แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. 2505 และเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. 2505 บังคับในท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ฯลฯ พ.ศ. 2509 นั้น เป็นเรื่องการทำคูน้ำจากคลองชลประทานตามโครงการเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งจะต้องทำตามผังและลักษณะที่อธิบดีกรมชลประทานกำหนดและประกาศแล้ว เมื่อคูน้ำที่ผู้เสียหายขุดทำขึ้นมิใช่เป็นคูน้ำที่ทำตามกฎหมายดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกับพวกทำกันเอง คูน้ำนั้นจึงไม่ใช่คูน้ำที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. 2505 แม้จำเลยจะทำให้เกิดขัดข้อง น้ำไม่ไหลในคูของผู้เสียหาย จำเลยก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ร่วมกันกลบคูน้ำซึ่งเป็นทางชักน้ำจากบึงสาธารณะเข้าสู่ที่นาของผู้เสียหาย เป็นเหตุให้คูน้ำดังกล่าวเกิดขัดข้องน้ำไม่ไหลเข้าสู่ที่นาผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๖, ๒๖ พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ บังคับในท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจันต์ อำเภออู่ทอง อำเภอบางปลาม้า และอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๖, ๒๕ ให้ปรับคนละ ๓๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ มีบทบัญญัติในมาตรา ๒ วรรคแรกว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และจะให้ใช้บังคับในท้องที่ใดมีบริเวณเพียงใด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา” มาตรา ๘ วรรคแรกว่า “เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๒ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำการสำรวจที่ดินภายในเขตแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเพื่อประโยชน์ในการวางผังและกำหนดลักษณะคูน้ำ” มาตรา ๘ วรรคสองว่า “เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการสำรวจที่ดินแล้วทั้งหมดหรือบางส่วนให้อธิบดีกำหนดผังและลักษณะคูน้ำสำหรับที่ดินที่ได้สำรวจแล้วนั้น และประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการของกำนันในท้องที่นั้น” และมาตรา ๙ ว่า “เมื่อได้มีประกาศผังและลักษณะคูน้ำตามมาตรา ๘ วรรคสองแล้ว ให้เจ้าของที่ดินจัดทำคูน้ำตามผังและลักษณะที่ประกาศนั้นให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันประกาศ” และได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ บังคับในท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจันต์ อำเภออู่ทอง อำเภอบางปลาม้า และอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. ๒๕๐๙ ซึ่งมีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ว่า “เนื่องจากปรากฏว่าในเขตการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ ในท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจันต์ อำเภออู่ทอง อำเภอบางปลาม้า และอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี การขุดคลองส่งน้ำสายใหญ่ คลองซอย การสร้างประตูระบายน้ำและท่อส่งน้ำได้ทำเสร็จแล้ว ยังขาดคูน้ำสำหรับส่งน้ำจากคลองชลประทานไปใช้ในการเพาะปลูก สมควรจัดทำคูน้ำเพื่อส่งน้ำไปตามคูน้ำให้ถึงไร่นาทุกแปลง ซึ่งนอกจากกระทำให้ผลผลิตสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นวิธีที่ใช้น้ำโดยประหยัดอีกด้วย ฯลฯ” ดังนี้เห็นได้ว่าการทำคูน้ำตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นเรื่องการทำคูน้ำจากคลองชลประทานตามโครงการเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งจะต้องทำตามผังและลักษณะที่อธิบดีกรมชลประทานกำหนดและประกาศแล้ว ตามฟ้องของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่า คูน้ำที่ผู้เสียหายขุดทำขึ้นเป็นคูน้ำที่ทำตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ ดังกล่าว กลับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกับพวกทำคูกันเอง คูน้ำที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่คูน้ำที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๕ แม้จะฟังว่าจำเลยทั้งสี่ทำให้เกิดขัดข้องน้ำไม่ไหลในคูของผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่ก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน