แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๙/๒๕๕๕
วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดหนองบัวลำภู
ระหว่าง
ศาลปกครองอุดรธานี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดหนองบัวลำภูโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๓ นายพงษ์เพชร ระมั่น ที่ ๑ นางไพจิตร โล่หิรัญ ที่ ๒ นางพิสมัย พิพิกุลหรือสักภู่ ที่ ๓ นางสาวพรพูล ระมั่น ที่ ๔ โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานธนารักษ์พื้นที่หนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ ๑ กรมธนารักษ์ ที่ ๒ กระทรวงการคลัง ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖/๒๕๕๓ ความว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๘๖ เลขที่ ๓๘๑๓ และเลขที่ ๓๘๑๒ ตามลำดับ โจทก์ที่ ๔ เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๑๔ และเลขที่ ๓๘๑๕ โดยที่ดินทั้ง ๕ แปลงตั้งอยู่ตำบลหนองบัว (ลำภู) อำเภอหนองบัวลำภู (ปัจจุบันอำเภอเมือง) จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันจังหวัดหนองบัวลำภู) โจทก์ทั้งสี่เป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน โดยโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ เป็นบุตรนางดา ระมั่น กับนายถั่ว ระมั่น ต่อมานายถั่วถึงแก่ความตาย นางดาแต่งงานอยู่กินกับนายทัด ศักดิ์ภู่ และมีบุตรเป็นโจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ ที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นที่ดินเดียวกัน นายทัดได้มาด้วยการรื้อร้าง ถางพงตั้งแต่ปี ๒๔๗๖ ขณะอยู่กินกับนางดา และได้แจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อปี ๒๔๙๘ เมื่อนายทัดถึงแก่ความตาย นางดาและโจทก์ทั้งสี่ครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา และในปี ๒๕๒๐ นางดาให้โจทก์ที่ ๑ ยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ในที่ดินดังกล่าว ทางราชการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๘๖ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๔๐ ตารางวา ใส่ชื่อโจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของ ต่อมา โจทก์ที่ ๑ ได้ทำการแบ่งโอนให้แก่โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ และนางดาเป็นเจ้าของ เมื่อนางดาถึงแก่ความตายที่ดินส่วนของนางดาตกเป็นของโจทก์ที่ ๔ อีก ๑ แปลง โจทก์ทั้งสี่ครอบครองอาศัยใช้ที่ดินดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน แต่ปรากฏว่าเมื่อปี ๒๕๓๐ สำนักงานราชพัสดุจังหวัดอุดรธานีมีหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัวพิทยาคารว่าโจทก์ทั้งสี่ออก น.ส. ๓ ก. ทับที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน ๒๑๕๓๕ มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ ๓๙๑๗/๒๕๑๕ เพื่อให้ดำเนินการเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ทั้งสี่ นางดามารดาโจทก์ทั้งสี่ให้ทนายความบอกกล่าวราชพัสดุจังหวัดอุดรธานีเพื่อให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนที่โจทก์ทั้งสี่ครอบครองเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่เศษ และรับทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าจะมีการดำเนินการสอบสวนสิทธิในที่ดินว่าโจทก์ทั้งสี่ครอบครองก่อนหรือหลังการเป็นที่ราชพัสดุ แต่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งอำเภอหนองบัวลำภูยกฐานะเป็นจังหวัดหนองบัวลำภูที่ดินพิพาทจึงอยู่ในเขตจังหวัดดังกล่าวซึ่งอยู่ในการครอบครองดูแลรักษาของจำเลยทั้งสาม โจทก์ทั้งสี่ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับ ที่หลวงดังกล่าวในส่วนที่โจทก์ทั้งสี่ครอบครอง จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ในที่ดินพิพาทได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ มีสิทธิครอบครองในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๘๖ เลขที่ ๓๘๑๓ และเลขที่ ๓๘๑๒ ตามลำดับ โจทก์ที่ ๔ มีสิทธิครอบครองในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๑๔ และเลขที่ ๓๘๑๕ และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ รวมเนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ใช่เจ้าของและไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๘๖ เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ซึ่งทางราชการสงวนไว้เพื่อสร้างบ้านพักแผนกศึกษาธิการอำเภอหนองบัว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๔๙๕ ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๓ ก่อนที่โจทก์ทั้งสี่จะเข้าครอบครอง โจทก์ที่ ๑ ขอออก น.ส. ๓ ก. โดยไม่ชอบและไม่ได้อ้าง ส.ค. ๑ เลขที่ ๙ ของนายทัด แต่เป็นการขอออกโดยไม่มีหลักฐานอ้างว่ารับการให้จาก นายถั่วและแจ้งข้อความเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนสิทธิว่าที่ดินข้างเคียงเป็นที่ว่าง ทำให้จำเลยทั้งสามไม่มีโอกาสคัดค้าน การออก น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ที่ ๑ เป็นการออกหลังจากมีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จึงเป็นการออก น.