คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6423-6424/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มิได้นิยามคำว่าการประกอบธุรกิจประกันชีวิตไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะประกันภัยของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ การที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้จำเลยเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท เป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 ที่บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัย คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย การที่ระเบียบของจำเลยใช้คำว่าให้สมาชิกบริจาคเงินให้แก่จำเลย แต่ความหมายที่แท้จริงคือเงินที่สมาชิกจะต้องส่งให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นเงื่อนไขเพื่อให้จำเลยใช้เงินในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตตามที่ระบุไว้ในระเบียบเช่นเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัย แม้ตามระเบียบของจำเลยใช้คำว่าบริจาคแทนเงินเบี้ยประกันภัย ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่สมาชิกต้องส่งให้แก่จำเลยไม่เป็นเบี้ยประกันภัย โดยจำเลยมีฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ส่วนสมาชิกมีฐานะเป็นผู้เอาประกันภัย และสมาชิกหรือบุคคลที่สมาชิกระบุในกรณีถึงแก่ความตาย เป็นผู้รับประโยชน์ตาม มาตรา 862 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตาม มาตรา 889 เงินที่ได้รับจากสมาชิกตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 14 กำหนดว่า เมื่อสิ้นปีทางบัญชีหากมีเงินเหลือให้ถือว่าเงินจำนวนนั้นเป็นรายได้ของจำเลย หากปีใดเงินไม่เพียงพอ ให้ถือว่าเงินจำนวนที่ขาดเป็นรายจ่ายของจำเลยการที่จำเลยดำเนินการตามระเบียบโดยมีสมาชิกจำนวน 350 คน จึงเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิต แม้บุคคลที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิกหรือครอบครัวและพนักงานของจำเลยเท่านั้นก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำไม่เป็นการประกอบธุรกิจ เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ปรับจำเลยเป็นเงิน 200,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ จำเลยโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 349/2548 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคณะกรรมการของจำเลยประชุมและลงมติเห็นชอบระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกและพนักงาน พ.ศ.2541 มีใจความสำคัญว่าผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกตามระเบียบต้องยื่นใบสมัครพร้อมเสนอหลักฐานที่สหกรณ์กำหนด และระบุชื่อผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ พร้อมค่าสมัครจำนวน 100 บาท หรือในอัตราที่คณะกรรมการกำหนดสมาชิกจะต้องบริจาคเงินช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกและพนักงานให้แก่จำเลยทุกปี ปีละ 1,200 บาท หากสมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ครอบครัวตามที่สมาชิกระบุ รายละ 60,000 บาท หรือในอัตราที่คณะกรรมการกำหนด หากสมาชิกเจ็บป่วยจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลปีละไม่เกิน 5,000 บาท ตามรายงานการประชุม และระเบียบสหกรณ์การเกษตรบางปลาม้า จำกัด ว่าด้วยการช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกและพนักงาน พ.ศ.2541 หลังจากออกระเบียบดังกล่าวแล้วจำเลยดำเนินการตามระเบียบโดยมีผู้สมัครเป็นสมาชิก 350 คน และมีสมาชิกถึงแก่ความตายและทายาทได้รับเงินไปตามระเบียบนี้รายละ 60,000 บาท จำนวน 2 ราย
ปัญหาที่วินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาประการแรกว่า ตามระเบียบของจำเลยเงินที่สมาชิกต้องบริจาคไว้แก่จำเลยไม่ใช่เบี้ยประกันแต่เป็นเงินที่สมาชิกแต่ละคนบริจาคไว้เพื่อช่วยเหลือสมาชิกและครอบครัวสมาชิก จำเลยมีหน้าที่เพียงรักษาเงินเพื่อเก็บไว้ช่วยเหลือครอบครัวสมาชิก และเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่บุคคลที่สมาชิกระบุจำนวน 60,000 บาท ไม่ใช่การใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเงินจำนวนหนึ่ง ตามลักษณะการประกันภัยและการประกันชีวิต เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มิได้นิยามคำว่าการประกอบธุรกิจประกันชีวิตไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะประกันภัยของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ ดังนั้นการที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้แก่จำเลยเป็นรายปี ปีละ 1,200 บาท จึงเป็นสัญญาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861 ที่บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัย คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย การที่ระเบียบของจำเลยใช้คำว่าให้สมาชิกบริจาคเงินให้แก่จำเลยแต่ความหมายที่แท้จริงก็คือเงินที่สมาชิกจะต้องส่งให้แก่จำเลยเป็นเงื่อนไขเพื่อให้จำเลยใช้เงินในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตตามที่ระบุไว้ในระเบียบเช่นเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัย แม้ตามระเบียบของจำเลยจะใช้คำว่าบริจาคแทนเงินเบี้ยประกันภัย ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่สมาชิกต้องส่งให้แก่จำเลยไม่เป็นเบี้ยประกันภัยโดยจำเลยมีฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ส่วนสมาชิกมีฐานะเป็นผู้เอาประกันภัย และสมาชิกหรือบุคคลที่สมาชิกระบุในกรณีถึงแก่ความตายเป็นผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 862 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่าในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตามมาตรา 889 ซึ่งเงินที่ได้รับจากสมาชิกตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 14 กำหนดว่าเมื่อสิ้นปีทางบัญชีหากมีเงินเหลือให้ถือว่าเงินจำนวนนั้นเป็นรายได้ของจำเลยหากปีใดเงินไม่เพียงพอ ให้ถือว่าเงินจำนวนที่ขาดเป็นรายจ่ายของจำเลย การที่จำเลยดำเนินการตามระเบียบโดยมีสมาชิกจำนวน 350 คน จึงเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิต แม้บุคคลที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิกหรือครอบครัวสมาชิกและพนักงานของจำเลยเท่านั้นก็ตาม ไม่ทำให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นการประกอบธุรกิจ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเจตนาบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิก ในการประชุมระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือสมาชิกและครอบครัวสมาชิก มีตัวแทนสหกรณ์อำเภอบางปลาม้าร่วมประชุมด้วย โดยไม่มีการทักท้วง และยังมีการรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีทราบระเบียบ ต่อมาเมื่อมีการทักท้วงคณะกรรมการดำเนินงานได้มีการประชุมยกเลิกระเบียบแล้ว จำเลยจึงไม่มีเจตนาประกอบธุรกิจประกันชีวิต อันเป็นฎีกาในทำนองว่าจำเลยดำเนินการตามระเบียบโดยไม่รู้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด เห็นว่า นอกจากจำเลยจะอ้างเหตุดังกล่าวเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาหาได้ไม่แล้ว หลังจากที่จำเลยประชุมออกระเบียบแล้ว สหกรณ์อำเภอบางปลาม้าได้มีหนังสือถึงจำเลยให้พิจารณาทบทวนและยกเลิกระเบียบ แต่จำเลยก็ไม่ดำเนินการจนกระทั่งสหกรณ์อำเภอบางปลาม้ามีหนังสือถึงจำเลยให้ยุติการดำเนินการตามระเบียบอีกครั้งหนึ่ง แต่จำเลยยังไม่ยอมยกเลิกระเบียบ โดยมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2543 เพียงแต่ให้แก้ไขข้อความบางประการในระเบียบ ข้อ 4, 7, 12 และ 14 ในลักษณะที่จะหลีกเลี่ยงกฎหมาย จำเลยเพิ่งจะประชุมยกเลิกระเบียบเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2543 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยเจตนา เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18 ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share