แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดีแรงงานได้ต้องเป็นบุคคลดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (11) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 คำว่า “คู่ความ” หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ฯลฯ และคำว่าบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดังนั้นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเท่านั้นที่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ สำหรับนิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น องค์กรต่าง ๆ แม้ประกอบไปด้วยบุคคลหลายคนหากมิได้เป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นแล้ว แม้บุคคลในองค์กรเหล่านั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ผู้ที่ได้รับความเสียจากบุคคลในองค์กรเหล่านั้นก็ไม่อาจฟ้ององค์กรเหล่านั้นได้ แต่ชอบที่จะฟ้องบุคคลที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้โดยตรง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ให้อำนาจศาลแรงงานที่จะตรวจคำคู่ความที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลได้รับไว้ เมื่อศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นนิติบุคคลอันจะทำให้เห็นได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 อาจเข้าเป็นคู่ความหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ ก็ชอบที่จะให้โจทก์เสนอหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ได้เพราะเป็นการตรวจสอบถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ หากจำเลยที่ 1 มิได้เป็นนิติบุคคล ศาลแรงงานกลางก็ไม่อาจรับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ไว้ได้ ซึ่งเป็นการตรวจสอบเบื้องต้นในชั้นตรวจรับคำฟ้อง มิใช่ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจตรวจสอบแต่เป็นเรื่องที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 3 และนิติบุคคลประเทศสหรัฐอเมริกาประเภทหน่วยราชการ มีสถานที่ทำการในประเทศไทย จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ส่วนที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่เพื่อจำเลยที่ 3 ในประเทศไทย จำเลยที่ 3 จ้างโจทก์ให้ทำงานกับจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2525 และจำเลยที่ 3 สั่งให้โจทก์ทำงานให้แก่แก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2530 ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้อำนวยการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีคำสั่งให้พักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2544 เป็นการพักงานในระหว่างการสอบสวนข้อกล่าวหาโจทก์ในเรื่องการยักยอกเงินกองทุนและทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 โดยไม่ได้ค่าจ้างและต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงและมีการประพฤติทุจริตไม่ชอบ ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งต่อจำเลยที่ 3 ผ่านจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 3 ยืนยันคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างจนถึงวันฟ้องจำนวน 1,470,324 บาท และนับถัดจากวันฟ้องเดือนละ 61,263.50 บาทไปจนกว่าจำเลยที่ 3 จะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน จ่ายค่าเสียหายต่อชื่อเสียงจากการผิดสัญญาจ้างจำนวน 5,000,000 บาท จ่ายเงินที่โจทก์มีสิทธิตามสัญญาจ้างจำนวน 2,325,024 บาท จ่ายค่าจ้างจำนวน 339,305.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 101,791.66 บาท และนับแต่วันถัดจากวันฟ้องในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 339,305.54 บาท ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสนอหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลภายใน 10 วัน เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์ตรวจสอบข้อมูลที่จำเลยที่ 1 เผยแพร่แก่สาธารณชนตามเอกสารภาษาอังกฤษที่แนบแล้ว โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต้องมีสถานะเป็นบุคคล และกองทัพบกของจำเลยที่ 3 ย่อมเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับกองทัพบกของรัฐบาลไทย ขอให้รับคำฟ้องของโจทก์
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยเป็นเพียงความเห็นของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 มีสถานะเป็นบุคคล จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลส่วนจำเลยที่ และที่ 3 ก็ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าเป็นนิติบุคคล ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจถูกฟ้องเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่าที่ศาลแรงงานกลางไม่รับคำฟ้องของโจทก์ชอบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา โจทก์ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลก่อนศาลแรงงานกลางรับคำฟ้องไว้ได้ เพราะต้องเรียกเอกสารจากบุคคลภายนอกหลังจากที่ศาลแรงงานกลางรับคำฟ้องของโจทก์ไว้แล้ว ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น จำเลยที่ 2 เป็นองค์กรของรัฐบาลต่างประเทศจำเลยที่ 3 เป็นรัฐบาลต่างประเทศ การพิจารณาถึงสถานะของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยใช้กฎหมายภายในประเทศโดยที่ยังมิได้รับฟังข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาเสียก่อนย่อมไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 3 ยังเป็นองค์กรที่ประเทศไทยรู้จักและมีกฎหมายหลายฉบับรับรองให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย จำเลยที่ 3 ยังมีข้อตกลงเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจำเลยที่ 3 จึงสามารถเป็นจำเลยได้ สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ประมวลรัษฎากรมีข้อยกเว้นบรรดารัษฎากรให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 ก็สามารถออกหนังสือเดินทางให้แก่คนชาติตนได้ แสดงว่าจำเลยที่ 2 สามารถเป็นคู่ความได้ และอาจถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดีแรงงานได้ต้องเป็นบุคคลดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (11) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 คำว่า “คู่ความ” หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ฯลฯ และคำว่าบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดังนั้น บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเท่านั้นที่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ สำหรับนิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น องค์กรต่าง ๆ แม้ประกอบไปด้วยบุคคลหลายคนหากมิได้เป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นแล้ว แม้บุคคลในองค์กรเหล่านั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากบุคคลในองค์กรเหล่านั้นก็ไม่อาจฟ้ององค์กรเหล่านั้นได้ แต่ชอบที่จะฟ้องบุคคลที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้โดยตรง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ให้อำนาจศาลแรงงานที่จะตรวจคำคู่ความที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลได้รับไว้ เมื่อศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่โจทก์ฟ้องนั้นมิได้เป็นนิติบุคคลที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามบทบัญญัติของกฎหมายใด อันจะทำให้เห็นได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 อาจเข้าเป็นคู่ความหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ ศาลแรงงานกลางก็ชอบที่จะให้โจทก์เสนอหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ได้เพราะเป็นการตรวจสอบถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ หากจำเลยที่ 1 มิได้เป็นนิติบุคคลดังที่โจทก์อ้าง ศาลแรงงานกลางก็ไม่อาจรับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ไว้ได้ซึ่งเป็นการตรวจสอบเบื้องต้นในชั้นตรวจรับคำฟ้อง มิใช่ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจตรวจสอบแต่เป็นเรื่องที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาเท่านั้น ดังที่โจทก์อุทธรณ์ เมื่อในชั้นตรวจสอบรับคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอันจะเป็นคู่ความในคดีได้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นศาลแรงงานกลางไม่รับคำฟ้องโดยเห็นว่าไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าเป็นนิติบุคคล โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคล ศาลแรงงานกลางพิจารณาเพียงอาศัยกฎหมายไทยแล้วไม่รับคำฟ้องของโจทก์ยังไม่ถูกต้อง แต่อุทธรณ์ของโจทก์ก็มิได้อ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศฉบับใดเช่นเดียวกัน ข้ออ้างตามอุทธรณ์ที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นองค์กรที่ประเทศไทยรู้จักและกฎหมายไทยรับรองให้องค์กรนี้เข้ามาดำเนินการในประเทศไทย มีข้อตกลงเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับรัฐบาลแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 2 ได้รับยกเว้นบรรดารัษฎากร และสามารถออกหนังสือเดินทางให้แก่คนชาติตนได้ เป็นเพียงเรื่องที่รัฐบาลไทยปฏิบัติต่อบุคคลขององค์กรเหล่านี้เท่านั้นหาเป็นเหตุผลที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศไม่ ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับคำฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จึงชอบแล้วเช่นกัน อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน