แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กฎหมายที่มีโทษทางอาญา เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ การริบทรัพย์สินเป็นโทษทางอาญาประการหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 18 (5) ดังนั้น การริบทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นที่มิได้กระทำผิด ย่อมมีผลเท่ากับลงโทษผู้ที่มิได้กระทำความผิดซึ่งกระทำมิได้ แม้ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 35 ที่โจทก์อ้างบัญญัติให้ริบเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่คำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิด หรือมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ก็มิได้มีบทบัญญัติบังคับให้กระทำเช่นนั้นเพียงแต่ให้ริบเสียก่อนเท่านั้น ส่วนการขอคืนทรัพย์สินที่ถูกริบย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นหลักทั่วไป ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถไถของกลางและไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด จึงให้คืนของกลางแก่ผู้ร้อง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง ไม่ริบรถไถล้อยางของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถไถล้อยาง ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้สั่งคืนรถไถล้อยางของกลางแก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มีคำสั่งให้คืนรถไถล้อยาง (รถแทรกเตอร์) ยี่ห้อคูโบต้า สีส้ม หมายเลขเครื่องยนต์ ดี 1703 – 9 วาย 0136 หมายเลขทะเบียนตฆ 597 นครสวรรค์ แก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า นางสาว ส. เป็นญาติกับนาย ม. ซึ่งเป็นบิดาจำเลย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 นางสาว ส.ทำสัญญาเช่าซื้อรถไถล้อยาง (รถแทรกเตอร์) ยี่ห้อคูโบต้าจากผู้ร้อง นางสาว ส. ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 70,000 บาท ส่วนที่เหลือเมื่อรวมผลประโยชน์ร้อยละ 5.38 ต่อปี และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ทำสัญญาเช่าซื้อรวม 528,392 บาท ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 60 งวด ตามอัตราที่กำหนดท้ายสัญญา เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 15 เมษายน 2554 และภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ ก่อนเกิดเหตุนาย ส. ขอยืมรถไถดังกล่าว จากนางสาว ส.ไปไถไร่เพื่อปลูกมันสำปะหลัง เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2554 จำเลยอายุ 13 ปีเศษ ซึ่งเป็นบุตรของนาย ม.กับนาง ช. ได้ขับรถไถพรวนดินอยู่ก็ถูกจับกุมพร้อมรถไถถูกยึดเป็นของกลาง ต่อมาจำเลยถูกฟ้องตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ในข้อหาบุกรุก แผ้วถางป่า เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษและริบรถไถของกลาง เมื่อผู้ร้องทราบว่ารถไถถูกริบ จึงบอกเลิกสัญญา นางสาว ส.และผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คำพิพากษาศาลล่างที่ให้คืนรถไถของกลางแก่ผู้ร้องชอบแล้วหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 นั้น เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 35 บัญญัติให้ริบเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ซึ่งบุคคลใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้ริบเสียทั้งสิ้น โดยไม่คำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิดหรือมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษา หรือไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาให้คืนของกลางแก่ผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 จึงไม่ชอบ เห็นว่า กฎหมายที่มีโทษทางอาญา เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ การริบทรัพย์สินเป็นโทษทางอาญาประการหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 (5) ดังนั้น การริบทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นที่มิได้กระทำผิด ย่อมมีผลเท่ากับลงโทษผู้ที่มิได้กระทำความผิด ซึ่งกระทำมิได้ ทั้งตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติที่โจทก์อ้าง มิได้มีบทบัญญัติบังคับไว้เช่นนั้น เพียงให้ริบเสียก่อนเท่านั้น ส่วนการขอคืนทรัพย์สินที่ถูกริบ ย่อมเป็นตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นหลักทั่วไป ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถไถของกลาง และไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มาและให้คืนของกลางแก่ผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน