้ของบริษัทฐาปนวิทย์จำกัด ไม่ ดังนั้น สัญญาตามเอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยและจำเลยร่วมทำกับโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นสัญญาค้ำประกันตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แต่เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่คู่กรณีอาจทำผูกพันและใช้บังคับระหว่างกันได้ตามกฎหมายเมื่อบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัด ไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัดโจทก์ทั้งสองจึงนำเงินชำระหนี้แทนบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัดและไถ่ถอนจำนองแล้ว ถือได้ว่าบริษัทฐาปนวิทย์ จำกัดไม่ไถ่ถอนที่ดินที่จำนองให้โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยและจำเลยร่วมได้ให้สัญญาไว้ต่อโจทก์ทั้งสอง ซึ่งทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย จำเลยและจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3ด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน