คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4853-4854/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ห้ามโยกย้างสับเปลี่ยนตำแหน่งของโจทก์ จำเลยนายจ้างย่อมมีอำนาจโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ได้ ไม่เป็นการผิดสัญญาเกี่ยวกับสภาพการจ้างและไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ทั้งโจทก์ยังมิได้ถูกเลิกจ้าง กรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 49 การโยกย้ายเช่นนี้หามีกฎหมายให้อำนาจแก่ศาลที่จะพิจารณาเป็นประการใดไม่
หากผลของการโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ก่อให้เกิดการดูหมิ่นเกลียวชัง เสียชื่อเสียง ขาดความเชื่อถือแก่โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการละเมิดจริง ก็ไม่เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดที่เกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน การละเมิดเช่นว่านี้หาอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานที่จะพิจารณาพิพากษาไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องสองสำนวนเป็นความว่า จำเลยกลั่นแกล้งประเมินผลงานของโจทก์ต่ำกว่าเป็นจริง ให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งตำกว่าเดิมและอยู่ในบังคับบัญชาของผู้ที่ต่ำกว่าจากพนักงานระดับชั้น ๔๓ ไปเป็นพนักงานระดับชั้น ๔๑ เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย สภาพการจ้างและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ไม่เป็นธรรมและเป็นละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกเลิกคำสั่งที่โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้พัฒนาการตลาดพิเศษให้จำเลยแต่งตั้งโจทก์ในตำแหน่งที่เหมาะสมอันไม่เป็นการลดตำแหน่งให้ปรับระดับชั้นเท่าเดิมหรือสูงกว่าเดิม ให้ใช้ค่าเสียหายที่ไม่ได้ขึ้นเงินเดือน ค่าเสียหายที่ถูกดูหมิ่นเกลียดชังเสียชื่อเสียงพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยมิได้กลั่นแกล้งโจทก์ สินค้าของจำเลยจำหน่ายได้น้อยลง จำต้องปรับปรุงโครงสร้าง การบริหารใหม่และสับเปลี่ยนตำแหน่งตามความจำเป็น การสับเปลี่ยนตำแหน่งของโจทก์ โจทก์คงได้รับเงินเดือนและสวัสดิการเช่นเดิม การขึ้นเงินเดือนของโจทก์โดยพิจารณาจากผลงานของโจทก์และตามคู่มือพนักงาน กำหนดให้พนักงานที่ไม่ได้รับความยุติธรรมร้องเรียนต่อฝ่ายจัดการก่อนมาฟ้องคดี การฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จึงฟ้องแย้งขอให้พิพากษาให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุทำความผิดอย่างร้ายแรงที่กล่าวหาผู้บังคับบัญชาทำ รายงานเท็จ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ โยกย้ายหน้าที่การงานของโจทก์ หากกระทำโดยสุจริต มิใช่กลั่นแกล้ง แต่กรณีของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ถึง ที่ ๓ ไม่พอใจโจทก์ไม่ยอมลาออกตามที่ปรารถไว้ จึงได้กลั่นแกล้งยุบตำแหน่งเดิมของโจทก์ แล้วโยกย้ายลดตำแหน่งลดระดับชั้นลงจากเดิมให้ไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกานต์ผู้มีอาวุโสและเงินเดือนน้อยกว่า เพื่อบีบคั้นจิตใจโจทก์ให้อับอายจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้จะได้ลาออกไปเอง ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะกระทำไปด้วยเหตุผลความจำเป็นทางธุรกิจอย่างแท้จริง เป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริตซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕, ๔๒๑ เป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยที่จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์แล้ว คำขอที่ให้จำเลยที่ ๑ แต่งตั้งโจทก์ในตำแหน่งที่เหมาะสมและปรับระดับชั้นให้สูงเท่าเดิมจึงเป็นไปไม่ได้ โจทก์ต้องเสียชื่อเสียง อับอาย เสียอนาคตในการทำงาน และทำให้สุขภาพจิตเสื่อมเสีย กำหนดค่าเสียหายให้ ๕๓๕,๖๘๐ บาท ฟังไม่ได้ว่าโจทก์จงใจฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามฟ้องแย้ง พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ถึง ที่ ๓ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ คำขออื่นและฟ้องแย้งให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ ๔
โจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีสัญญา ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ห้ามโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งของโจทก์ประการใด จำเลยทั้งสามจึงมีอำนาจโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ได้ แม้ศาลแรงงานกลางก็ยอมรับอำนาจเช่นว่านั้นของจำเลยดังปรากฏตามคำวินิจฉัยในคำพิพากษาหน้า ๑๐ และหน้า ๑๑ วรรคแรก เมื่อไม่มีสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำกัดสิทธิการโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่ของนายจ้างไว้ จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิและอำนาจที่จะโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ได้โดยชอบการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการผิดกฎหมาย กล่าวคือ กรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ (๑) ถึง, (๕) ประการใดประการหนึ่ง และไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๒๒ (๑) หรือ (๒) ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์ยังมิได้ถูกเลิกจ้าง กรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ นอกจากไม่เป็นการผิดกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังไม่เป็นการผิดสัญญาเกี่ยวกับสภาพการจ้างและไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามที่โจทก์ฟ้องอีกด้วย การโยกย้ายเช่นกรณีนี้หามีกฎหมายให้อำนาจแก่ศาลที่จะพิจารณาเป็นประการใดไม่ ส่วนในข้อที่ว่า ผลแห่งการโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่โจทก์ หากก่อให้เกิดการดูหมิ่นเกลียดชัง เสียชื่อเสียง ขาดความเชื่อถือแก่โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากเป็นละเมิดจริงดังคำฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดที่เกี่ยวกับทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน การละเมิดเช่นว่านี้หาอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานที่จะพิจารณาพิพากษาไม่ ฯลฯ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share