แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เช่าที่นาจากจำเลยที่ 1 ทำนาเพียงปีเดียวหลังจากนั้นโจทก์ได้ขุดบ่อเลี้ยงปลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จนถึงวันฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว โจทก์หาได้ทำนาในที่พิพาทไม่จึงถือไม่ได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่านาตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 21 แต่เป็นการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่น ปรากฏว่าขณะเกิดกรณีพิพาทยังไม่มี พ.ร.ฎ. ออกตามความมาตรา 63 ควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่น ดังนั้นโจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว ฟ้องแย้งของจำเลยต้องตกไป เพราะการฟ้องแย้งนั้นจะมีได้จะต้องมีฟ้องเดิมและตัวโจทก์เดิม ที่จะเป็นจำเลยของฟ้องแย้งอยู่ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อปี พ.ศ. 2522 โจทก์เช่าที่นาโฉนดเลขที่ 5040 ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการเนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ จากจำเลยที่ 1 ตกลงค่าเช่าปีละ 3,000 บาทโจทก์ได้เข้าทำนาในที่ดินดังกล่าว แต่เนื่องจากน้ำทะเลเข้าถึงการทำนาไม่ได้ผลและขาดทุน ่ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2523 โจทก์ได้ไปขอจำเลยที่ 1 แปรสภาพที่นาทำเป็นที่เลี้ยงปลาสลิด จำเลยที่ 1ตกลงยินยอมโจทก์จึงได้ลงทุนเลี้ยงปลาสลิดตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันต่อมาเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2528 จำเลยที่ 1 จะขายที่นาดังกล่าวจึงให้นายทองใบไปบอกโจทก์ว่าโจทก์ต้องการจะซื้อที่นาดังกล่าวหรือไม่ในราคา 300,000 บาท นายทองใบไม่ไปแจ้งต่อโจทก์ แต่กลับไปบอกจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 จะขายที่นาดังกล่าวโดยคิดค่านายหน้าแล้วไป แจ้งเท็จต่อจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ไม่ต้องการซื้อ จำเลยที่ 1หลงเชื่อจึงทำสัญญาซื้อขายที่นาดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 ในราคา300,000 บาท และบันทึกในสัญญาซื้อขายว่าโจทก์ยินยอมให้ขายโจทก์ทราบเรื่องจึงไปแจ้งความประสงค์จะซื้อที่นาดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ไปบอกจำเลยที่ 2 ไปรับมัดจำคืนจำเลยที่ 2 ไม่ขอรับเงินมัดจำคืนและไม่เลิกสัญญา การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้ดจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่นาโฉนดเลขที่ 5040 ตำบลบางปลา อำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ ให้แก่โจทก์ และรับเงินค่าที่ดินจำนวน300,000 บาท ไปจากโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้ถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ไม่มีผลบังคับ
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่เคยเช่าที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นเพียงบริวารของนายทองใบ มิตรเจริญ ซึ่งเป็นผู้เช่าที่พิพาทเพื่อเลี้ยงปลาโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่เคยทำนาหรือพืชไร่ในที่พิพาทเพราะที่พิพาทเป็นบ่อเลี้ยงปลามาก่อน โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งเป็นหนังสือต่อโจทก์ นายทองใบและกำนันตำบล (คชก.) ว่าจำเลยที่ 1 จะขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์มิได้แจ้งความจำนงจะซื้อที่พิพาทภายในกำหนด 30 วัน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความและเป็นฟ้องเคลือบคลุม เมื่อจำเลยที่ 1 ให้นายทองใบเช่าที่พิพาทเลี้ยงปลา โจทก์ซึ่งเป็นบริวารของนายทองใบได้ปลูกสร้างบ้านในที่พิพาท และสัญญาเช่าดังกล่าวได้ระงับแล้ว และก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้นายทองใบและโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 จะขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 นายทองใบและโจทก์ยินยอม และตกลงจะออกไปจากที่พิพาท หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์รื้อถอนบ้านออกไปจากที่พิพาท โจทก์เพิกเฉยการกระทำของโจทก์เป็นการละเมิดทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายกล่าวคือ หากจำเลยที่ โอนที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 200,000 บาท และจำเลยที่ 1 ขาดผลประโยชน์จากที่พิพาทของคิดค่าเสียหายจากโจทก์เดือนละ 2,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้บังคับโจทก์อพยพขนย้ายรื้อถอนบ้านเลขที่ 72ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5040 ตำบลบางปลา อำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาทนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะออกไปและมอบที่พิพาทให้แก่โจทก์(น่าจะเป็นจำเลยที่ 1) เสร็จ หากโจทก์ไม่รื้อถอนและออกไปขอให้ศาลออกหมายจับ หรือยอมใหด้จำเลยที่ 1 เข้าทำการรื้อถอนบ้านดังกล่าว โดยโจทก์เป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 2,000 บาท
จำเลย ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เช่าที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยมอบอำนาจให้นายทองใบ มิตรเจริญ ทำสัญญา โจทก์ปลูกข้าวลงในที่พิพาท แต่เนื่องจากสภาพที่พิพาทน้ำทะเลเข้าถึง เป็นอุปสรรคแก่การทำนา ทำให้โจทก์ขาดทุน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2523 โจทก์จึงขอจำเลยที่ 1 แปรสภาพที่พิพาทเป็นบ่อเลี้ยงปลา จำเลยที่ 1 ยินยอมก่อนจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบโดยตรง แต่ไปแจ้งต่อนางทองใบ โจทก์ไม่เคยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทกับจำเลยที่ 2 โจทก์ได้ไปคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่อำเภอและขอบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวต่อจำเลยทั้งสอง และโจทก์ไม่เคยได้รับการบอกกล่าวให้ออกไปจากที่พิพาท โจทก์อยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่า โจทก์จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 โจทก์ไม่ได้ทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 และไม่ทำให้จำเลยที่ 1เสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์และบริวารรื้อถอนขนย้ายบ้านของโจทก์ออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 5040ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เดือนละ 250 บาท นับแต่วันฟ้องแย้ง(27 ธันวาคม 2527) จนกว่าจะออกและส่งมอบที่พิพาท ถ้าโจทก์ไม่รื้อถอนขนย้ายบ้านออกไปให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนขนย้ายโดยให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนขนย้ายบ้านของโจทก์ โดยให้โจทก์เสียค่าใช้จ่าย2,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “…การฟ้องขอให้เจ้าของนาและผู้รับโอนนาโอนขายนาให้แก่ผู้เช่า จะต้องพิจารณาว่าโจทก์ทำนาหรือไม่ก่อนและตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 21 บัญญัติว่า “นา” หมายความว่าที่ดินที่เช่าเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ “ทำนา” หมายความว่า การเพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าที่นาจากจำเลยที่ 1 ทำนาเพียงปีเดียวหลังจากนั้นโจทก์ได้ขุดบ่อเลี้ยงปลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523จนถึงวันฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวขณะเกิดกรณีพิพาทโจทก์หาได้ทำนาในที่พิพาทไม่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้เช่านาตามความในพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแต่เป็นการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่น จึงต้องนำพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 63 มาใช้บังคับซึ่งมาตราดังกล่าวบัญญัติมีใจความว่า ในกรณีที่การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทใด นอกจากการเช่านา เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดให้การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทนั้นมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อขจัดปัญหา ก็ให้มีอำนาจกระทำการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ปรากฏว่าขณะนี้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นดังนั้นโจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ต้องตกไปเพราะการฟ้องแย้งนั้นจะมีได้จะต้องมีฟ้องเดิมและตัวโจทก์เดิมที่จะเป็นจำเลยของฟ้องแย้งอยู่ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1.