คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1115 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติบังคับให้ผู้มีส่วนได้เสียต้องฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนหรือร้องขอให้ศาลสั่งบังคับให้เปลี่ยนชื่อในทันทีที่มีการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิของชื่อบริษัทที่พ้องหรือคล้ายคลึงกับชื่อบริษัทอื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้วหรือตั้งไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิฉบับอื่นอันได้จดทะเบียนไว้แล้ว แม้โจทก์ที่ 2 จะมิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทันทีหลังจากที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์ที่ 2 เสียสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปไม่ การที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อพ.ศ.2520 โดยใช้ชื่อว่าบริษัทโอเรียนเต็ล แล็ปปิดารี่ จำกัด และมีชื่อภาษีอังกฤษว่า ORIENTAL CAPIDARY COMPANY LIMITED ส่วนจำเลยที่ 1จดทะเบียนนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อ พ.ศ.2530 โดยใช้ชื่อว่าบริษัทโอเรียนเต็ลเจมส์แลปิดารี่ จำกัด มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ORIENTAL GEMESLAPIDARY COMPANY LIMITED แม้ชื่อของโจทก์ที่ 2 มีสองคำ ส่วนชื่อของจำเลยที่ 1 มีสามคำก็ตาม แต่ชื่อคำแรกของโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 เป็นคำคำเดียวกันคือ คำว่า “โอเรียนเต็ล” และ “ORIENTAL” ส่วนคำท้ายของชื่อโจทก์ที่ 2 กับคำท้ายของชื่อจำเลยที่ 1 นั้น แม้ในภาษาไทยจะสะกดต่างกันของโจทก์ที่ 2 สะกดว่า ” แล็ปปิดารี่” ส่วนของจำเลยที่ 1 สะกดคำว่า”แลปิดารี่” ก็ตาม แต่คำทั้งสองก็เขียนและอ่านออกเสียงคล้ายคลึงกันมากทั้งในภาษาอังกฤษก็สะกดด้วยคำเดียวกันคือ “LAPIDARY” ชื่อของโจทก์ที่ 2และจำเลยที่ 1 คงมีชื่อแตกต่างกันเพียงว่าชื่อของจำเลยที่ 1 มีคำว่า “เจมส์”อยู่ตรงกลาง โดยชื่อของโจทก์ที่ 2 ไม่มีคำดังกล่าวเท่านั้น บุคคลทั่วไปเมื่อเห็นชื่อของโจทก์ที่ 2 และชื่อของจำเลยที่ 1 ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศย่อมเห็นได้ว่าชื่อดังกล่าวคล้ายกัน โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทเดียวกัน มีวัตถุประสงค์ในการประกอบการค้าเช่นเดียวกัน ทั้งต่างก็มีสถานประกอบการในกรุงเทพมหานครด้วยกัน โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประกอบการค้าหลังจากโจทก์ที่ 2 เป็นเวลาถึง 10 ปี การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้เริ่มก่อการจึงเป็นการเลียนแบบชื่อของโจทก์ที่ 2ให้คล้ายคลึงกันจนน่าจะลวงให้มหาชนหลงไปได้ เป็นการละเมิดต่อสิทธิในนามของโจทก์ที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 420 และจำเลยที่ 2 ผู้เริ่มก่อการของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1115 วรรคหนึ่ง
แม้โจทก์ที่ 2 นำสืบไม่ได้แน่ชัดว่าความเสียหายของโจทก์ที่ 2จากการที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อคล้ายกับชื่อของโจทก์ที่ 2 เป็นจำนวนแน่นอนเพียงใดศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 ได้ตามที่เห็นสมควร
ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1115 วรรคหนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เริ่มกิจการบริษัทจะต้องรับผิดต่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย หมายความเฉพาะค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัทแรกที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว หรือได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิก่อนแล้ว อันเนื่องมาจากการที่มีการตั้งชื่อบริษัทแล้วในหนังสือบริคณห์สนธิฉบับหลังพ้องหรือคล้ายคลึงกับชื่อของบริษัทแรกนั้นจนน่าจะลวงให้มหาชนหลงไปได้ในช่วงระยะเวลาระหว่างที่มีการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทแล้วดังกล่าวจนถึงเวลาที่ได้จดทะเบียนให้บริษัทหลังนั้นเป็นนิติบุคคลเท่านั้นส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อไปจากการใช้ชื่อพ้องหรือคล้ายคลึงกับชื่อของบริษัทแรกภายหลังจากที่บริษัทหลังได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วนั้น เมื่อบริษัทหลังมีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้ว บริษัทนั้นก็ย่อมเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการละเมิดต่อสิทธิในนามของบริษัทแรกตามป.พ.พ.มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 420 ต่อไป

Share