คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4885/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องแจ้งชัดว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ บ้านและที่ดินปลูกบ้าน จำเลยอาศัยในบ้านดังกล่าวและไม่ยอมออกขอบังคับให้จำเลยออกจากบ้านพิพาท เป็นการสมบูรณ์ทั้งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ เพราะเมื่อบ้านปลูกอยู่ในที่ดินโจทก์ไม่ว่าส่วนไหนโจทก์ก็ขอให้ขับไล่จำเลยได้โดยไม่จำเป็นจะต้องมีแผนที่พิพาทประกอบอีกว่าบ้านอยู่ส่วนไหนของที่ดิน เนื่องจากแผนที่พิพาทเป็นรายละเอียดที่จะทำหรือนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยฎีกาว่า แม้การยกให้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือแต่จำเลยอยู่ในบ้านดังกล่าวมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเกิน 30 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ป. เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดเลขที่ 94123 เจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 วรรคสองเดิมดังนั้นเมื่อ ป. โอนที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่ ส.โดยไม่ปรากฏมีเงื่อนไขว่าโอนไปโดยไม่รวมถึงบ้านดังกล่าวก็ต้องถือว่าได้โอนบ้านนั้นด้วย โดยไม่จำเป็นต้องระบุว่าการโอนนั้นให้รวมถึงบ้านด้วยแต่อย่างใด ส. จึงมีสิทธิขายฝากบ้านดังกล่าวนั้นให้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในบ้านดังกล่าวด้วย ส่วนบ้านเลขที่ 2 และ 2/1 ปลูกอยู่ในที่ดินของ ป.บางส่วนอีกทั้งฝ่ายจำเลยมิได้ให้การต่อสู้หรือนำสืบเลยว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของ ป. และใช้สิทธินั้นปลูกบ้านทั้งสองหลังในที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 109 เดิม นอกจากนี้ยังได้ความว่าบ้านทั้งสองหลังได้ต่อเติมอย่างถาวรจากบ้านเลขที่ 1 จึงเป็นส่วนควบกับบ้านและที่ดินของ ป. ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ป. เมื่อ ป.ยกที่ดินให้ ส.ส. จึงได้กรรมสิทธิ์ในบ้านดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 107 วรรคสองเดิมส. จึงมีสิทธิขายฝากบ้านเลขที่ 2 และ 2/1 ให้ไว้แก่โจทก์ได้และโจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้าน 2 หลังนี้เช่นเดียวกับบ้านเลขที่ 1 ในชั้นอุทธรณ์ ฝ่ายจำเลยอุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหายแต่เพียงว่า จำเลยที่ 8 ถึงที่ 17 อยู่ในบ้านของตนเองโจทก์จึงไม่เสียหายเท่านั้น หาได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 2,000 บาท ต่อหลังสูงเกินไปและไม่ชอบเพราะเหตุใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะอ้างอิงขึ้นกล่าวไว้โดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยแล้วกำหนดค่าเสียหายของโจทก์ลดลงเหลือหลังละ 500 บาทต่อเดือนจึงเป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และให้บังคับเรื่องค่าเสียหายไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันมากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1881/2529 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนนี้เป็นจำเลยที่ 8 ถึงที่ 17 ตามลำดับแต่คดีดังกล่าวคู่ความมิได้อุทธรณ์ และคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 16ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์จึงได้ยุติไปแล้ว คงมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะสามคดีนี้
โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนเป็นใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านเลขที่ 2/1 และบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 9 และที่ดินที่ตั้งบ้านดังกล่าวโดยโจทก์ซื้อฝากบ้านและที่ดินนั้นจากนายสมใจ กาญจนอุดม และหลุดเป็นของโจทก์จำเลยที่ 8 ที่ 9อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 2/1 จำเลยที่ 1 ที่ 11 และที่ 12อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 2 จำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 2 จำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 1จำเลยทั้งหมดขออาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวจากเจ้าของเดิมโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งหมดอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวต่อไปและบอกกล่าวให้จำเลยทั้งหมดออกไปแล้ว แต่จำเลยทั้งหมดไม่ยอมออกไป ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งหมดและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านพิพาทและที่ดินโจทก์ส่งมอบบ้านพิพาทและที่ดินแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย และห้ามยุ่งเกี่ยวกับบ้านและที่ดินต่อไปกับให้จำเลยแต่ละสำนวนใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะออกไป
จำเลยทั้งสามสำนวนเว้นจำเลยที่ 16 ให้การว่า บ้านเลขที่ 2/1เป็นของจำเลยที่ 8 ที่ 9 บ้านเลขที่ 2 เป็นของจำเลยที่ 10 ที่ 11และที่ 12 บ้านเลขที่ 1 เป็นของจำเลยที่ 13 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 17 ไม่ได้ปลูกอยู่ในที่ดินโจทก์ ค่าเสียหายโจทก์คิดมากเกินไปหากมีก็ไม่เกินเดือนละ 200 บาท และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 16 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 87 ถึงที่ 17 ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านพิพาทเลขที่ 1, 2 และ 2/1 หมู่ที่ 9 ของโจทก์ให้จำเลยส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและห้ามยุ่งเกี่ยวต่อไป และให้จำเลยที่ 8 ที่ 9 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท จำเลยที่ 10 ที่ 11 และที่ 12ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 17ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบบ้านและที่ดินพิพาทคืนโจทก์
จำเลยที่ 8 ถึงที่ 15 และที่ 17 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 8 ที่ 9 กลุ่มหนึ่ง จำเลยที่ 10 ถึงที่ 12 กลุ่มหนึ่ง และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 17 อีกกลุ่มหนึ่ง แต่ละกลุ่มร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบบ้านพิพาทคืนโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 8 ถึงที่ 15 และที่ 17 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 8 ถึงที่ 15และที่ 17 ก่อน โดยฎีกาประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์รับซื้อฝากที่ดินและบ้านพิพาทโดยถือว่าบ้านเป็นส่วนควบกับที่ดิน คดีมีประเด็นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในตัวบ้าน ฟ้องโจทก์ไม่แสดงแผนที่พิพาทให้จำเลยทราบ จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องแจ้งชัดว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินปลูกบ้าน จำเลยได้อาศัยในบ้านดังกล่าวและไม่ยอมออกขอบังคับให้จำเลยออกจากบ้านพิพาท เป็นการสมบูรณ์ทั้งสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับ เพราะเมื่อบ้านปลูกอยู่ในที่ดินโจทก์ไม่ว่าส่วนไหน โจทก์ก็ขอให้ขับไล่จำเลยได้โดยไม่จำเป็นจะต้องมีแผนที่พิพาทประกอบอีกว่าบ้านอยู่ส่วนไหนของที่ดิน เนื่องจากแผนที่พิพาทเป็นรายละเอียดที่จะทำหรือนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ฎีกาประการที่สองมีว่า บ้านพิพาททั้งสามหลังปลูกในที่ดินโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าจำเลยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบ้านพิพาททั้งสามหลังอยู่ในที่ดินของนายปั้นบางส่วน เมื่อโจทก์ได้รับซื้อฝากจนได้กรรมสิทธิ์โจทก์ย่อมเป็นเจ้าของและมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้
ฎีกาประการที่สามมีว่า บ้านพิพาททั้งสามหลังเป็นของโจทก์หรือจำเลย ตัวโจทก์เบิกความประกอบเอกสารว่า โจทก์ได้รับซื้อฝากที่ดินและบ้านพิพาททั้งสามหลังจากนายสมใจ นายสมใจเคยขายฝากบ้านพิพาททั้งสามหลังพร้อมที่ดินให้แก่ผู้อื่นมาก่อนที่จะขายฝากให้โจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าของบ้านพิพาทเพราะได้รับซื้อฝากจากนายสมใจแล้วไม่ได้ไถ่ถอนคืน ส่วนจำเลยนั้นจำเลยที่ 14 อ้างว่าบ้านเลขที่ 1 นายปั้นบิดาเป็นผู้สร้าง จำเลยที่ 14 อยู่ที่บ้านพิพาทเลขที่ 1 มาตั้งแต่เด็กและนายปั้นยกให้เป็นเรือนหอจำเลยที่ 13 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 14 จึงอยู่ด้วยกันที่บ้านหลังดังกล่าวนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 14 หาได้มีเอกสารหลักฐานใด ๆมานำสืบสนับสนุนไม่ จึงรับฟังไม่ได้ และแม้นายปั้นจะยกบ้านเลขที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 14 จริงก็ตาม แต่เมื่อไม่ได้จดทะเบียนการยกให้ก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 525 