คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4850/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์หรือโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาเรื่องอายุความจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามสัญญาบริการโทรศัพท์แสดงให้เห็นว่า ในกรณีที่มีผู้ขอใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศจะต้องมีการตรวจสอบชื่อและหลักฐานของผู้ขอใช้บริการ เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านและสถานที่ติดตั้ง ดังที่มีการระบุรายการเช่นนั้นไว้ในเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารที่ใช้ในการทำสัญญาบริการโทรศัพท์เป็นเหตุให้มีการอนุมัติให้ใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และในที่สุดไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้บริการรายนี้ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 409,566.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 306,265.52 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 306,265.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545) ต้องไม่เกิน 103,300.60 บาท ตามคำขอของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์หรือโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาเรื่องอายุความจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามสัญญาบริการโทรศัพท์แสดงให้เห็นว่า ในกรณีที่มีผู้ขอใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จะต้องมีการตรวจสอบชื่อและหลักฐานของผู้ขอใช้บริการ เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และสถานที่ติดตั้ง ดังที่มีการระบุรายการเช่นนั้นไว้ในเอกสารดังกล่าว ในข้อนี้โจทก์มี นายสุพจน์ พนักงานตำแหน่งนิติกร 6 ของโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบให้รอบคอบว่านายสถาปัตย์เป็นผู้ขอใช้บริการโทรศัพท์จริงหรือไม่ อีกทั้งนางสาวนันทา และนายบุญเชาว์ พยานจำเลยที่ 1 ก็เบิกความเจือสมว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในการขอใช้บริการโทรศัพท์ทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการมอบอำนาจให้มาทำสัญญาบริการโทรศัพท์แทนนั้นจะต้องมีการตรวจสอบต้นฉบับบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านด้วย แต่ปรากฏว่านายทิพมลเพียงแต่นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของนายสถาปัตย์ กับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายทิพมลมาแสดงประกอบหนังสือมอบอำนาจเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบต้นฉบับเอกสารดังกล่าวจากนายทิพมลที่อ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายสถาปัตย์ นอกจากนี้หากมีการตรวจสอบว่านายทิพมลเป็นผู้รับมอบอำนาจที่แท้จริงแล้ว ก็ย่อมจะต้องให้นายทิพมลลงลายมือชื่อในสัญญาบริการโทรศัพท์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ เพราะเมื่อมีการมอบอำนาจแล้วก็เท่ากับว่านายสถาปัตย์ไม่ได้เป็นผู้มาทำสัญญาเอง แต่สัญญาดังกล่าวกลับมีการระบุชื่อนายสถาปัตย์และมีการลงลายมือชื่อนายสถาปัตย์ ซึ่งเป็นข้อพิรุธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของนายสถาปัตย์ล้วนแต่ระบุว่า นายสถาปัตย์มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1788/398 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร แต่ในหนังสือมอบอำนาจ และสัญญาบริการโทรศัพท์ กลับระบุว่า นายสถาปัตย์อยู่ที่บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 7 ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยอ้างเป็นสถานที่ติดตั้งสำหรับการใช้บริการโทรศัพท์และสถานที่ส่งใบแจ้งหนี้ ซึ่งไม่ตรงต่อความเป็นจริง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารที่ใช้ในการทำสัญญาบริการโทรศัพท์ เป็นเหตุให้มีการอนุมัติให้ใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และในที่สุดไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้บริการรายนี้ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 อันเป็น การทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share