ส. ๓ ก. ทับหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ที่รับโอนที่ดินจากโจทก์ที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินเช่นกัน ขณะประกาศออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงก็ไม่มีผู้ใดคัดค้าน โจทก์ทั้งสี่ทราบเรื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ แต่ไม่มีการฟ้องร้องโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวภายใน ๑ ปี โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินในการออกหนังสือสำคัญแสดงแนวเขตที่ดิน จำนวนเนื้อที่ของที่ดินอันเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดหนองบัวลำภูพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสี่และข้อเถียงของจำเลย ทั้งสาม ศาลนี้ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินว่าด้วยการได้สิทธิครอบครองและการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามข้ออ้างของฝ่ายโจทก์ทั้งสี่ว่าฝ่ายโจทก์ทั้งสี่ได้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่แจ้งการครอบครองก่อนฝ่ายจำเลยทั้งสามหรือไม่ และขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าได้ความตามข้ออ้างของโจทก์ทั้งสี่ ศาลนี้มีอำนาจพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและมีอำนาจเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของฝ่ายจำเลยทั้งสามได้ สำหรับข้ออ้างของฝ่ายจำเลยทั้งสามนั้นมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามแจ้งการครอบครองก่อนโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ และจำเลยทั้งสามออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าได้ความตามข้อเถียงของจำเลยทั้งสาม ศาลนี้มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่ได้ ดังนั้นคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการในสังกัดจำเลยที่ ๒ ตามข้อ ๓ (๗) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๒ เป็นส่วนราชการในสังกัดจำเลยที่ ๓ ตามมาตรา ๑๑ (๓) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ จำเลยทั้งสามจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยที่มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้จำเลยที่ ๓ มีอำนาจหน้าที่ในกิจการที่เกี่ยวกับที่ราชพัสดุและทรัพย์สินของแผ่นดิน ส่วนข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้จำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา และพัฒนาที่ราชพัสดุ รวมทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ โดยมีจำเลยที่ ๑ ทำหน้าที่ดูแลที่ราชพัสดุภายในเขตท้องที่จังหวัดหนองบัวลำภู ตามข้อ ๑ (๖๙) ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดและแบ่งเขตท้องที่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๕๑ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามนำที่ดินพิพาทที่อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินของแผ่นดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ และดำเนินการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินแปลงดังกล่าว รวมถึงการมีหนังสืออายัดการทำนิติกรรมในที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินแปลงพิพาทซึ่งส่วนหนึ่งเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ในการคุ้มครองและดูแลที่ราชพัสดุตามที่กฎหมายบัญญัติ
ส่วนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นการออกหนังสือสำคัญของทางราชการเพื่อแสดงแนวเขตที่ตั้ง จำนวนเนื้อที่ของที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และระเบียบ กรมที่ดิน ว่าด้วยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ. ๒๕๑๗ การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในกรณีดังกล่าวของอธิบดีกรมที่ดิน จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอในคดีนี้แล้วเห็นว่ามูลเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่โต้แย้งการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และการใช้อำนาจตามกฎหมายของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองในการดูแลที่ราชพัสดุ โดยการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ การดำเนินการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ราชพัสดุ และการมีหนังสืออายัดการทำนิติกรรมในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ที่โจทก์ ทั้งสี่ครอบครองอยู่ซึ่งอ้างว่าออกทับหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาท กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราช บัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงซึ่งถือเป็นคำสั่งทางปกครองและมีคำพิพากษาแสดงความมีอยู่ซึ่งสิทธิครอบครองของโจทก์ทั้งสี่ตามคำขอของโจทก์ทั้งสี่ได้ ตามมาตรา ๗๒ (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้คำฟ้องในคดีนี้โจทก์ทั้งสี่มิได้ฟ้องอธิบดีกรมที่ดินซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินในการออกหนังสือสำคัญสำหรับ ที่หลวงก็ตาม แต่เมื่ออธิบดีกรมที่ดินเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้ ศาลปกครองสามารถเรียกอธิบดีกรมที่ดินเข้ามาเป็นคู่กรณีด้วยการร้องสอดได้ ตามนัยมาตรา ๓ และมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับข้อ ๗๘ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓
แม้คดีมีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) หรือเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ ๓๙๑๗/๒๕๑๕ ก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของอธิบดีกรมที่ดินและการดูแลที่ราชพัสดุของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เท่านั้น หามีผลทำให้คดีซึ่งเป็นคดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งไปได้ไม่ และแม้การพิจารณาในเรื่องการได้สิทธิครอบครองหรือการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินในที่พิพาทจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่าอันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ส่วนการที่มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ บัญญัติให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ราชพัสดุนั้น เป็นเพียงการถือแทนรัฐโดยมีหน่วยงานต่าง ๆ เป็นผู้ใช้ที่ราชพัสดุเท่านั้น อีกทั้งการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้และจัดประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุของจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๒ อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ กรณีจึงมิอาจถือได้ว่าจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในทำนองเดียวกันกับเอกชนทั่วไปตามมาตรา ๑๓๓๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การถือกรรมสิทธิ์ในที่ราชพัสดุของจำเลยที่ ๓ จึงมีความแตกต่างไปจากผู้มีสิทธิในที่ดินตามนัยมาตรา ๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นเพียงการโต้แย้งเกี่ยวกับสถานะของที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเท่านั้น มิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินดังเช่น ข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยทั่วไปแต่อย่างใด เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๒๓ ประกอบกับมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องอ้างว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๘๖ เลขที่ ๓๘๑๓ และเลขที่ ๓๘๑๒ ตามลำดับ โจทก์ที่ ๔ เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๑๔ และเลขที่ ๓๘๑๕ ตั้งอยู่ตำบลหนองบัว (ลำภู) อำเภอหนองบัวลำภู (ปัจจุบันอำเภอเมือง) จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันจังหวัดหนองบัวลำภู) โดยโจทก์ทั้งสี่ครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา ต่อมาสำนักงานราชพัสดุจังหวัดอุดรธานีมีหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัวพิทยาคารแจ้งว่าโจทก์ทั้งสี่ออก น.ส. ๓ ก. ทับที่ราชพัสดุตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ ๓๙๑๗/๒๕๑๕ ให้ดำเนินการเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ทั้งสี่ มารดาโจทก์ทั้งสี่ซึ่งครอบครองที่ดินบางส่วนในขณะนั้นมอบหมายให้ทนายความบอกกล่าวราชพัสดุจังหวัดอุดรธานีเพื่อให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แต่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองพื้นที่ใหม่และยกระดับอำเภอหนองบัวลำภูขึ้นเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตจังหวัดหนองบัวลำภูซึ่งอยู่ในการครอบครองดูแลรักษาของจำเลยทั้งสาม โจทก์ทั้งสี่จึงแจ้งให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ ก. และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ รวมเนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา หากจำเลยทั้งสาม ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ใช่เจ้าของและไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๔๘๖ เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ซึ่งทางราชการสงวนไว้เพื่อสร้างบ้านพักแผนกศึกษาธิการอำเภอหนองบัว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๔๙๕ ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๓ ก่อนที่โจทก์ทั้งสี่จะเข้าครอบครอง โจทก์ที่ ๑ ขอออก น.ส. ๓ ก. โดยไม่ชอบและไม่ได้อ้าง ส.ค. ๑ เลขที่ ๙ ของบิดาโจทก์ที่ ๓ และที่ ๔ แต่เป็นการขอออกโดยไม่มีหลักฐานอ้างว่ารับการให้จากผู้มีชื่อและแจ้งข้อความเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนสิทธิว่าที่ดินข้างเคียงเป็นที่ว่าง ทำให้จำเลยทั้งสามไม่มีโอกาสคัดค้าน การออก น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ที่ ๑ เป็นการออกหลังจากมีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จึงเป็นการออก น.ส. ๓ ก. ทับหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ที่รับโอนที่ดินจากโจทก์ที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินเช่นกัน เห็นว่า เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสามโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม คำขอของโจทก์ทั้งสี่ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มี สิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายพงษ์เพชร ระมั่น ที่ ๑ นางไพจิตร โล่หิรัญ ที่ ๒ นางพิสมัย พิพิกุลหรือสักภู่ ที่ ๓ นางสาวพรพูล ระมั่น ที่ ๔ โจทก์ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่หนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ ๑ กรมธนารักษ์ ที่ ๒ กระทรวงการคลัง ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
สำเนาถูกต้อง
(นายธนกร หมานบุตร) คมศิลล์ คัด/ทาน
นิติกรปฏิบัติการ