ประกอบมาตรา 1299 ที่จำเลยที่ 14 ฎีกาว่าแม้การยกให้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่จำเลยที่ 14ก็อยู่ในบ้านดังกล่าวมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเกิน 30 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น จำเลยที่ 14 มิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 14 ได้กรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่ 1โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 14 ได้กรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเมื่อนายปั้นเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 1 ประกอบกับบ้านดังกล่าวเป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดเลขที่ 94123 เจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 107 วรรคสองเดิม ดังนั้นเมื่อนายปั้นโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 9413 ให้แก่นายสมใจโดยไม่ปรากฏมีเงื่อนไขว่าโอนไปโดยไม่รวมถึงบ้านเลขที่ 1 ก็ต้องถือว่าได้โอนบ้านเลขที่ 1นั้นด้วย โดยไม่จำเป็นต้องระบุว่าการโอนนั้นให้รวมถึงบ้านเลขที่ 1นายสมใจจึงมีสิทธิขายฝากบ้านเลขที่ 1 ให้แก่โจทก์ได้โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านดังกล่าว ส่วนบ้านเลขที่ 2 และ 2/1นั้น จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 14 เบิกความว่า บ้านพิพาททั้งสามหลังสร้างมานานประมาณ 40-60 ปี ปลูกอยู่ในที่สาธารณะลักษณะของบ้านมีระเบียงทุกหลังเดินไปมาหากันได้ ตามคำของนางสมพรจำเลยที่ 11 ว่า มารดาของจำเลยที่ 11 เป็นผู้สร้างบ้านเลขที่ 2 ตั้งแต่ก่อนจำเลยที่ 11 เกิด แต่นายศิริจำเลยที่ 8กลับเบิกความว่า บ้านเลขที่ 1 และ 2 เดิมเป็นของนายปั้นจึงทำให้พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เฉพาะอย่างยิ่งที่จำเลยต่อสู้ว่า บ้านเลขที่ 2 บิดามารดาจำเลยที่ 11 เป็นผู้สร้าง แล้วยกให้จำเลยที่ 11 ก็ดี บ้านเลขที่ 2/1 มารดาเป็นผู้ปลูกสร้างแล้วยกให้จำเลยที่ 9 ก็ดี ล้วนแต่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมานำสืบสนับสนุนแต่อย่างใด จึงรับฟังเป็นจริงไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าบ้านเลขที่ 2 และ 2/1 ปลูกอยู่ในที่ดินของนายปั้นบางส่วนดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ฝ่ายจำเลยมิได้ให้การต่อสู้หรือนำสืบเลยว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของนายปั้นใช้สิทธินั้นปลูกบ้านทั้งสองหลังในที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109 เดิม นอกจากนี้ยังได้ความว่าบ้านทั้งสองหลังได้ต่อเติมอย่างถาวรจากบ้านเลขที่ 1ของนายปั้น เมื่อนายปั้นยกที่ดินให้นายสมใจ นายสมใจจึงได้กรรมสิทธิ์ในบ้านดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 107 วรรคสองเดิม นายสมใจจึงมีสิทธิขายฝากบ้านเลขที่ 2และ 2/1 ให้ไว้แก่โจทก์ได้ และโจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้าน 2 หลังนี้เช่นเดียวกับบ้านเลขที่ 1 ดังได้วินิจฉัยมาแล้วที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 8 ถึงที่ 17 ขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านพิพาทแต่ละหลังดังกล่าวนั้นชอบแล้ว
สำหรับเรื่องค่าเสียหายที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินและบ้านพิพาทควรมีผลประโยชน์จากการให้เช่าได้เดือนละ 2,000 บาทในบ้านแต่ละหลังนั้น เห็นว่าเกี่ยวกับค่าเสียหายนี้ในชั้นอุทธรณ์ฝ่ายจำเลยอุทธรณ์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 8 ถึงที่ 17อยู่ในบ้านของตนเอง โจทก์จึงไม่เสียหายเท่านั้น หาได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 2,000 บาทต่อหลัง สูงเกินไปและไม่ชอบเพราะเหตุใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะอ้างอิงขึ้นกล่าวไว้โดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยแล้วกำหนดค่าเสียหายของโจทก์ลดลงเหลือหลังละ 500 บาทต่อเดือนจึงเป็นการไม่ชอบ และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยต้องบังคับเรื่องค่าเสียหายไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 8 ที่ 9 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท จำเลยที่ 10 ที่ 11 และที่ 12 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 17ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share