แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้ออ้างว่าฟ้องเคลือบคลุมตามอุทธรณ์ของจำเลยเป็นคนละเหตุกับที่อ้างต่อสู้มาในคำให้การอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225 ตามระเบียบระบุให้ปลัดสุขาภิบาลเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับกรรมการอื่นในการเก็บและรักษาเงินหากมีการทุจริตเกี่ยวกับการรักษาเงินโดยการปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อจากการปฏิบัติหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้คืนจำเลยที่3เป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์แต่ไม่ได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเงินของโจทก์ในทางปฏิบัติของโจทก์เองจำเลยที่3จึงไม่มีหน้าที่เข้าไปควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเงินของโจทก์โดยตรงดังนั้นการปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่ออันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้กรณีไม่ต้องตามระเบียบที่จะให้จำเลยที่3ชดใช้เงินแก่โจทก์ ในการถอนเงินฝากมีระเบียบให้เป็นหน้าที่ของประธานสุขาภิบาลปลัดสุขาภิบาลและหัวหน้าหน่วยการคลังลงชื่อถอนร่วมกันการไปรับหรือส่งเงินที่ธนาคารหรือที่แห่งใดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่สุขาภิบาลไปรับหรือส่งเงินลำพังผู้เดียวต้องมีกรรมการไปรับหรือส่งเงินร่วมกันรับผิดชอบเป็นคณะกรณีจำนวนเงินเกิน30,000บาทจะต้องมีกรรมการควบคุมร่วมกันอย่างน้อย3คนระเบียบดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการผิดพลาดเกี่ยวกับตัวเงินที่อาจขาดจำนวนหรือสูญหายและเพื่อไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องทุจริตการที่จำเลยที่1เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลโจทก์ปล่อยให้ร.สมุห์บัญชีของโจทก์ถอนเงินตามลำพังและเบียดบังเอาเงินไปจึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่1ต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่2และที่4เป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินของโจทก์โดยเฉพาะจำเลยที่4ยังเป็นหัวหน้าหน่วยการคลังของโจทก์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วยมีเงินผลประโยชน์ของโจทก์ประเภทต่างๆไม่นำส่งเป็นรายได้ของโจทก์เงินของโจทก์ที่เบิกมาใช้จ่ายในรายการต่างๆไม่มีหลักฐานการรับจ่ายและเงินที่ขาดหายไปเพราะลงบัญชีผิดพลาดจำเลยที่2และที่4เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินของโจทก์โดยหน้าที่นอกจากเป็นกรรมการเก็บรักษากุญแจตู้นิรภัยแล้วยังต้องร่วมกันตรวจสอบตัวเงินและหลักฐานแทนตัวเงินและรายงานคงเหลือประจำวันตามระเบียบแต่ไม่ปรากฏว่าในช่วงเวลาที่มีการทุจริตเบียดบังเงินของโจทก์ไปได้มีกาตรวจสอบรายงานคงเหลือประจำวันรวมทั้งบัญชีต่างๆจึงเป็นช่องทางให้ร.ทำการทุจริตขึ้นได้จำเลยที่2และที่4ในฐานะผู้บังคับบัญชาของร.และมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบเงินของโจทก์เป็นรายวันจะอ้างว่าร.ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไม่ได้จำเลยที่2และที่4ปล่อยปละละเลยและประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายต้องรับผิด คณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งรายงานผลการสอบสวนว่ามีบุคคลใดบ้างที่ต้องรับผิดทางแพ่งซึ่งรวมถึงจำเลยที่1ที่2และที่4ด้วยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบและผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้เรียกร้องแก่ผู้ต้องรับผิดทางแพ่งใช้เงินแก่โจทก์ต้องถือว่าโจทก์โดยผู้ว่าราชการจังหวัดผู้มีอำนาจสั่งการรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่คณะกรรมการสอบสวนได้รายงานผลการตรวจสอบสวนไม่ใช่นับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดรู้ว่าร.เป็นผู้ทำละเมิดเพราะจำเลยที่1ที่2และที่4เป็นผู้ต้องร่วมรับผิดในทางแพ่งที่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ต่างรายไปจากร.โจทก์ฟ้องคดียังไม่พ้น1ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสุขาภิบาลซึ่งเป็นนิติบุคคล ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นนายอำเภอพนมไพร และเป็นประธานกรรมการของโจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลและบริหารงานของโจทก์รวมทั้งควบคุมดูแลการเบิกจ่ายและเก็บรักษาเงินของโจทก์ให้เป็นไปตามระเบียบ จำเลยที่ 2 เป็นปลัดอำเภอพนมไพรและเป็นปลัดของโจทก์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินของโจทก์มีหน้าที่ร่วมเก็บรักษาเงินของโจทก์ตามระเบียบ จำเลยที่ 3 เป็นปลัดอำเภอพนมไพรและเป็นปลัดของโจทก์มีหน้าที่ร่วมเก็บรักษาเงินของโจทก์ตามระเบียบจำเลยที่ 4 เป็นปลัดอำเภอพนมไพรเป็นหัวหน้าหน่วยการคลังของโจทก์ และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการเก็บรักษาเงินของโจทก์ ในระหว่างที่เป็นหัวหน้าหน่วยการคลังมีหน้าที่เก็บรักษาเงินของโจทก์ตามระเบียบ ในระหว่างจำเลยทั้งสี่ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมตรวจสอบและติดตามการเก็บรักษาเงินของโจทก์ เป็นเหตุให้นางรัตน์วลี ศรีเสน สมุห์บัญชีของโจทก์เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปหลายรายการเป็นเงินที่จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดทั้งหมด322,745.77 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดจำนวน 126,627.80 บาทจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดจำนวน 50,879 บาท จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดจำนวน 47,179.98 บาท และจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดจำนวน 98,058.99 บาทขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินแก่โจทก์ตามจำนวนที่แต่ละคนต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2532ไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเงินโดยถูกต้องตามระเบียบแล้ว มิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใดนางรัตน์วลี ศรีเสน ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์นอกเหนือความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสี่ เกินกว่าที่จำเลยทั้งสี่จะตรวจสอบควบคุม ฟ้องโจทก์สำหรับ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เคลือบคลุมในรายการที่ 5 ระบุจำนวนเงินที่ขาดหายไปจากการลงบัญชีต่ำกว่าจริงไม่ชัดเจนทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเมื่อเกิน 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบการละเมิดและทราบตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 46,736.71 บาท 50,879 บาท และ 98,058.99 บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินแต่ละรายการดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์ จำเลย ที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เป็นเงินจำนวน 126,627.80 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประเด็นข้อนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 1มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น ประเด็นข้อนี้จึงเป็นที่สุดสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 3.5 ก.ว่า วันที่ 29 กันยายน 2529 โจทก์มีเงินสดที่ได้จากผลประโยชน์อยู่ 62,839.64 บาท แต่นางวลีรัตน์ยกยอดตัวเลขไปลงบัญชีลำดับถัดไปเพียง 16,143 บาท ขาดหายไป46,969.64 บาท ส่วนฟ้องข้อ 3.5 ข.ว่า วันที่ 2 ตุลาคม 2529โจทก์มีเงินสดอยู่ 82,872.64 บาท แต่นางรัตน์วลียกยอดตัวเลขไปลงบัญชีลำดับถัดไปเพียง 82,582.64 บาท ขาดหายไป 290 บาทจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่เข้าใจว่าเมื่อเงินตามฟ้องของโจทก์ข้อ 3.5 ก.ขาดหายไปแล้ว ยอดเงินตามฟ้องข้อ 3.5 ข. เพิ่มมาได้อย่างไรทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ คำฟ้องในส่วนนี้จึงเคลือบคลุมแต่จำเลยที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องลอย ๆ โดยไม่มีพยานเอกสารบัญชีการเงิน ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมค่าใบอนุญาตต่าง ๆ ที่นางรัตน์วลียักยอกไปมาแสดงให้สมฟ้องเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม จึงเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยที่ 2 และที่ 4อ้างเป็นข้อต่อสู้มาในคำให้การ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 4ดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 3โดยตำแหน่งจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ และตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันและที่ไม่ฎีกาโต้เถียงกันว่าจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินของโจทก์ จำเลยที่ 3เป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์ จำเลยที่ 4 เป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยการคลัง และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินของโจทก์ ส่วนนางรัตน์วลี ศรีเสน เป็นเสมียนตราอำเภอพนมไพรและเป็นสมุห์บัญชีสุขาภิบาลโจทก์ นางรัตน์วลีได้เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปหลายรายการรวมเป็นเงินทั้งสิ้น322,745.77 บาท ซึ่งโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ร่วมกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวลดหลั่นกันไปตามความรับผิดชอบของจำเลยแต่ละคนจำนวน 126,627.80 บาท 50,879.99 บาท และ98,058.99 บาท ตามลำดับ โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมายว่า แม้จำเลยที่ 3จะไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรับผิดชอบในการเก็บรักษาเงินของโจทก์ก็ตาม จำเลยที่ 3 ก็ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ 3 เป็นปลัดสุขาภิบาล ตามข้อ 64 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงินการรักษาเงินและการตรวจเงินสุขาภิบาล พ.ศ. 2518 เอกสารหมาย จ.1เห็นว่ากรณีของจำเลยที่ 3 โจทก์อุทธรณ์และฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ให้เป็นกรรมการรักษาเงินของโจทก์ ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย ดังนี้แม้ตามข้อ 64 วรรคแรก แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวระบุว่า “บรรดาเงินรายได้หรือเงินอื่นใดของสุขาภิบาล ให้ประธานกรรมการสุขาภิบาลปลัดสุขาภิบาล หัวหน้าหน่วยการคลังและเจ้าหน้าที่การเงินเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันในการเก็บและรักษา ดังกล่าว หากปรากฏว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับการรักษาเงินตามระเบียบนี้โดยการปล่อยปละละเลย หรือประมาทเลินเล่ออันวิญญูชนพึงกระทำในหน้าที่และฐานะเช่นนั้นให้บุคคลดังกล่าวนี้ร่วมรับผิดชอบชดใช้คืนแก่สุขาภิบาลจนครบภายในเวลาไม่เกิน 30 วัน” แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเงินของโจทก์ดังกล่าวในทางปฏิบัติของโจทก์เองจำเลยที่ 3 จึงไม่มีหน้าที่เข้าไปควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเงินของโจทก์ได้โดยตรง ดังนั้น การปล่อยปละละเลย หรือประมาทเลินเล่ออันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ กรณีไม่ต้องตามข้อ 64 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวที่จะให้จำเลยที่ 3 ชดใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้องได้
เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 นั้น กรณีของจำเลยที่ 1คงมีปัญหาเฉพาะยอดเงิน 79,891.09 บาท เป็นเงินสะสมของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติให้ถอนจากเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารเพื่อฝากสมทบทุนสำนักงานเงินทุนส่งเสริมกิจการสุขาภิบาลนางรัตน์วลีเพียงผู้เดียวเป็นผู้ไปถอนเงินดังกล่าวแล้วเบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ต่อเมื่อกรมการปกครองทวงถามมานางรัตน์วลีจึงตั้งฎีกาเบิกใหม่โดยการแก้ไขวันเดือนปีในฎีกาฉบับเก่าแล้วนำไปเบิกซ้ำอีก และส่งไปแทน ข้อนี้จำเลยที่ 1นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้เบิกจ่ายและมีหนังสือนำส่งแล้ว แต่นางรัตน์วลีเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไป โดยที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว เห็นว่า การถอนเงินและรับเงินดังกล่าว มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงินการเบิกจ่ายเงินการฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินสุขาภิบาล พ.ศ. 2518 ข้อ 60 ได้วางแนวปฏิบัติไว้ความว่าการถอนเงินฝากให้เป็นหน้าที่ของประธานสุขาภิบาล ปลัดสุขาภิบาลและหัวหน้าหน่วยการคลังลงชื่อถอนร่วมกัน การไปรับหรือส่งเงินที่ธนาคาร หรือ ณ สถานที่รับเงินแห่งอื่นใด ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของสุขาภิบาลไปรับหรือส่งเงินแต่ลำพังผู้เดียว ต้องมีกรรมการไปรับหรือส่งเงินร่วมกันรับผิดชอบเป็นคณะกรณีจำนวนเงินที่ไปรับหรือส่งเกิน 30,000 บาทจะต้องมีกรรมการควบคุมร่วมกันอย่างน้อย3 คน เห็นได้ว่า ระเบียบดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการผิดพลาดเกี่ยวกับตัวเงินที่อาจขาดหรือสูญหายไป อันเป็นแนวทางปฏิบัติในเบื้องต้นที่ไม่เปิดช่องให้ผู้เกี่ยวข้องคิดทุจริตได้ด้วย เมื่อระเบียบมีอยู่เช่นนี้ การที่จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามระเบียบที่วางไว้ ปล่อยให้นางรัตน์วลีถอนเงินตามลำพังและเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไป จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ต่างเป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินของโจทก์ โดยเฉพาะจำเลยที่ 4 ยังเป็นหัวหน้าหน่วยการคลังของโจทก์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย เงินของโจทก์ที่ขาดหายไปโดยการเบียดบังของนางรัตน์วลีซึ่งโจทก์เรียกให้ชดใช้คืนนั้นอยู่ในช่วงที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวและเป็นเงินผลประโยชน์ของโจทก์อันเกิดจากรายได้ประเภทต่าง ๆโดยไม่นำส่งเป็นรายได้ของโจทก์ เงินของโจทก์ที่เบิกมาใช้จ่ายในรายการต่าง ๆ โดยไม่มีหลักฐานการรับและจ่ายเงิน นอกจากนี้เป็นเงินของโจทก์ที่ขาดหายไปอันเนื่องจากการลงบัญชีผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินของโจทก์ โดยหน้าที่นอกจากเป็นกรรมการเก็บรักษากุญแจตู้นิรภัยแล้ว ยังต้องร่วมกันตรวจสอบตัวเงินและหลักฐานแทนตัวเงินและรายงานเงินคงเหลือประจำวันตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงินการเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินสุขาภิบาล พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 ข้อ 61 แต่ไม่ปรากฏว่าในช่วงที่มีการทุจริตโดยมีการเบียดบังเงินของโจทก์ไปในรายการต่าง ๆ ดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ได้มีการตรวจสอบรายงานเงินคงเหลือประจำวัน รวมทั้งบัญชีประเภทต่าง ๆ ด้วย จึงเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของนางรัตน์วลีและมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบการเงินของโจทก์เป็นรายวันดังกล่าวจะอ้างว่านางรัตน์วลีไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบย่อมไม่มีเหตุผลฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 4ฎีกาว่า ได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแล้ว โดยเมื่อปรากฏว่านางรัตน์วลีมีพฤติการณ์ส่อไปทางทุจริตแล้ว จึงได้ร่วมกันทำบันทึกถึงจำเลยที่ 1 ให้ตั้งกรรมการขึ้นตรวจสอบบัญชีการเงินจนในที่สุดมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่นางรัตน์วลีนั้นก็เป็นการสายเกินแก้เสียแล้ว พฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ปล่อยปละละเลยและประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้อง
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ต่อไปว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ คณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งได้รายงานผลการสอบสวนว่ามีบุคคลใดบ้างที่ต้องรับผิดทางแพ่งซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ด้วย ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2531 และผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้สั่งให้ดำเนินการเรียกร้องแก่ผู้ต้องรับผิดทางแพ่งให้ชดใช้เงินแก่โจทก์ต่อไป จึงต้องถือว่าโจทก์โดยผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดผู้มีอำนาจสั่งการรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว หาใช่นับแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดรู้ว่านางรัตน์วลีเป็นผู้ทำละเมิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2530 ตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ฎีกาไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ต้องร่วมรับผิดทางแพ่งที่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ต่างรายไปจากนางรัตน์วลี ดังนั้นโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2532 จึงยังไม่พ้น 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน