คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 546/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินกรรมสิทธิ์รวมที่ยังมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนนั้น เจ้าของรวมคนหนึ่งครอบครองที่ดินส่วนใดย่อมถือว่าครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382เมื่อต่อมาได้มีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่เจ้าของรวมแต่ละคนเป็นสัดส่วนแล้ว ระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์จึงจะเริ่มนับตั้งแต่มีการแบ่งแยกกันนั้น

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นให้เรียกผู้ร้องว่าโจทก์ เรียกผู้คัดค้านว่าจำเลย โดยถือคำร้องเป็นฟ้อง คำคัดค้านเป็นคำให้การ โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายสม ไชยกันทา นายผัด ไชยกันทา นางบัวเขียวบุญยะกมล จำเลย และนายอินชุม สิทธิ เจ้าของรวมแต่ละคนได้ครอบครองส่วนของตนเป็นส่วนสัด ต่อมานายอินชุมถึงแก่กรรมโจทก์ทั้งสองได้เข้าครอบครองในฐานะผู้รับมรดกตลอดมา ขณะที่นายอินชุมมีชีวิตอยู่ได้ครอบครองที่ดินส่วนของตนและส่วนของจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2509 โดยสงบ เปิดเผยอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้ว ที่ดินของจำเลยเนื้อที่ 104 ตารางวา จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายอินชุม ขอให้ศาลไต่สวนและสั่งว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยให้การว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต โจทก์ทั้งสองได้เข้ารับมรดกจากนายอินชุม สิทธิก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาท นายอินชุมกับเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ก็ไม่เคยแบ่งแยกกันครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เดิมที่ดินโฉนดที่ 1581 มีชื่อนายปุก ไชยกันทา กับนางดี ไชยวุฒิ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยถือกรรมสิทธิ์รวม ยังมิได้แบ่งแยกกันครอบครองเป็นสัดส่วนและได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนผู้ถือกรรมสิทธิ์และโอนกันมาหลายทอดแต่มิได้มีการจดทะเบียนแบ่งแยกส่วนว่าใครได้เนื้อที่ตรงส่วนใดโจทก์ที่ 1 อ้างว่าได้ซื้อที่แปลงนี้เฉพาะส่วนของนายปุกจากนายปุกเมื่อ พ.ศ. 2507 โดยให้นายปุกล้อมรั้วให้แล้วได้ครอบครองต่อมา และได้ยกให้แก่นายอินชุม สิทธิ บุตรชายโจทก์ที่ 1เมื่อ พ.ศ. 2509 นายอินชุม ได้ครอบครองตลอดมาก็ไม่ปรากฏว่านางดี ไชยวุฒิ เจ้าของร่วมอีกคนหนึ่งยินยอมให้แบ่งเช่นนั้นหรือไม่ตามโฉนดก็เป็นการซื้อเพียง 1 ใน 3 ส่วนเฉพาะส่วนของนายปุกเท่านั้น ส่วนของนายปุกก็ยังเหลืออยู่ 2 ใน 3 ส่วน หรือมีอยู่2 ใน 6 ส่วนของทั้งแปลง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2521 จำเลยก็ได้ซื้อที่ดินส่วนของนางถาซึ่งมี 1 เศษ 1 ส่วน 2 ส่วนใน 6 ส่วนของทั้งแปลง ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยถูกต้อง แต่ก็ยังมิได้แบ่งกันเป็นสัดส่วนในระหว่างเจ้าของรวมแม้นายอินชุมจะปลูกบ้านอยู่ในที่หมายเลข 1 และครอบครองที่พิพาทด้วย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของอันจะเป็นการครอบครองอย่างปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382เพราะเป็นการครอบครองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่ง ยังไม่ได้มีการตกลงแบ่งแยกเป็นส่วนสัดกันระหว่างเจ้าของรวมแต่อย่างใดถือว่าครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย ต่อมา พ.ศ. 2519นายอินชุมตาย โจทก์ที่ 1 ได้ให้นายหลวง สิทธิ ดูแลแทน จนต่อมาพ.ศ. 2526 โจทก์ทั้งสองจึงได้จดทะเบียนโอนรับมรดกส่วนของนายอินชุมแม้โจทก์ทั้งสองจะได้ครอบครองในส่วนที่พิพาทด้วยก็ถือไม่ได้ว่าได้ครอบครองอย่างปรปักษ์ ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2527 จึงได้มีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินทั้งแปลงเป็นส่วนสัดจำนวน 4 แปลง โดยที่พิพาทอยู่ในที่ดินส่วน 2 งาน 13 ตารางวา ในโฉนดที่ 13544ของจำเลย หากโจทก์ทั้งสองเจตนาครอบครองที่พิพาทอย่างปรปักษ์จริงก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาที่ได้ครอบครองปรปักษ์ตั้งแต่ได้มีการแบ่งแยกกันเป็นสัดส่วน คือนับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2527 เป็นต้นมาซึ่งนับมาถึงวันที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้คือ วันที่ 23 มีนาคม2527 ยังไม่ถึง 10 ปี โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share